4 สุดยอดวิธีแก้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ให้ระบายง่ายถ่ายสะดวก

ถ่ายไม่ออก แก้อย่างไรให้ขับถ่ายง่าย สบายท้อง

เรื่องความผิดปกติในการขับถ่ายจัดเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตประจำวัน ถ่ายไม่ออก ท้องผูก ถ่ายไม่คล่อง รู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด พุงป่อง กวนตัวกวนใจไปหมด เราจึงนำ วิธีแก้ท้องผูก ง่ายๆ มาฝาก

ถ่ายไม่ออก, ท้องผูก, วิธีแก้ท้องผูก, ระบบขับถ่าย, ถ่ายไม่คล่อง
พฤติกรรมการกินที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดอาการถ่ายไม่ออก

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก้ท้องผูก

อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก ส่วนใหญ่มาจากการมีพฤติกรรมการกิน การขับถ่าย และการใช้ชีวิตประจำวันผิดๆ ลองปรับเปลี่ยน พฤติกรรมตามคำแนะนำต่อไปนี้ดูนะคะ

1. ดื่มน้ำ กินผักผลไม้ทั้งสดและแห้ง หรืออาหารที่มี กากใยมากๆ รวมทั้งข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ถั่ว ฟักทอง ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มเส้นใยช่วยการขับถ่ายได้

2. ไม่ควรเร่งรีบในขณะที่กินอาหาร ควรเคี้ยวอาหารให้ ละเอียด หรือกินมะละกอสุกก่อนอาหาร และดื่มน้ำตามมากๆ นักธรรมชาติบำบัดเชื่อว่า การกินอาหารจากธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีกว่า ซึ่งอาจทำได้โดยการกินรำข้าวเสริม โดยโรยลงไปบนอาหาร

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ เคลื่อนไหวดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้ระบบ ไหลเวียนโลหิตดี ระบบประสาทตื่นตัว ระบบกล้ามเนื้อแข็งแรงและจิตใจแจ่มใส

4. อย่ากลั้นอุจจาระ ควรเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่รู้สึกปวด หรือหลังจากที่กินอาหารเช้าที่เป็นธัญพืช โดยพยายามนั่งถ่ายอย่างผ่อนคลายประมาณ 10 นาที หรือฝึกนิสัยการขับถ่ายเป็นเวลาให้ตัวเอง

5. แก้ไขให้ถูกวิธี สำหรับทารก หากมีอาการท้องผูกอาจ เพิ่มน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชาในนม 1 ขวด จะช่วยให้ถ่าย บ่อยขึ้น แต่ถ้าให้น้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสีย ส่วนในผู้สูงอายุควรถ่ายอุจจาระเป็นเวลา ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ยาเพิ่มปริมาณอุจจาระ ยาระบาย ใช้ยาเหน็บ หรือสบู่เหน็บ จนกว่าการขับถ่ายจะเป็นปกติ

6. ถ้าท้องผูก จนต้องเบ่งและทำให้รู้สึกไม่สบาย อาจทำให้อุจจาระนุ่มลงโดยใช้ยาเหน็บกลีเซอรีน (ขนาดสำหรับเด็ก) หรือสบู่ชิ้นเล็กยาว 13 มิลลิเมตร สอดเข้าทางทวารหนัก แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

แก้ท้องผูกด้วยสมุนไพร

พืชผักสมุนไพรไทยใกล้ตัวก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของคุณค่ะ

มะขาม กินมะขามฝักแก่ หรือมะขามเปียก 10 – 20 ฝัก จิ้มเกลือ หรือคั้นเป็นน้ำดื่ม

ขี้เหล็ก นำแก่น 50 กรัม ราก ลำต้น ดอก ใบ และ ผลของขี้เหล็ก รวมทั้งหมด 20 – 25 กรัม ไปต้มเอาแต่น้ำ ดื่มก่อนอาหารหรือก่อนนอน

มะเฟือง ขณะท้องว่างประมาณ 1 ชั่วโมง กินมะเฟือง ที่มีรสเปรี้ยว 2 – 3 ลูก นอกจากจะเป็นยาระบายได้แล้ว มะเฟือง ยังช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

เมล็ดชุมเห็ดไทย นำเมล็ดชุมเห็ดไทยประมาณ 1 กำมือ มาคั่วให้เหลือง แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาดประมาณ 1 – 2 แก้ว จนเดือด นอกจากจะช่วยระบายท้องแล้ว เมล็ดชุมเห็ดไทยยังมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบายด้วยค่ะ

 

รำข้าว, ถ่ายสะดวก, ถ่ายไม่ออก, ท้องผูก, แก้ท้องผูก, สมุนไพรแก้ท้องผูก
เติมรำข้าวลงไปในอาหาร จะช่วยให้ถ่ายสะดวกมากยิ่งขึ้น

ดูแลตัวเองด้วยการแพทย์แผนไทย

ศาสตร์ทางด้านการแพทย์แผนไทยก็มีสูตรที่น่าสนใจให้ลองปฏิบัติเช่นกันค่ะ

1. รำข้าวสามารถดูดซับน้ำไว้ได้ถึงเก้าเท่าของน้ำหนักตัว มันเอง จึงช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดี การเติมรำข้าวลงไป ในอาหารจะช่วยให้ถ่ายสะดวก แต่ต้องดื่มน้ำตามให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ควรกินรำข้าววันละ 1 – 3 ช้อนโต๊ะ และดื่มน้ำตามเสมอ

2. สำหรับการรักษาในระยะยาว ไม่ควรพึ่งรำข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะรำข้าวมีส่วนประกอบบางอย่างที่ขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมเกลือแร่บางชนิด และยังทำให้ท้องมีลมมาก หรือท้องอืด แต่อาการนี้จะหายไปเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์

3. กินอาหารหมักดองต่างๆ เช่น ผักเสี้ยนดอง หน่อไม้ดอง หัวหอมดอง หรืออาหารหมักดองโบราณที่ใช้น้ำซาวข้าวใน การดอง

 

ดื่มน้ำ, แก้ท้องผูก, วิธีแก้ท้องผูก, ถ่ายไม่ออก, ระบบขับถ่าย
ดื่มน้ำร่วมกับกินอาหารที่มีกากใย ช่วยแก้อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก

ท่าแถม…ทำง่าย ถ่ายคล่อง

สำหรับชาวชีวจิตคงคุ้นเคยกับท่าแถมในการรำกระบองเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของต่อมลูกหมากในผู้ชาย รังไข่และมดลูกในผู้หญิงแล้ว ยังช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายได้อีกด้วย

เนื่องจากจุดประสาทบริเวณก้นกบจะบังคับระบบขับถ่าย การเคลื่อนไหวของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ ลองนำไปปฏิบัติติดต่อกันทุกวันดูนะคะ

1. ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย

2. นำกระบองไว้ด้านหลังลำตัวบริเวณบั้นเอว โดยใช้วงแขนสองข้างคล้องกระบองเอาไว้ ฝ่ามือประสานกันไว้ด้านหน้า หรือวางราบกับหน้าท้องก็ได้

3. เขย่งส้นเท้าขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

4. ลดตัวลงนั่งโดยยังคงเขย่งส้นเท้าอยู่ ตามองตรง ไม่ก้มหน้า ไหล่ตรงผึ่งผาย ลำตัวตั้งตรง แล้วขย่มตัวให้ก้นแตะ ส้นเท้า 3 ครั้ง จากนั้นยืนขึ้นโดยเขย่งส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา

5. เมื่อตัวตั้งตรงแล้วลดส้นเท้าลงสู่พื้น นับเป็นหนึ่งครั้ง

6. ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 3 – 5 ให้ครบ 30 – 50 ครั้ง

อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก ที่ควรไปพบแพทย์

1. เมื่อกิจวัตรการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอยู่นานกว่า 2 – 3 สัปดาห์

2. เมื่อมีอาการท้องผูกอย่างรุนแรงและรักษาเองไม่หาย หรือมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

3. เมื่อมีอุจจาระไหลเป็นน้ำออกมาหรือเป็นก้อนแข็ง อุดตัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

อาจารย์สุรพรรณ ศิริธรรมวานิช อาจารย์พิเศษและที่ปรึกษา ทางวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต 

หนังสือที่ปรึกษาครอบครัวสุขภาพดี

หนังสือบำบัดโรคด้วยการแพทย์ทางเลือก

หนังสือคู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพ ด้วยการแพทย์แผนไทย


© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.