แพทย์แผนจีน,ยาจีน,ลดความดัน

สูตรต้านความดันโลหิตสูง แนะนำโดยแพทย์แผนจีน

สูตรต้านความดันโลหิตสูง ตามศาสตร์จีน

ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์ที่สืบทอด ส่งต่อภูมิปัญญามาเป็นระยะเวลานาน อาศัยสถิติการรักษาและถ่ายทอดวิธีที่ประสบผล จึงเป็นศาสตร์การแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับอีกแขนงหนึ่ง สำหรับ สูตรต้านความดันโลหิตสูง ตามหลักศาสตร์จีน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แพทย์แผนจีน,สูตรต้านความดันโลหิตสูง,ความดันโลหิตสูง

หยิน-หยาง เหตุแห่งความดันโลหิตสูง

แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ แพทย์แผนจีนจากชีวจิตโฮม คลินิกสุขภาพการแพทย์ทางเลือกตามวิถีชีวจิตอธิบายว่า

โดยปกติร่างกายของเรานั้น หยินกับหยางจะสมดุลกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น หยิน (ความเย็น) จะลดลงตามธรรมชาติ โดยหายไปครึ่งหนึ่ง พอหยินตก (หยินพร่อง) แต่หยางยังอยู่เท่าเดิม จึงดูราวกับว่าร่างกายมีหยางมากเกินกว่าหยิน

ส่วนหยาง คือความร้อน เป็นลม เป็นพลังงาน เมื่อไม่มีหยินควบคุม เพราะหยินพร่อง หยางก็จะลอยขึ้นมาที่ศีรษะพร้อมกับเลือด เลือดซึ่งมาคั่งที่ศีรษะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดแบบมึนตึบๆ แน่นๆ ซึ่งเป็นอาการของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูง ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน คุณหมอศรันยาอธิบายว่า ต้นเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบตับ (การเดินของเลือดลม/ความเครียด)และระบบม้าม (ระบบย่อยทั่วร่างกาย) ตามแบบแผนจีน

“ความเครียดที่สะสมจะทำให้ระบบตับ (การเดินของเลือดลม/ความเครียด) อ่อนแอ และเกิดเป็นความร้อนจนไปทำร้ายระบบม้าม (ระบบย่อยทั่วร่างกาย) จนประสิทธิภาพการทำงานลดลง และส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร

แพทย์แผนจีนเชื่อว่า จะทำให้มีความชื้นส่วนเกินและเกิดเสลดสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก

“เสลดและความชื้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นน้ำหนืดๆ ถ้าสะสมในร่างกายนานๆ จะข้นขึ้นและกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ จนก่อให้เกิดโรคเรื้อรังที่อวัยวะนั้น” คุณหมอศรันยากล่าว

จัดการกับตัวเองเมื่อความดันโลหิตสูง

กดจุดลดหยาง

ถ้าเริ่มมีอาการปวดศีรษะเพราะหยินพร่อง แพทย์แผนจีนบอกว่า ต้องเอาหยางลงโดยมีจุดที่แนะนำให้กดเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ดังนี้

  • จุดตรงหน้าผาก จุดนี้อยู่ตรงหน้าผาก ให้มองตรงไปข้างหน้า ตาดำอยู่ตรงไหนให้ใช้นิ้ววัดจากคิ้วขึ้นไป 1 ชุ่น (1 ข้อนิ้วโป้งของแต่ละคน) กดค้างไว้นาน 5 นาที ช่วยทำให้ความดันโลหิตลดลง
  • จุดที่เท้า จุดนี้อยู่ระหว่างเส้นเอ็นของนิ้วก้อยเท้าด้านนอก ระหว่างกระดูกที่ 5 เป็นจุดเล็กๆ เวลาความดันโลหิตขึ้นให้กดจุดนี้ค้างไว้นาน 5 นาที
  • จุดไท่หยาง ใช้นิ้วโป้งคลึงเบาๆ ตามเข็ม-ทวนเข็มนาฬิกาที่บริเวณขมับทั้งสองข้างพร้อมกัน 5 นาที
  • จุดฟงฉือ อยู่บริเวณไรผมหลังกกหู ให้ใช้นิ้วโป้งหมุนทวนเข็มนาฬิกา 10 ครั้ง และตามเข็มนาฬิกา 10 ครั้ง
  • จุดอิ้งถาง อยู่ระหว่างคิ้ว ให้ใช้นิ้วโป้งหมุนทวนเข็มนาฬิกา 10 ครั้ง และตามเข็มนาฬิกา 10 ครั้ง หรืออาจใช้ปลายนิ้วลูบคิ้วจากหัวคิ้วไปหางคิ้วแก้มึนศีรษะ และบีบนวดตรงไหปลาร้าสัก 5 นาที ก็ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้

กินเพิ่มหยิน

คุณหมอศรันยาบอกว่า?อาหารเพิ่มหยินหรือมีสรรพคุณเย็น เมื่อกินเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายรู้สึกเย็น ได้แก่ ฟักเขียว ถั่วงอก ผักกาดขาว แตงโม น้ำเก๊กฮวย

ไม่ควรกินอาหารสรรพคุณร้อน เช่น ขิง ขนุน ลำไย ทุเรียน และดื่มกาแฟ

การรู้จักเลือกกินอาหารเพิ่มหยินเพื่อความเย็นในร่างกายจึงช่วยไปควบคุมหยางให้สมดุลได้ในระยะยาว

นอนหลับ,ความดันโลหิตสูง

การพักผ่อน

คุณหมอศรันยาแนะนำให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนตั้งแต่หัวค่ำ ตื่นเช้า

“เหตุผลก็คือ การนอนเป็นการบำรุงหยินที่ดีที่สุด ดีกว่าการกินอาหารอีก ถ้านอนพอ หยินสมดุล ความดันโลหิตจะดี สังเกตบางคนถ้านอนไม่พอ ความดันโลหิตจะขึ้น เพราะหยินตก หยางก็เลยขึ้นมามากกว่าปกติ”

การออกกำลังกาย

ให้เลือกออกกำลังกายแบบช้าๆ เช่น ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ และควรออกกำลังกายโดยสูดหายใจเข้า-ออกลึกๆช้าๆ จะช่วยเพิ่มหยิน หรือการว่ายน้ำ เพราะน้ำช่วยระบายความร้อนได้

“ถ้าปฏิบัติตัวได้ดี ยาที่กินก็จะได้กินปริมาณน้อย ตับก็จะทำงานไม่หนัก ไตก็ทำงานไม่หนัก ถนอมเขาหน่อยจะได้อยู่กับเราไปอีกนาน” คุณหมอศรันยากล่าว

หากไม่ลำบากจนเกินไป ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะคะ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ต้านความดันโลหิตสูง แนะนำโดยแพทย์แผนไทย

ต้านความดันโลหิตสูง แนะนำโดยแพทย์ไทยประยุกต์

เช็กสัญญาณเตือน อาจเป็นความดันสูงหากมีอาการเหล่านี้ (พร้อมวิธีรับมือ)

ข้อดีของการดื่มไวน์แดง ดื่มเป็น ช่วยลดความดันโลหิตสูง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.