5 วิธีปรับธาตุ ป้องกันโรความดันโลหิตสูง สไตล์แพทย์แผนไทย

ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ด้วยวิธีปรับธาตุตามหลักแผนไทย

แพทย์ไทยประยุกต์ชารีฟ หลีอรัญ มาแนะนำวิธีการปรับธาตุตามหลักแพทย์แผนไทย ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง เพียง 5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้ทุกเพศทุกวัย ลองมาดูกันวันคุณหมอพูดถึงโรคความดันโลหิตสูงกับแพทย์แผนไทยอย่างไรบ้าง

ความดันโลหิตสูง, โรคความดันโลหิตสูง, ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง, ความดันโลหิตสูง, ความดันสูง
พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

โรคเรื้อรัง อดีตกับปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไร

สมัยก่อนปู่ย่าตายายของเราป่วยเป็น โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs  เช่น ความดันโลหิตสูง  อ้วน  เบาหวาน  กันน้อย ส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรค ระบาด  เช่น โรคอหิวาตกโรคหรือโรคห่า ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ  กาฬโรค  มากกว่า

มาถึงสมัยนี้ ระบบการแพทย์พัฒนามากขึ้น จึงสามารถรักษาโรคระบาดได้ทันท่วงที ทำให้อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคระบาดลดลงอย่างมหาศาล อีกทั้งเทคโนโลยีด้านการแพทย์ก็ล้ำหน้าไปไกล จึง ช่วยให้มนุษยชาติมีอายุยืนยาวขึ้น

แต่ในทางตรงข้ามกลับพบว่า คนในยุคปัจจุบันป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทั่วโลกเกือบ 8 ล้านคนมีอายุสั้นลง

สาเหตุน่าจะมาจากสภาพสังคมและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากอดีตมาก เช่น กินอาหารขยะเพื่อแลกกับความสะดวกรวดเร็ว เคลื่อนไหวและขยับตัวน้อย เกิดความเครียดจากการรับข้อมูลผ่านทางโลกออนไลน์ และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิต

ถ้าศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง จะพบบันทึกทั้งทางการแพทย์แผนจีนและการแพทย์อายุรเวทของอินเดียว่ามีการใช้วิธีจับชีพจร เพื่อประเมินระบบการไหลเวียนเลือด รวมถึงสามารถวิเคราะห์โรคและอาการเจ็บป่วยจากพลังและการเคลื่อนไหวของธาตุต่างๆในร่างกาย

สมัยก่อนโรคที่มีความใกล้เคียงกับความดันโลหิตสูงมากที่สุดคือ โรคชีพจรแข็ง (Hard Pulse) รักษาโดยการให้ปลิงช่วยดูดเลือดหรือเจาะเลือดออกจากร่างกายเพื่อรักษาระดับแรงดันเลือด

กระทั่งมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท (Mercury Sphygmomanometer) ที่ต้องใช้เครื่อง ฟังเสียงหัวใจ (Stethoscope) เป็นตัวช่วย เพื่อเช็กระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (เลขตัวบน) และคลายตัว (เลขตัวล่าง) โดยในคนปกติควรรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงระดับ 120/80 มิลลิเมตร-ปรอท ไม่ควรมากกว่า 140/90 มิลลิเมตร-ปรอท หากระดับความดันโลหิตทั้งตัวบน
และตัวล่างมีค่าสูงกว่านี้ แสดงว่าคุณกำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูง

วารสารสมาคมแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ควรรักษาระดับความดันโลหิตตัวบนให้มีค่าต่ำกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท เมื่อไปโรงพยาบาล เราจึงต้องได้รับการวัดระดับบีพี(BP) หรือความดันโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพที่ต้องประเมิน หรือตรวจก่อนพบแพทย์ นอกเหนือจากอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย

แพทย์แผนไทยกับ โรคความดันโลหิตสูง

สำหรับในบันทึกทางการแพทย์แผนไทย ไม่พบคำว่าโรคความดันโลหิตสูง แต่เชื่อว่า ความดันโลหิตสูงเกิดจากความไม่สมดุล ของธาตุทั้ง 4 คือความร้อนจากธาตุไฟ พัดพาธาตุลมและธาตุน้ำ (โลหิต) ส่งผล
ให้แรงดันเลือดผิดปกติ ถ้าหากปล่อยไว้นานเข้าจะกลายเป็นลมอัมพฤกษ์-อัมพาตที่ยากต่อการรักษาได้

โดยเฉพาะคนที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุลม-ธาตุไฟ คือ เกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน จำเป็นต้องระวังเรื่องอาหารการกินและพฤติกรรมให้มาก ควรกินอาหารรสเย็น รสสุขุม ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น แตงโม ฟัก ตำลึง เทียนดำ เครื่องเทศที่ไม่มีรสร้อน และสามารถกินยาลม ยาหอมได้

คนที่มีอายุย่างเข้าปัจฉิมวัยหรือมีอายุ 32 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ธาตุลมกำเริบ มักพบอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคลม โรคความดันโลหิตสูง แนะนำว่า ไม่ควรกินอาหาร รสเผ็ดร้อน อาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูงในมื้อเย็น เพราะจะทำให้ธาตุลมผิดปกติ ควรกินอาหารรสสุขุม

ผ่อนคลายความเครียด, ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง, ความดันโลหิตสูง, ลดความดัน, วิธีผ่อนคลายความเครียด
การรู้จักผ่อนคลายอารมณ์ความเครียด ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้

5 วิธี ปรับธาตุ ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

ในทางการแพทย์แผนไทยยังพบมูลเหตุการเกิดโรคความดันโลหิตสูงว่ามี 5 ข้อ ได้แก่

1. กินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ควรกินอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือพลังงานที่รับเข้าต้องน้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญได้

2. อยู่กับที่นานเกินไปโดยไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ฉะนั้น ควรขยับร่างกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายทุกวันอย่างต่ำวันละ 30 นาที หรือควรฝึกท่าฤาษีดัดตน

3. อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรืออากาศร้อนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ควรดื่มน้ำใบเตย น้ำฟัก น้ำยาอุทัยเย็นๆ (มาดูสูตรน้ำคั้นใบเตยหอมอร่อยๆ กดเลย)

4. ทำงานมากเกินกำลังของตัวเอง การได้อยู่นิ่ง ๆ หรือนั่งสมาธิจะช่วยให้สมองได้หยุดพัก

5. มีอารมณ์วิตกกังวลและความเครียดมากเกินไป ควรหาวิธีผ่อนคลายอารมณ์ เช่น การอบสมุนไพร หรือ สูดกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เช่น มินต์ ลาเวนเดอร์ อบเชย ก็จะช่วยให้เกิด ความรู้สึกผ่อนคลาย

อย่าลืมว่าทั้งหมดที่อธิบายมานี้คือ วิธีดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หากต้องการดูแลและรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย  ควรปรึกษาแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลก่อนจะดีกว่าไปหาซื้อสมุนไพรหรือยาต้มมากินเอง

เพราะยาหรือสมุนไพรบางชนิดนั้นมีข้อควรระวังและอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีสยบ ความดันเลือดสูง ด้วยตัวเอง

Update ความดันเลือด สูงแค่ไหนต้องรีบรักษา

4 โรคร้ายที่แฝงตัวมากับ โรคความดันโลหิตสูง

5 เคล็ดลับการกิน ลดความดันโลหิตสูง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.