วิตามิน, วิตามินซี, วิตามินดี, สังกะสี, โพรไบโอติก, วิตามินอี, เบต้าแคโรทีน

5 วิตามิน และแร่ธาตุ เยียวยาหวัดและภูมิแพ้

4. โพรไบโอติก

ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นโรคหวัดในอัตราที่ใกล้เคียงกัน วารสาร The British Journal of Nutrition พบว่านักศึกษาที่กินโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกหายหวัดเร็วกว่า และมีความรุนแรงของอาการหวัดมีน้อยกว่าถึง 34 เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและขาดเรียนน้อยลง

คุณเทรซี เจ. สมิธ (Tracey J. Smith) นักกำหนดอาหารจากมหาวิทยาลัยการแพทย์และทันตกรรมแห่งนิวเจอร์ซี (The University of Medicine and Dentistry of New Jersey) ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า อาการหวัด เช่น คัดจมูก เจ็บคอ คือการตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสโดยตรง โดยโพรไบโอติกมีบทบาทสำคัญช่วยลดการตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกาย ทำให้อาการต่าง ๆ ทุเลาลงอาการหวัดจึงหายเร็วขึ้น

แนะนำให้ผู้ที่มีความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอที่ป่วยเป็นหวัดเสริมโพรไบโอติกโดยเลือกโพรไบโอติกชนิด Lactobacillus rhamnosus GG (LGG) และ Bifidobacterium animalis lactis (BB 12) ซึ่งมีผลการศึกษาพิสูจน์แล้วว่า โพรไบโอติกทั้งสองชนิดสามารถบรรเทาอาการหวัดได้

พร้อมกันนี้คุณเทรซีแนะนำเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่มีโพรไบโอติกสองชนิดนี้เป็นส่วนประกอบ และพบในโยเกิร์ตบางยี่ห้อ แต่ทั้งนี้แนะนำให้อ่านฉลากที่ระบุส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีโพรไบโอติกชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดตามที่ต้องการ แต่ทั้งนี้โพรไบโอติกไม่ได้เหมาะกับทุกคน ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนตัดสินใจ

สำหรับปริมาณที่ควรกินเพื่อป้องกันโรค มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ศึกษาพบว่าการกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่มีโพรไบโอติกวันละ 1 ถ้วยครึ่ง (200 กรัม) สามารถลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

โยเกิร์ต, โพรไบโอติก, บรรเทาอาการหวัด, วิตามิน, อาหารที่มีโพรไบโอติก, กินวิตามิน
กินโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก ช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

ข้อควรระวัง

สำนักการแพทย์ทางเลือกกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมโพรไบโอติก ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดจากโรคประจำตัว หรือเกิดจากการกินยากดภูมิคุ้มกัน โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ เกิดการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเด็กทารกที่ระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์ และผู้ป่วยอาการหนักที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้โพรไบโอติกอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไวต่อสิ่งเร้าเกิดผลข้างเคียง เช่น มีไข้ มีอาการอักเสบรุนแรง เกิดการบาดเจ็บที่ตับ หัวใจ หลอดเลือด หรืออาการจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง ฉะนั้นหากไม่แน่ใจ

ควรศึกษาข้อมูลให้ดีและปรึกษาแพทย์ก่อนกิน

 

5. วิตามินอีและเบต้าแคโรทีน

งานวิจัยจากวารสาร The Central European Journal of Medicine พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีมีผลดีต่อผู้ป่วยโรคหืด เพียงกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) สูงเป็นประจำ อีกทั้งวารสาร Allergy and Clinical Immunology ยังพบว่า วิตามินอีและเบต้าแคโรทีนมีส่วนช่วยบรรเทาอาการหืดและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

นอกจากนี้ผลการศึกษาจากศูนย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรคหอบหืดและชีววิทยาปอด (The Center for Environmental Medicine, Asthma and Lung Biology) มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ชาเปลฮิลล์ (University of North Carolina at Chapel Hill) ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังพบว่า การเสริมวิตามินอีชนิดแกมมา-โทโคฟีรอล (Gamma-Tocopherol) วันละ 623 มิลลิกรัม นาน 1 – 2 สัปดาห์ สามารถช่วยลดและป้องกันการอักเสบทั้งในผู้ป่วยโรคหืดและผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง

 

อาหารที่มีวิตามินอี, เบต้าแคโรทีน, บรรเทาอาการหอบหืด, วิตามิน, กินวิตามิน
กินอาหารที่มีวิตามินอีและเบต้าแคโรทีน ช่วยบรรเทาอาการหืด

HOW TO EAT

เบต้าแคโรทีนพบมากในผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม และผักใบเขียว เช่น ฟักทอง แครอต มะละกอ แคนตาลูป มะเขือเทศ ผักโขม บรอกโคลี (Broccoli)

ส่วนวิตามินอีพบมากในน้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมัน ดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก เมล็ดทานตะวัน เฮเซลนัท (Hazelnut) ฟักทอง ผักโขม บรอกโคลี สาหร่าย อะโวคาโด (Avocado) แบล็กเบอร์รี่ (Blackberry) มะม่วง ปลาแซลมอน (Salmon) ปลาทูน่า (Tuna) เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ฉะนั้น ควรกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินอีสูงร่วมกับอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชที่อุดมไปด้วยไขมันดี

ข้อควรระวัง

เบต้าแคโรทีนส่วนใหญ่พบในผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม และแดงแต่หากกินมากเกินไปจะสะสมในไขมันรวมถึงไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีสีเหลือง แต่ไม่เป็นอันตราย เมื่อหยุดกินสีผิวจะกลับมาเป็นปกติภายใน10 วัน

ส่วนวิตามินอี หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น

เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การเสริมวิตามินอีในปริมาณสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 456 (1 ตุลาคม 2560)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

8 อาหารต้องห้าม เมื่อเป็นหวัด

10 สูตรต้านหวัด ช่วงปลายฝน

อดนอน ภูมิตกติดหวัดง่ายขึ้น

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.