เลือด, กรุ๊ปเลือด, บริจาคเลือด, โรคเลือด

เลือด สายธารต่อชีวิต

ตรวจสอบความผิดปกติของเม็ดเลือด

หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า คนไทยเป็นโรคเกี่ยวกับเลือดค่อนข้างมาก ซึ่งโรคเลือดในทางการแพทย์นี้หมายถึงโรคระบบเลือด และสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ อาทิ

  • ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น เม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เกิดภาวะเลือดจางหรือซีด หรือโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายอย่างโรคทาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความรุนแรงของโรคหลายระดับ ส่วนเม็ดเลือดแดงสูง ทำให้เกิดภาวะเลือดข้น เลือดจึงไหลช้าและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น
  • ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อง่าย แต่ถ้าเม็ดเลือดขาวสูง อาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ หรือเป็นภาวะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมียได้
  • ความผิดปกติของเกล็ดเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ จะทำให้เลือดออกง่ายและมีปัญหาเลือดออกไม่หยุด อย่างโรคไข้เลือดออก โรคไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น แต่ตรงกันข้าม ถ้าเกล็ดเลือดสูงจะทำให้หลอดเลือดอุดตัน และรวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการแข็งตัวของเลือด อย่างโรคฮีโมฟิเลีย ที่ทำให้มีอาการเลือดออกง่ายและหยุดยาก

นอกจากนี้คุณหมอวิโรจน์ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเลือดที่เกิดขึ้นไว้ว่า ความผิดปกติของโรคทางเลือดยังแบ่งได้อีก 2 ชนิด ได้แก่ โรคที่เกิดขึ้นโดยถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ทาลัสซีเมียและฮีโมฟิเลีย ส่วนสองคือโรคที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถแบ่งได้เป็น การสร้างน้อย กับ ทำลายมาก

ถ้า สร้างน้อย เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื่องจากมีเซลล์มะเร็งเข้าไปอัดแน่นอยู่ในไขกระดูก ทำให้การสร้างเลือดไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ส่วน ทำลายมาก เช่น คนไข้ที่เป็นโรคตับแข็งจะมีม้ามโต ทำให้ถึงแม้เขาจะสร้างเลือดออกมามากเพียงใดก็ตาม แต่ม้ามซึ่งเป็นตัวทำลายจะทำลายทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดของคนคนนั้นไปหมดŽ

ถึงแม้จะรู้จักกับเลือดกันบ้างแล้ว แต่หลายคนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เราจะสูญเสียเลือดทางใดกันบ้าง และที่สำคัญ การเสียเลือดแต่ละครั้งนั้นส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบค่ะ

เราสูญเสียเลือดทางใดบ้าง

ถึงแม้เลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายของเรา แต่คนเราก็สามารถสูญเสียเลือดได้หลายทาง ทั้งนี้ไม่นับรวมการสูญเสียเลือดตามอายุขัยของเม็ดเลือดนั้นๆ ในภาวะปกติ เช่น เม็ดเลือดแดงมีอายุ 120 วัน เมื่อของเก่าบุบสลายไป ไขกระดูกก็จะมีการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาแทนที่

ส่วนการเสียเลือดทั่วๆ ไปนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับอุบัติเหตุ แท้งบุตร การผ่าตัด การคลอดบุตร การมีประจำเดือน รวมไปถึงการบริจาคเลือด

นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดข้อ อาจมีผลไปยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าและหยุดยาก รวมทั้งความเจ็บป่วยบางอย่างที่ทำให้เสียเลือด เช่น ริดสีดวงทวาร มีพยาธิปากขอในลำไส้ หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ที่ทำให้คนไข้รู้สึกเพลียหรือตัวซีด เป็นต้น

ในเมื่อเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดจากภาวะปกติ เช่น การมีรอบเดือนที่เสียเลือดครั้งละไม่เกิน 100 ซีซี ตลอดจนการเสียเลือดจากอุบัติเหตุและการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องเสียเลือดจำนวนมากๆ แต่การเสียเลือดมากเพียงใดจึงถือว่าเป็นอันตราย เรื่องนี้คงต้องขอคำแนะนำจากคุณหมอกันต่อค่ะ

 

บริจาคเลือด, เลือด, โรคเลือด, ตรวจเลือด
บริจาคเลือดทุก 3 เดือน สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้หลายชีวิต

เมื่อการสูญเสียเลือดหมายถึงชีวิต

คุณหมอวิโรจน์ช่วยอธิบายคลายความสงสัยเรื่องการสูญเสียเลือดกับสุขภาพเอาไว้ดังนี้

ตามหลักการแพทย์ ถ้าเราเสียเลือดไม่เกิน 1,000 ซีซี ในระยะแรก ร่างกายยังคงทนได้ แต่ต้องได้รับสารน้ำมาทดแทน เพื่อรักษาระดับน้ำในเส้นเลือด แต่ถ้าร่างกายเสียเลือดมากกว่านี้ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเลือดทั้งหมด อาจทำให้ตายได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุจนทำให้เส้นเลือดใหญ่ขาด ดังนั้นถ้าร่างกายสูญเสีย

เลือดมากเกินไปต้องได้รับการให้เลือดทดแทนโดยทันที เพื่อช่วยรักษาระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงให้สูงพอที่จะพาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย

หรืออย่างการบริจาคเลือดก็ถือเป็นการเสียเลือดส่วนหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตามเกณฑ์ยินยอมให้เสียเลือดได้ประมาณ 10 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าลองนึกดูว่าคนน้ำหนักตัว 60 – 70 กิโลกรัม เขาสามารถเสียเลือดได้ประมาณ 400 – 500 ซีซีสบายๆ นี่เป็นเกณฑ์ที่ยอมรับว่าเสียเลือดเท่านี้ ไม่กระทบต่อภาวะความดันโลหิตและไม่กระทบต่อกิจกรรมตามปกติของเขาŽ

เมื่อคนเรามีเหตุที่ต้องเสียเลือดหรือมีความผิดปกติของเลือดเกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดส่วนที่ขาดนั้นทดแทนให้เพียงพอ แต่ปัจจุบันเรายังไม่มีโรงงานผลิตเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคเลือด มิฉะนั้น ผู้ป่วยที่ขาดเลือดอาจเสียชีวิตได้

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.