ภูมิแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้ผิวหนัง, ผื่นแพ้, ภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคพบบ่อยเมื่อสภาพอากาศแย่

ภูมิแพ้ผิวหนัง จากสภาพอากาศ

โรค ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่มีชื่อ ทางการแพทย์ว่า Atopic Dermatitis เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก มักเป็นที่บริเวณข้อ-พับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ

บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น โดยข้ออ้างอิงข้อมูลจากบทความของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อาการกำเริบ จากปัจจัยภายนอกและภายใน

ผื่นแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกริยาทางภูมิแพ้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรคติดต่อหรือเกิดจากความสกปรก แต่เกิดมาจากร่างกายของผู้ป่วยมีภูมิที่ไวต่อการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นต่างๆ มากเกินไป

โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ผิวหนัง อาจจะมีอาการภูมิแพ้อื่นๆร่วมด้วย เช่น แพ้อากาศ เยื่อบุจมูกและเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ และหอบหืด เป็นต้น

ซึ่งภาวะการดำเนินของโรคที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ คือ มีช่วงที่ภาวะโรคกำเริบ คือเกิดผื่นผิวหนังเห่อแดงและมีอาการคัน สลับกับช่วงที่มีภาวะโรคสงบ

การเกิดโรคผื่นแพ้ผิวหนังยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเอง หรือจากบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ซึ่งมีภูมิที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นที่เห่อมากขึ้น

ภูมิแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้, ผื่นแพ้, โรคภูมิแพ้, โรคผิวหนัง
สารระคายเคืองบางชนิด อาจกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนัง

การกำเริบของผื่นที่เห่อลุกลามส่วนใหญ่จะมาจากการเกาของผู้ป่วย เนื่องจากผื่นที่เกิดขึ้นจะมีอาการเด่นคืออาการคัน เมื่อมีการเกาจะทำให้โรคเกิดการลุกลามและเห่อของผื่นมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่

  1. สภาพอากาศ ยกตัวอย่างเช่น อากาศร้อน อากาศเย็น การอาบน้ำร้อน และสภาพอากาศที่แห้ง ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเกิดการเห่อรุนแรงขึ้นได้
  2. อาหารบางชนิด ได้แก่ นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ซึ่งพบว่าอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางรายที่มีการแพ้อาหารดังกล่าว
  3. สารระคายเคือง และสารชำระล้างทำความสะอาด เช่น น้ำหอม สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
  4. เนื้อผ้าบางชนิดที่ระคายเคืองต่อผิว
  5. สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในอากาศ เช่น ตัวไรฝุ่น
  6. การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ผิวหนัง จากการเกาของผู้ป่วย
  7. การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด และความวิตกกังวล

อาการที่มักเกิดขึ้นของโรคผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ คือ ผู้ป่วยจะมีผิวที่ค่อนข้างแห้ง หรือแห้งมาก และมีอาการคันอย่างมากเป็นอาการเด่น

ลักษณะการอักเสบของผิวหนังอาจแบ่งได้เป็นหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ในระยะเฉียบพลันมักมีรอยโรคที่มีลักษณะเห่อแดงคัน อาจมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ หรือมีน้ำเหลืองเยิ้มซึมซึ่งมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย

ในระยะรองจากเฉียบพลันรอยโรคจะมีลักษณะเป็นขุยแห้งหรือมีสะเก็ด และระยะเรื้อรังซึ่งรอยโรคจะมีลักษณะเป็นปื้นนูน คัน มีขุย และมีการหนาตัวของผิวหนัง

อากาศร้อน, ภูมิแพ้ผิวหนัง, ผื่นแพ้, ภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้
อากาศร้อน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ

แล้วควรป้องกันอย่างไร

จากข้อมูลของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า

  1. การ “หลีกเลี่ยง” ปัจจัยซึ่ง “กระตุ้น” ทำให้ผื่นเห่อขึ้น ดังได้กล่าวแล้ว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในส่วนของอาหาร หากทราบว่าอาหารชนิดใด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคน) เป็นเหตุทำให้โรคกำเริบก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย
  2. ควรเลือกใช้ผ้าเนื้อโปร่งเช่นผ้าฝ้าย ไม่ควรใช้ผ้าขนสัตว์ หรือ หนานุ่ม เนื้อหยาบ การซักล้างผ้าและควรซักล้างผงซักฟอก หรือ น้ำยาปรับผ้านุ่มออกก่อน
  3. พยายามหลีกเลี่ยงอากาศ ร้อนจัด หนาวจัดเกินไป โดยเฉพาะนอนในห้องปรับอากาศซึ่งอุณหูมิเย็นจัด ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรือ อาบน้ำร้อนน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูง เพราะผิวที่แห้งอยู่แล้วจะยิ่งแห้งมากขึ้นอีก หรือการอยู่ในที่ร้อนอบอ้าว, การออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมากๆ
  4. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ระคาย ปราศจากน้ำหอม และอย่าฟอกสบู่บ่อยๆ ทำความสะอาดบ่อยๆ หรืออาบน้ำบ่อยๆ จนเกินไป สบู่ที่เคลือบผิวบางประเภทเมื่อล้างออกจะลื่นๆผิว ไม่ควรพยายามขัดหรือล้างให้ออกจนหมด
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ อัลกอฮอล์, ยาฆ่าเชื้อโรค, ยาแดง, ทิงเจอร์, ยาหม่อง, ด่างทับทิม ฯลฯ ใส่บริเวณผื่นหรือแผล โดยคิดว่าผื่นนั้นเป็นสิ่งสรกปรกหรือเชื้อโรค เพราะแทนที่จะดีขึ้นกลับทำให้มีการระคายเคืองมาก ทำให้ผื่นกำเริบหรือเห่อขึ้นได้
  6. การป้องกันความแห้งของผิว ใช้สารเคลือบผิว อาจเป็นโลชั่นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดผิวแพ้และปราศจากน้ำหอม, น้ำมันเคลือบผิว (ใช้ในเฉพาะกรณีผิวแห้งมาก) ควรทาโลชั่น ครีมบำรุงผิวชนิดไม่ก่อผิวแพ้ หรือ สารเคลือบผิวต่างๆ ภายในระยะเวลา 3- 5 นาทีหลังซับผิวหรือเช็ดตัวให้แห้ง โดยห้ามเช็ด ขัดหรือถูตัวแรงๆ
  7. ในกรณีทีมีอาการคันมาก แพทย์จะพิจารณาการให้ยาต้านภูมิแพ้ หรือยาแก้คัน บางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงได้
  8. การใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อทาผื่น มีการใช้ยาหลายชนิด เช่นการใช้ยาสเตียรอยด์ครีม ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ทำให้ผื่นยุบได้เร็วได้ผลดีมาก แต่อาจกลับเป็นซ้ำขึ้นได้เร็วเช่นกัน  การใช้ยาชนิดนี้ต้องมีความระวังมากโดยเฉพาะชนิดของยาที่ใช้ และตำแหน่งที่จะใช้ยาทา หากใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ ซึ่งบางครั้งรุนแรง จึงไม่ควรซื้อยาทาในกลุ่มนี้ใช้เอง โดยทั่วไปแพทย์ผิวหนังจะใช้ยากลุ่มนี้อย่างระวัง เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดโดยยังคงประสิทธิภาพมากที่สุด
  9. ยาทาที่เป็นครีมกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งใช้เพื่อควบคุมการกำเริบของผื่น เป็นยาซึ่งใช้เพื่อลดผลข้างเคียงของยากลุ่มเสตียรอยด์ ยากลุ่มนี้มีความปลอดภัยพอสมควร แต่มีราคาซึ่งแพงมาก แต่ข้อดีก็คือทำให้ลดการใช้ยาทาสเตียรอยด์ลง และเพิ่มระยะเวลาที่โรคสงบ ยาบางชนิดเวลาทาอาจจะรู้สึกร้อน หรือ ยิบๆ บริเวณที่ทายาได้
  10. ในบางครั้งจะเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังตามมาได้ เช่นมีหนอง มีคราบน้ำเหลือง โดยเฉพาะเกิดตามหลังการเกาอย่างมาก แพทย์อาจจะใช้การดูแลแผลโดยใช้การประคบเปียก โดยใช้ผ้าก๊อส ชุบน้ำยาชะแผลปลอดเชื้อ, น้ำเกลือสำหรับล้างแผล ซับหมาดๆ ประคบบนผื่น เป็นเวลา 10 – 15 นาที วันละ สมถึงสี่ครั้ง อาจจะใช้ยาทา หรือ ยากินปฏิชีวนะร่วมด้วย
  11. สุขอนามัยส่วนตัว ควรตัดเล็บให้สั้น อย่าให้มีเล็บแหลมคม เพราะอาจจะเกาจนเกิดแผล หรือ แผลติดเชื้อร่วมด้วยได้

เพียงเท่านี้ เราก็จะลดโอกาสการเกิดอาการแพ้ที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้แล้ว


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รักษา โรคภูมิแพ้ผิวหนัง น้ำเหลืองเสียด้วยอาหาร

โรคผิวหนัง 7 โรคที่ควรระวัง ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดู (หนาวสลับร้อน)

ทางแก้ของคนเป็น ภูมิแพ้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.