โรคข้อเข่าเสื่อม, ข้อเข่าเสื่อม, อาการข้อเข่าเสื่อม, รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม, สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อม

คู่มือดูแล โรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อคนทุกวัย

สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกันการศึกษามากมายพบปัจจัยเสี่ยงก่อโรค ดังเช่น

1. อายุ โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุ โดยทั่วไปมักพบในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบในผู้มีอายุน้อยที่เป็นนักกีฬา หรือผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่เอ็นรอบข้อก็อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้

2. เพศ พบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะกล้ามเนื้อและโครงสร้างของผู้หญิงไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีอาการรุนแรงกว่าในเพศชายด้วย

3. โรคอ้วน น้ำหนักที่มากขึ้นจะไปลงที่ข้อเข่า ดังนั้น ยิ่งน้ำหนักมากเท่าไร ยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นเท่านั้น และอาการจะรุนแรงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม การลดน้ำหนักจึงมีส่วนช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ด้วย

4. ประวัติสุขภาพของครอบครัว ถ้าพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่าเราจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม คือการมีโครงสร้างร่างกายที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคคล้ายกัน นอกจากนี้ การอยู่ในครอบครัวเดียวกันอาจต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหมือนกันก็ได้

5. ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า พบว่านักกีฬา เช่น นักฟุตบอลนักบาสเกตบอล หรือผู้ประสบอุบัติเหตุจนเอ็นฉีกขาด ต้องเข้ารับการผ่าตัดประสานเส้นเอ็น จะทำให้โครงสร้างในข้อเข่าเปลี่ยนแปลงไป จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ในอนาคต

6. เป็นโรคข้ออื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคเหล่านี้ทำให้เกิดการทำลายของข้อและกระดูกอ่อนซึ่งเป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม, ข้อเข่าเสื่อม, อาการข้อเข่าเสื่อม, สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อม, รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มักมีอาการปวด บวม ตึง และเข่าอ่อน

เช็กอาการโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคนี้มีอาการหลากหลายขึ้นอยู่กับระยะโรคและสุขภาพของแต่ละบุคคล

ในระยะแรกจะปรากฏอาการไม่ชัดเจน อาจแค่รู้สึกว่าเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เช่น เดินขัดๆ นั่งไหว้พระหรือนั่งพับเพียบแล้วลุกขึ้นไม่สะดวก หากทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาจะทำให้อาการปรากฏชัดเจนขึ้น ดังนี้

1. มีอาการปวด โดยเฉพาะเมื่อลงน้ำหนักที่ข้อเข่า เช่นเวลายืนหรือเดินนานๆ ยิ่งใช้ข้อมากเท่าไรก็ยิ่งมีอาการมากเท่านั้นแต่เมื่อพักการใช้ข้อเข่า อาการจะบรรเทาลง คนไข้จึงบอกว่าบางวันปวดน้อย บางวันปวดมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งานและท่าทางในชีวิตประจำวันนั่นเอง

นอกจากนี้ในตอนกลางคืนอาการปวดจะน้อยลง แต่จะมีอาการตึงข้อเข่าในช่วงตื่นนอนตอนเช้า หากมีอาการปวดมากในตอนกลางคืนต้องระวังเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเกาต์ โรคมะเร็งกระดูก

โรคข้อเข่าเสื่อมมีอาการปวดลึกๆ ในข้อเข่า หากปวดเป็นจุดๆ อาจเกิดจากการอักเสบเฉพาะที่ เช่น บริเวณเอ็นหัวเข่าหรือเยื่อหุ้มข้อ

2. ข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่งหรือขาเอียงเข้าหากัน ทำให้พิสัยการเคลื่อนที่ของข้อลดลง เช่นไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด มักพบอาการนี้ในระยะท้าย ๆ เมื่อมีการสูญเสียกระดูกอ่อนไปมากแล้ว

3. ข้อตึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานาน เช่น นั่งนานๆ หรือหลังตื่นนอน

4. ข้อเข่าบวม อาการบวมแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ บวมเนื้อนิ่ม เพราะมีน้ำจากการอักเสบซึมออกมา และบวมเนื้อแข็งเกิดจากมีกระดูกงอกอยู่ภายใน

5. มีอาการเข่าอ่อนหรือล้มไปเฉยๆ มักเกิดจากโครงสร้างข้อหลวมและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไม่แข็งแรง

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.