โรคท้องร่วงหน้าร้อน, โรคท้องร่วง, ท้องเสีย, อาหารเป็นพิษ, รักษาโรคท้องร่วง

นานาวิธีรักษาและป้องกัน เพื่อรับมือ โรคท้องร่วงหน้าร้อน

ข้อห้ามเมื่อท้องร่วง

นายแพทย์โอภาสกล่าวถึงข้อห้ามเมื่อเกิดอาการท้องร่วง ดังนี้

1. ห้ามรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพราะบางทีท้องร่วงมีหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มียาฆ่าเชื้อ ดังนั้น การกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงไปก็ไม่หาสิ้นเปลืองเงินและอาจทำให้เชื้อดื้อยา

2. ห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย การถ่ายเป็นกลไกของร่างกาย ในการขับเชื้อโรคและของเสียออกจากร่างกายหากรับประทานยาหยุดถ่ายเข้าไปจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง จากเดิมที่ลำไส้เคยบิดตัวเพื่อไล่ของเสียออก ลำไส้ก็จะอยู่นิ่งๆ ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น

ล้างมือ, ป้องกันโรคท้องร่วง, โรคท้องร่วงหน้าร้อน, ท้องเสีย, ท้องร่วง
ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร ป้องกันโรคท้องร่วงได้

การป้องกัน

  1. ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี อธิบายว่า การล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการแพร่เชื้อท้องเสียระหว่างคนต่อคนได้ ควรล้างด้วยสบู่เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  2. ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำเกลือหรือน้ำผสมเบกกิ้งโซดา
  3. แยกอาหารที่เป็นวัตถุดิบกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เพราะบางครั้งเนื้อสัตว์หลายชนิดจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จึงควรแยกออกจากกัน (ถ้าจะให้ดีควรงดเนื้อสัตว์ไปเลยดีกว่าค่ะ) การเก็บในตู้เย็นก็ไม่ควรวางปนกัน อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ภาชนะที่ปิดสนิท
  4. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ที่สำคัญ การปรุงควรถูกต้องตามเกณฑ์ เช่น ถ้าจำเป็นต้องเก็บมารับประทานใหม่ควรทำให้ร้อนจึงจะปลอดภัย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าน้ำเดือดปุดๆ แสดงว่าอุณหภูมิถึง 100 องศาเซลเซียสแล้ว
  5. การเลือกวัตถุดิบที่ถูกสุขลักษณะควรเลือกผักผลไม้ที่สดและสะอาดเสียเวลาในการเลือกนานขึ้น แต่สบายใจเมื่อนำมารับประทาน
  6. ล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง เช่น เขียงกับมีด ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้งาน และควรใช้ช้อนกลางขณะที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  7. เก็บอาหารไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี คือ 5 – 60 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เชื้อโรคจะไม่เจริญเติบโตแต่ไม่ตายเพราะฉะนั้นอาหารที่เราเก็บไว้ในตู้เย็นควรอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง
  8. ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ต้องเดินทางนั่งรถนานๆ เพราะอาหารเหล่านั้นอาจบูดเน่าได้ง่าย
  9. ควรลวกหอยแครงอย่างน้อย 1 – 2 นาที การรับประทานหอยแครงให้อร่อยและปลอดภัย ควรนำไปลวกในน้ำเดือดตามเวลาดังกล่าว ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อโรคและคงรสชาติไว้ได้
  10. ควรต้มน้ำให้สุกทุกครั้งก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะน้ำดื่มตามตู้กดน้ำอาจไม่ได้มาตรฐานและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 252 (1 เมษายน 2552)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เตือนภัย! ท้องร่วง โรคที่มากับหน้าร้อน (พร้อมวิธีรับมือ)

6 วิธีรับมือ ท้องร่วงรุนแรง

รักษาอาการท้องเสียง่ายๆ ที่บ้าน พร้อมเช็กอาการเมื่อไรควรไปหาหมอ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.