ไวรัสเอชพีวี, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็ง, โรคมะเร็ง, มดลูก

คุณผู้หญิงต้องรู้จักและเข้าใจ ไวรัสเอชพีวี เพื่อป้องกัน มะเร็งปากมดลูก

อาการจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี

1. ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อแล้วมักไม่พบอาการใดๆ เลยค่ะ จึงไม่สามารถสังเกตได้ แต่สามารถตรวจพบไวรัสเอชพีวีโดยการป้ายเซลล์ที่ปากมดลูกไปตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัส หรือพบโดยบังเอิญจากการตรวจหามะเร็งปากมดลูก

2. เป็นหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หรือหูดชนิดอื่นๆ ตามร่างกาย

 

HPV, ไวรัสเอชพีวี, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็ง, โรคมะเร็ง, มดลูก
การติดเชื้อถือเป็นการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี มีดังนี้

1. ประวัติทางพันธุกรรม ปัจจุบันมีการค้นพบว่า เกือบทุกโรคเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หากพี่น้องและญาติสนิทเป็นมะเร็งปากมดลูก ตัวเราย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่คงอยู่ตลอดและกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบันเชื่อว่าการก่อมะเร็งของเชื้อไวรัสเอชพีวีสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีน HLA-B7 ดังนั้น คำแนะนำคือ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกโดยวิธีแป๊ปสเมียร์เป็นประจำทุก 3 ปีในช่วงอายุ 21 - 65 ปี และเมื่ออายุ 30 - 65 ปีควรตรวจทุก 5 ปี

2. ใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสวมถุงยางอนามัยสามารถป้องกันไวรัสเอชพีวีได้แม้ป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไวรัสอาจอยู่ในบริเวณที่ถุงยางสวมไม่ถึง เช่น รอบทวารหนัก แต่ก็ป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 ทั้งป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เช่น หนองในแท้หนองในเทียม ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ เริม เอดส์ ฯลฯ โดยการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิดที่มีความเสี่ยงสูง

3. มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุมากกว่า 18 ปี ปากมดลูกของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ยังมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตลอดเวลา ทำให้ไวต่อการรุกรานของไวรัสทุกชนิดและไวต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงสุดของการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีและการเกิดมะเร็งปากมดลูก

4. รักเดียวใจเดียว การมีเพศสัมพันธ์กับคนหลาย ๆ คนมีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสูง

5. ไม่มีลูกหลายคน งานวิจัยพบว่าการมีลูกมากกว่า 4 คนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนที่มีลูกน้อยกว่า 2 - 3 เท่า หากมี 7 คนขึ้นไปเสี่ยงสูงกว่า 4 เท่า

6. ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีและการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น

7. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีหรือหญิงที่มีอายุ 9 - 26 ปี ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีวางจำหน่ายอยู่สองยี่ห้อ ได้แก่ เซอร์วาริกซ์ และการ์ดาซิล โดยเซอร์วาริกซ์ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 การ์ดาซิลป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 และป้องกันหูดหงอนไก่มากกว่าร้อยละ 90  ทั้งสองยี่ห้อต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม

8. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อทราบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจติดตามตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 - 90 สามารถหายไปเองได้ภายใน 2 ปี เหลือประมาณร้อยละ 10 ที่เป็นการติดเชื้อชนิดแนบแน่น คงอยู่นานหลายปี ทำให้เซลล์ปากมดลูกกลายเป็นเซลล์มะเร็ง แต่การเป็นมะเร็งนั้นค่อย ๆ เป็นไปตามขั้นตอน คือ เริ่มมีเซลล์ผิดปกติน้อย ๆ ก่อน ต่อมามีเซลล์ผิดปกติเพิ่มมากขึ้น แล้วจึงกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ผิดปกติจนเป็นมะเร็งนั้นกินเวลา ประมาณ 10 - 20 ปี ดังนั้นการตรวจหาไวรัสเอชพีวีและตรวจติดตามตามแพทย์แนะนำเป็นวิธีหนึ่งซึ่งช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้

9. ลดความเครียด วารสารทางการแพทย์  Annals of Behavioral Medicine ตีพิมพ์ว่า ความเครียดที่เกิดอย่างต่อเนื่องทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อต้านการรุกรานของเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ด้วยภูมิต้านทานที่แข็งแรงของตนเอง แต่ความเครียดนั้นทำให้ภูมิต้านทานเปลี่ยนแปลงไปในทางลบจนทำให้ติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูก

ชาวชีวจิตไม่เครียดอยู่แล้ว อีกทั้งเลือกกินอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างสมดุล แบบนี้สู้ไวรัสตัวร้ายได้สบาย จริงไหมคะ

 

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ  นิตยสารชีวจิตฉบับ 393


บทความน่าสนใจอื่นๆ

วิธีการดูแลสุขภาพของผู้หญิงยุคใหม่กับ โรคภัยใกล้ตัว

วิธีป้องกัน 5 โรคร้าย สำหรับ สาวโสด ขี้เหงา

เทคนิคตรวจภายในสำหรับสาวโสด

รวมวิธีรับมือ 5 มะเร็งผู้หญิง อ่านจบ ทำตามได้จริง

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.