ปวดหนักได้ใจเพราะไลฟ์สไตล์สุดโต่ง
คำถามคือ เพราะอะไรผู้ป่วยจึงมีอาการรุนแรงมากจนทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร คุณหมอธเนศอธิบายว่า
“อาการเจ็บปวดของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการรับรู้เฉพาะบุคคล บางคนมีแผลเล็กมาก แต่บอกว่าปวดจนทนไม่ไหว ขณะที่บางคนแผลใหญ่มาก แต่บอกว่ารู้สึกปวดเล็กน้อย และสิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมประจำวัน ถ้ายิ่งกินเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารไม่ตรงเวลา กินรสจัด และมีความเครียดโดยเฉพาะเครียดว่าตัวเองจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงมากกว่ากระเพาะอาหารแล้วด้วย แน่นอนว่าจะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นและเป็นวัฏจักรไม่มีวันจบสิ้น”
ถึงอย่างนั้นเทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง เช่น การส่องกล้องหรือกลืนแป้งแบเรียมซัลเฟตตรวจกระเพาะอาหารก็มีความจำเป็นในผู้ป่วยบางคน

คุณหมอธเนศอธิบายว่า
“เราจะส่องกล้อง หรือกลืนแป้งเพื่อตรวจกระเพาะอาหารให้ผู้ป่วย ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการต้องสงสัย ดังนี้
1. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
2. เบื่ออาหารเรื้อรัง
3. การขับถ่ายผิดปกติ อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน
4. อาเจียนเป็นเลือด
5. มีภาวะกลืนลำบาก ถ้ามีอาการเหล่านี้ หมอจะแนะนำให้ส่องกล้องหรือกลืนแป้งแล้วแต่กรณี
หากไม่อยากป่วยเป็นทั้งโรคกระเพาะอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหารจึงควรหาทางป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ คุณหมอธเนศแนะนำว่า
“เราควรเลิกพฤติกรรมก่อโรค เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่และกินอาหารให้ตรงเวลา ไม่เน้นรสจัด ส่วนเรื่องความเครียดเป็นเรื่องทำยากสักหน่อย แต่สามารถทำได้ โดยหนึ่งวันต้องจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน อาจจะสัก 30 นาทีหรือ1 ชั่วโมง โดยเลือกกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ออกกำลังกายดูหนัง ฟังเพลง สวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อให้ตัวเองได้ผ่อนคลายจริงๆ”
หลังจากอ่านบทความนี้จบ เย็นนี้หาเวลาผ่อนคลายความเครียด แล้วจะค้นพบว่าร่างกายและจิตใจแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปราการป้องกันทั้งมะเร็งและกระเพาะอาหารได้แน่นอนค่ะ
จาก คอลัมน์ Healthy Lifestyle นิตยสารชีวจิต ฉบับ 346 (1 มีนาคม 2556)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
กินอาหารสุขภาพ ปรับสมดุลกระเพาะอาหารและร่างกายโดยรวม
สูตรธรรมชาติเยียวยากระเพาะอาหารอักเสบ