เจ็บหน้าอก, เสี่ยงโรคหัวใจ, โรคหัวใจ, อาการเสี่ยงโรคหัวใจ, หัวใจ

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

 

วิธีเช็กอาการ เสี่ยงโรคหัวใจ แบบเจาะลึกซึ่งจะช่วยให้คุณสังเกตอาการของตัวเองในเบื้องต้นได้ว่ากำลังเป็นโรคหัวใจอยู่หรือไม่

หนุ่มสาวออฟฟิศคนไหนที่แค่เดินขึ้นสะพานลอยก็เหนื่อยแล้ว หรือโมโหหิวก็มีอาการเจ็บหน้าอก ชีวจิต ขอเตือนว่า คุณอาจมีอาการ เสี่ยงของโรคหัวใจ แล้วละค่ะ แต่อย่าเพิ่งจิตตก กังวลเรื่องอกข้างซ้ายกันไปมากนัก

4 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์อายุรศาสตร์หัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สรุปว่า อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจผิดปกติมีไม่มากนัก ซึ่งคุณสามารถเช็กอาการเบื้องต้นจากร่างกายตนเองได้ ดังนี้

1 เหนื่อยง่าย

คุณหมอสุพจน์อธิบายว่า คำว่า “เหนื่อยง่าย” ในความหมายของแพทย์คือ มีอัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยจะหมายถึง อาการเหนื่อย เพลียหมดแรง มือเย็น เท้าเย็น มีอาการชา เวลาพูดก็รู้สึกเหนื่อย ซึ่งอาการเหนื่อยเหล่านี้มักไม่ใช่อาการจากโรคหัวใจ

อาการเหนื่อยง่ายที่เกิดจากโรคหัวใจจะสังเกตได้จากรู้สึกเหนื่อย หอบ หายใจเร็วและจะมีอาการมากขึ้นเมื่อออกแรง บางท่านอาจเหนื่อยมากจนไม่สามารถนอนราบได้ต้องนอนหนุนศีรษะให้สูงหรือนั่งหลับ รวมทั้งมีอาการไอไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม อาการเหนื่อยง่าย หอบที่เกิดจากการเดิน วิ่ง หรือทำงาน อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แม้แต่ความวิตกกังวลก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน

2  เจ็บหน้าอก

คุณหมอสุพจน์สรุปอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจไว้ว่า

  •  รู้สึกอึดอัด เจ็บแบบแน่นๆ กลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้ายหรือทั้งสองด้านก็ได้ บางรายจะร้าวไปที่แขนซ้ายหรือแขนทั้งสองข้าง มีอาการจุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
  •  อาการเจ็บจะเกิดขณะออกแรง เช่น เดินเร็วๆ วิ่งขึ้นบันได โกรธโดยอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดทำกิจกรรมนั้นๆ
  •  ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการเจ็บและแน่นหน้าอกขณะที่พัก เช่น นั่ง นอน หรือหลังกินอาหาร
  •  หากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีเหงื่อออก เป็นลม

นอกจากนี้อาการเจ็บหน้าอกยังเกิดจากการอักเสบของอวัยวะที่อยู่ในทรวงอกเช่น เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ซึ่งมีอาการดังนี้

  •  รู้สึกเจ็บแปลบจุดเดียวคล้ายถูกเข็มแทง และกดเจ็บบริเวณหน้าอก
  •  อาการเจ็บเกิดขึ้นขณะพัก และเจ็บต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
  •  มีอาการเจ็บมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือหายใจเข้าลึกๆ
  •  อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
เสี่ยงโรคหัวใจ, โรคหัวใจ, อาการเสี่ยงโรคหัวใจ, เจ็บหน้าอก, ใจสั่น
เจ็บหน้าอกขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

3  ใจสั่น

คุณหมอสุพจน์สรุปความหมายของคำว่า “ใจสั่น”ทางการแพทย์ว่าคือ การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอเต้น ๆ หยุด ๆ อาการดังกล่าวอาจพบได้ในคนปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคอื่น ๆที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษโรคปอด

แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียดถึงลักษณะของอาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่พบ ผู้ป่วยมักมาหาหมอเพราะคิดว่าตัวเองใจสั่น ทั้งที่หัวใจเต้นปกติ

คุณสามารถเช็กจังหวะการเต้นของหัวใจได้ โดยการจับชีพจรเพื่อนับจำนวนครั้งใน 1 นาที (ค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 72 ครั้งต่อนาที หรือไม่ควรเกิน 100 ครั้งต่อนาที) และสังเกตจังหวะการเต้นว่าสม่ำเสมอหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ

4  ขาบวม 

หนังสือ โรคของหัวใจและหลอดเลือด โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ กล่าวถึงอาการบวมน้ำในผู้ป่วยโรคหัวใจไว้ว่า

“อาการบวมน้ำ ได้แก่ การมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายก่อให้เกิดการบวมโดยไม่มีอาการของการอักเสบ (แดง ร้อน มีไข้) โดยมักเกิดในบริเวณเท้า ดวงตา ใบหน้า แขน ท้อง และบางครั้งในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาการบวมน้ำเป็นอาการที่พบได้บ่อยของโรคหัวใจล้มเหลว แต่พบได้บ่อยเช่นกันด้วยสาเหตุจากโรคต่างๆ”

คุณหมอสุพจน์อธิบายต่อว่า

“อาการขาบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากหัวใจด้านขวาทำงานน้อยลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลกลับเข้าไปที่หัวใจด้านขวาได้สะดวก จึงมีเลือดคั่งที่ขามากขึ้น และมีน้ำซึมออกมาได้ง่าย ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบเพื่อหาสาเหตุการเกิดโรค แล้วจึงจะสามารถทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง”

สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองขาบวมจากโรคหัวใจหรือไม่ คุณสามารถทดสอบโดยการใช้นิ้วกดลงที่หน้าแข้งหรือตาตุ่ม หากยกนิ้วขึ้นแล้วเนื้อยังคงบุ๋มอยู่นานเป็นนาที อาจหมายความว่าเกิดปัญหาเลือดไม่สามารถไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ เกิดการคั่งของเลือดและมีน้ำรั่วซึมออกมาในเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นอาการเสี่ยงของโรคหัวใจ

คุณหมอสุพจน์ยังย้ำว่า หากมีอาการเสี่ยงมากกว่า 1 ข้อ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะนอกจากมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้

ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้ฟิตเฟิร์มอยู่เสมอ ย่อมดีกว่าปล่อยให้หัวใจแสดงอาการผิดปกติแน่นอนค่ะ

จาก คอลัมน์อยู่เป็นลืมป่วย นิตยสารชีวจิต ฉบับ 398 (1 พฤษภาคม 2558)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

3 ตำรับยาไทย บำรุงหัวใจ

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคหัวใจ

7 Easy Tips ดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยศาสตร์จีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.