ผู้สูงอายุ, โรคพาร์กินสัน, Parkinson, ผู้ป่วยพาร์กินสัน, พาร์กินสัน

เทคนิคยืน เดิน นั่ง เพื่อผู้ป่วย พาร์กินสัน

เทคนิคยืน เดิน นั่ง เพื่อผู้ป่วย พาร์กินสัน

พาร์กินสัน ร่างกายคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชรา ก็เป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บ จะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายๆ โรคที่เป็นกัน ได้แก่ “โรคพาร์กินสัน” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่จะส่งผลให้เกิดอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา โรคพาร์กินสันสำหรับผมเป็นอะไรที่สาหัส รักษาไม่หาย มีแต่ทรงกับทรุด ใครเป็นโรคนี้ก็มีแต่เซ็งมะก้องด้อง แต่ถ้าคุณมองว่ามันเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งที่ย่อมจะไม่สมบูรณ์ไปบ้าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ก็ถือเป็นการมองโลกในแง่บวกที่ดีไม่น้อยนะครับ

แต่กระนั้นจะมามัวนั่งมองโลกในแง่บวกอย่างเดียวคงไม่พอ มันต้องลุกขึ้นมาอัพแอนด์ดาวน์กันหน่อยเพราะอย่าลืมว่าการออกกำลังกายเป็นยาวิเศษที่ปราบมาแล้วสารพัดโรค

ผู้สูงอายุ, โรคพาร์กินสัน, Parkinson, ผู้ป่วยพาร์กินสัน, พาร์กินสัน
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน มักมีอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

ผมจึงมี หลักการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่นิยมใช้กันตามศูนย์กายภาพบำบัดดังๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาฝาก ซึ่งเขามีหลักว่านอกจากการฝึกกล้ามเนื้อแบบมาตรฐานทั่วไปแล้ว ควรเน้น การฝึก 16 ข้อต่อไปนี้ ซึ่งผมชอบและใช้ฝึกคนไข้ของผมเอง คือ

1. ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวัน วันละหลายชั่วโมง โรคพาร์-กินสันคือโรคแข็งทื่อ จำไว้ว่า น้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะไม่แข็งทื่อฉันนั้น

2. ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนแยกขาห่างกัน 10 นิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย

3. ฝึกการออกตัว (Initiation Movement) เชิดหน้าขึ้น เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น ให้โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า แล้วยกหัวแม่เท้าขึ้น จากนั้นโยกน้ำหนักไปที่ขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน

4. ฝึกทรงตัวบนขาข้างเดียว ยืนขาเดียวจับราว เคลื่อนไหวเท้าอีกข้างไปมาเดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น

5. ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางแมกกาซีนไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามแมกกาซีน เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์ไว้สองมือ เพื่อช่วยการแกว่งแขน มองไกลอย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน

6. ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา

7. ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวิร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆ สั้นๆ ไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพงเพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม

8. ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้า ๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจเดินผ่านมันไป แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.