เตรียมความพร้อม สู่สังคมผู้สูงวัย

คุณแน่ใจหรือไม่ว่า การที่คุณกินอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงพอแล้วที่จะทำให้อีก 10 ปีข้างหน้าคุณพร้อมที่จะเป็นผู้สูงวัยอย่างมีความสุขและสุขภาพดี ?

จริงๆ แล้วสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอย่างที่คิด แถมยังมีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อชีวิต พวกเราทุกคน การเตรียมความพร้อมแค่เรื่องสุขภาพด้านเดียวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับอนาคต แล้วเราจะต้อง เตรียมตัวอย่างไร?

นิทรรศการออนไลน์ การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัยที่จัดทำโดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. มีคำตอบดีๆ รอเราอยู่แล้ว โดยภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยเนื้อหา 2 ส่วน คือ โชคชะตาหรือจะสู้เรากำหนดนิทรรศการที่จะบอกเล่าถึงวิธีเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีความสุข และ ชราแลนด์นิทรรศการที่จะชวนเด็กๆมาทำความเข้าใจดูว่า ความชราทำให้ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดไหน เพื่อเข้าใจคนในครอบครัวของเราให้มากขึ้น และอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยอย่างมีความสุข

สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในประเทศไทยถึง 10 ล้านคนหรือคิดเป็น 16% ของ ประชากรทั้งหมด และในปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 20% ของประชากรไทยทั้งหมด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าทำไมเราถึงต้องรีบเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในส่วนนี้นิทรรศการ “โชคชะตาหรือจะสู้เรากำหนด” มีคำตอบ

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ก็เพื่อให้เราก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยที่พร้อมและมีความสุข โดยไม่นั่งปล่อยเวลาให้เสียเปล่า เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ที่เราสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันนี้ แล้วจะได้ไม่ต้องมานั่งคิดเสียใจทีหลังว่าสายเสียแล้ว

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับวัยที่เพิ่มมากขึ้น โรคบางโรคสามารถป้องกัน บรรเทา หรือรักษาได้ด้วยการกินอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่า “กินอาหารให้เป็นยา” การกินอาหารที่มีสารแอนติออกซิแดนท์สูง เช่น ผักหลากสี ผลไม้รสเปรี้ยว รสฝาดขม ช่วยชะลอกระบวนการเสื่อมของเซลล์ตามปกติได้ อย่าลืมเสริมด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ และหาโอกาสออกไปพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อลดความเครียด ซึ่งตัวการเร่งให้เกิดกระบวนการเสื่อมของเซลล์ เท่านี้ก็ช่วยยืดอายุให้อวัยวะต่างๆ ได้แล้ว

มาถึงขั้นตอนนี้เราคงอยากรู้แล้วว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพมากเพียงพอหรือยัง อันดับแรกที่ควรทำคือการประเมินตัวเองในด้านต่างๆ อย่างสุขภาพใจเป็นอย่างไร มีความเครียดสะสมอยู่มากเท่าไหร่ หรือจะลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองดูว่ามีภาวะหลงๆ ลืมๆ หรือย้ำคิดย้ำทำบ้างหรือเปล่า

สำหรับเส้นทางสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและความสุขหรือ “คัมภีร์ SOOK สูงวัย” นอกจากใส่ใจเรื่องอาหารการกินแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นยาอายุวัฒนะอย่างดี ลองเลือกการออกกำลังกายที่ชอบและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ระวังอย่าหักโหม เพียงเท่านี้การออกกำลังกายก็จะกลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุขและน่าเพลิดเพลินใจแล้ว ทั้งนี้ต้องไม่ลืมบริหารจิตใจ จิตจะสดใสไร้ความทุกข์ได้ด้วยการมองโลกในแง่ดี ใช้ชีวิตอย่างมีสติ และรู้จักยืดหยุ่นไม่ยึดติดกัน

ด้านการออม ต้องมีการวางแผนแต่เนิ่นๆ เริ่มออมตั้งแต่วันนี้เพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายมากพอในวัยเกษียณ ส่วนที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมก็ควรปรับให้มีความเหมาะสม เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย พักผ่อนได้อย่างเพียงพอ

การมีส่วนร่วมทางสังคม การปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลยจะทำให้ผู้สูงอายุว่างจนเกินไป ความจริงแล้วผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมนอกบ้านทำ เช่น พบปะเพื่อเก่า สร้างเพื่อนใหม่ หางานอดิเรกที่ชอบทำ ร่วมกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุคลายความเหงาและมีความสุขเป็นอย่างดี

เมื่อรู้ว่าต้องเตรียมตัวในด้านไหนบ้าง ไม่ว่าจะดูแลตัวเองด้วยอาหาร ออกกำลังกาย บริหารจิตใจ และรู้จักวางแผนการใช้จ่าย การมีส่วนร่วมทางสังคมด้วยการหางานอดิเรกที่ชอบ หรือทำกิจกรรมจิตอาสา ก็จะทำให้สุขภาพใจของเราแข็งแรงขึ้นด้วย

สุดท้ายแล้วก็อย่าลืมใช้แนวคิดในการสร้างสุขแบบผสมผสานหลักธรรมะ จิตวิทยา และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ในการดำเนินชีวิตกันด้วย เพื่อที่จะได้เข้าถึงการเสริมสร้างสุขใน 5 มิติ ตามนี้

สุขสบาย (Health) ร่างกายแข็งแรง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติด
สุขสง่า (Integrity) พึงพอใจในชีวิต ภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน
สุขสงบ (Peacefulness) รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ สร้างความสุขสงบกับตนเอง ปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
สุขสนุก (Recreation) อารมณ์ดี จิตใจสดชื่นแจ่มใส ไม่เครียด หัวเราะบ่อยๆ ยิ้มเยอะๆ
สุขสว่าง (Cognition) ความจำดี คิดอย่างมีเหตุผล สื่อสาร วางแผนและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมทำความเข้าใจผู้สูงวัยภายในครอบครัวไปกับนิทรรศการออนไลน์ชุด “ชราแลนด์” และ ไม่ว่าคนที่คุณรักจะเป็นแบบไหน เรามีเคล็ดลับในการสร้างชีวิตสูงวัยให้มีคุณภาพและเป็นสุข รอคุณอยู่ในนิทรรศการ “การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย” ติดตามนิทรรศการได้เลยที่ >> https://goo.gl/gyR3KT

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.