มหัศจรรย์กิน

มหัศจรรย์กิน สุขภาพแข็งแรง ด้วยแพทย์แผนจีน

มหัศจรรย์กิน สุขภาพแข็งแรง ด้วยแพทย์แผนจีน

 

มหัศจรรย์กิน ความรุ่มรวยวัฒนธรรม กินเพื่อสุขภาพของชาวจีนในสายตาคนทั่วโลก ได้รับการยกย่องให้เป็นเรื่องที่ชวนอัศจรรย์ใจ

เช่นเดียวกับในสายตาคนเอเชียด้วยกัน รวมถึงบ้านเราเอง ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมการกินอยู่แบบจีนแทรกซึมอยู่เกือบทุกหัวระแหง ยิ่งได้สัมผัสศาสตร์การดูแลตัวเองที่สั่งสมและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมานานนับพันปีแบบจีนด้วยตัวเองแล้ว ยิ่งได้เห็นความมหัศจรรย์

เพราะไม่ว่าหลักการใหญ่ๆ ในเรื่องสุขภาพ ตลอดจนรายละเอียดที่เป็นสิ่งละอันพันละน้อย ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สัมพันธ์กับปรัชญาการดำเนินชีวิตให้สมดุลในแบบของชาวตะวันออกอย่างเราๆ ทั้งสิ้น

เรื่องกินเรื่องใหญ่…จุดเริ่มต้นความแข็งแรง     


การกินตามหยิน – หยาง

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพตามศาสตร์จีน สิ่งแรกที่ทุกคนมักคิดถึงคือหลักของความสมดุลที่เรียกว่า หยิน – หยาง

แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปด้านฝังเข็มและยาสมุนไพรจีน จากชีวจิตโฮม?อธิบายการกินของคนจีนตามหลักหยิน – หยาง อย่างละเอียดว่า

“คนจีนเน้นเรื่องความสมดุลหยิน – หยาง กล่าวคือปกติคนเราต้องมีหยินและหยางเท่ากัน หากอย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยไปจะเกิดโรค ในการกินอาหารจึงต้องสังเกตว่าสภาพร่างกายของตัวเองร้อนหรือเย็น เช่น ถ้าตัวร้อนจะกินของเย็น คืออาหารที่เป็นหยิน แต่ถ้าร่างกายเย็นให้กินของร้อน คืออาหารที่เป็นหยาง เพื่อปรับสมดุล”

แพทย์หญิงสุลัคนา น้อยประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางฝังเข็มโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อธิบายเสริมเกี่ยวกับอาการที่พบบ่อยเมื่อหยิน – หยางไม่สมดุลว่า

หยินพร่อง หรือหยินน้อย คือสารที่เป็นน้ำในร่างกายน้อยทำให้มีอาการคล้ายคนขาดน้ำ คือ ร้อนใน ปากแห้ง คอแห้งโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ขี้หงุดหงิด ผิวแห้งเหี่ยว ฝ่ามือและฝ่าเท้าร้อน อาการคล้ายคนวัยทอง

การกินเยียวยาอาการหยินพร่อง แนะนำให้กินผักและผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น สาลี่ แครอท หัวไช้เท้า กินผักมากๆ งดของเผ็ด เพราะรสเผ็ดทำให้มีการขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้นทำให้ภายในร่างกายแห้ง

หยางพร่อง เกิดจากความอบอุ่นหรือไฟในร่างกายน้อยลง ข้างในจึงเย็น มีอาการฝ่ามือ – ฝ่าเท้าเย็นหนาวง่าย ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หน้าตาซีดเซียว ควรงดผลไม้ โดยเฉพาะในมื้อเย็น เนื่องจากเวลากลางคืน หยางจะลดลงตามธรรมชาติหากกินของเย็นในช่วงเย็นจึงเป็นการเข้าไปดึงหยางให้ลดลงไปอีก

การกินเยียวยาอาการหยางพร่อง แนะนำให้กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงานประเภทเนื้อสัตว์ รังนก ซุปต่างๆ แต่ถ้ากินแล้วรู้สึกร้อน ให้หยุดกิน และถ้าจะกินผลไม้ ให้กินในช่วงมื้อกลางวันมากกว่า

หยางเกิน เกิดจากหยางพุ่งขึ้นข้างบน ทำให้เลือดพุ่งขึ้นข้างบนทำให้มีอาการหน้าแดง ตาแดง โมโหง่าย ความดันโลหิตสูง

การกินเยียวยาอาการหยางเกิน ควรงดแอลกอฮอล์ กาแฟรวมทั้งยาบำรุงบางชนิดที่ให้ความร้อน เพราะจะยิ่งทำให้เลือดสูบฉีด และควรกินอาหารที่เป็นหยินซึ่งมีฤทธิ์เย็นเพิ่มขึ้น

คุณสุรีย์ (สงวนนามสกุล) หรือ คุณใหญ่ หญิงไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว วัย 60 ปี เป็นคนหนึ่งที่สุขภาพดีจากการกินอาหารตามหลักหยิน – หยาง วันนี้เธอจึงยังดูอ่อนกว่าวัย รูปร่างดี และแข็งแรงกระฉับกระเฉง แถมทุกวันนี้เธอยังทำงานวันละ 9 – 10 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน อย่างขันแข็ง

คุณใหญ่เล่าเคล็ดลับเกี่ยวกับการกินอาหารแบบหยิน – หยาง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากอาม่าอากงว่า

หยินหยาง

“เมื่ออากาศเย็นจะกินโสมที่มีฤทธิ์ร้อน แต่ต้องนำมาตุ๋นผสมกับรังนกซึ่งมีฤทธิ์เย็น ทำให้อาหารที่ได้มีฤทธิ์ไม่ร้อนจัด หรือกินโสมตุ๋นกับปักคี้ เพราะคนจีนเชื่อว่า ปักคี้เป็นตัวปรับสมดุลอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ร้อนเกินไป”

ในทางกลับกัน เมื่อร่างกายมีความร้อน หรือที่คนไทยเรียกว่าอาการร้อนใน คุณใหญ่จะกินอาหารฤทธิ์เย็น

“เมื่อร่างกายร้อน คนจีนมักให้กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น เห็ดหูหนูขาวตุ๋นน้ำตาลกรวด น้ำหล่อฮั้งก้วย หรือรังนกตุ๋นน้ำตาลกรวด อาจจิบชาเขียวด้วยก็ได้ เพราะชาเขียวมีฤทธิ์เย็น แต่ไม่เย็นจัด จะช่วยให้ร่างกายเย็นลงและกลับสู่สมดุลที่ดี”

อ่านหน้าที่ 2

 

การกินตามหลักปัญจธาตุ

นอกจากการกินตามหลักหยิน – หยางแล้ว ชาวจีนยังกินตามหลักของปัญจธาตุด้วย คุณหมอศรันยาอธิบายว่า

“การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า คนเราเกิดมามีลักษณะและรูปร่างตามธาตุทั้งห้า ซึ่งมีจุดเด่นและจุดอ่อนตามอวัยวะแตกต่างกันไป และคนแต่ละธาตุนั้นมักจะเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะตามธาตุนั้นๆ ทำให้ป่วยเป็นโรคแตกต่างกันออกไป จึงต้องกินอาหารบางประเภทเข้าไปปรับธาตุนั้นๆ ให้สมดุล ทำให้เรียกอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารประจำธาตุไปด้วย”

นอกจากนี้ยังแบ่งอาหารตามธาตุเป็น 5 รสชาติ เพื่อไปหล่อเลี้ยงและบำรุงอวัยวะตามธาตุนั้นๆ ได้แก่ รสเปรี้ยว – ตับ รสขม – หัวใจ รสหวาน – ม้าม รสเผ็ด – ปอด รสเค็ม – ไต

อาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ข้าวต่างๆ อบเชยโป๊ยกั้ก พริกเสฉวน พริก กะเพรา ต้นหอม ขิง ข่า ขมิ้นชัน ขนุน ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ปลาน้ำจืดหอยนางรม

อาหารฤทธิ์เย็น เช่น ถั่วงอก ฟักเขียวผักใบเขียว อาทิ คะน้า บรอกโคลี หัวไช้เท้า ผักกาดขาว สาลี่ แอ๊ปเปิ้ล แตงโม ชมพู่ สับปะรด ปลาทะเล กุ้ง ปลาหมึก หอยเป๋าฮื้อ

อาหารประจำธาตุดิน ได้แก่ อาหารที่มีสีเหลือง เช่นถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ลูกเดือย เม็ดบัว ฟักทอง ข้าวโพด แครอทเต้าหู้ ตลอดจนอาหารรสหวาน ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารลดอาการท้องอืด ถ่ายเป็นก้อนดีขึ้น รักษาพลังงานดีขึ้นด้วยเหมาะกับคนธาตุดินที่มีลักษณะกล้ามเนื้อใหญ่และแน่น แต่ระบบย่อยอาหารรวนง่าย เช่น มักมีอาการปวดท้องทันทีเมื่อกินผิดเวลา

อาหารประจำธาตุไฟ ได้แก่ อาหารที่มีสีแดง เช่น? ทับทิมเรดเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ เห็ดหลินจือแดง ตลอดจนอาหารรสขม เช่น สะเดา มะระ ตามหลักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่า ธาตุเหล็กทำให้อาหารเป็นสีแดงตามธรรมชาติ อาหารเหล่านี้ช่วยปรับธาตุไฟในร่างกาย ช่วยบำรุงเลือด รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงแก่หลอดเลือดอย่างตรงจุด

อาหารประจำธาตุน้ำ ได้แก่ อาหารที่มีสีดำ เช่น งาดำถั่วดำ เห็ดหลินจือ เห็ดหอม แบล็กเบอร์รี่ ตลอดจนอาหารรสเค็ม เช่น เกลือ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงไต (ตามศาสตร์แพทย์แผนจีนถือว่าไตเป็นรากฐานของชีวิต) ช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย ช่วยให้ไตขับน้ำมากขึ้น และช่วยให้คนธาตุน้ำที่ตัวบวมน้ำมีอาการดีขึ้น

อาหารประจำธาตุไม้ ได้แก่ อาหารที่มีสีเขียวเหลือง ตามสีของน้ำดีจากตับ ตลอดจนอาหารรสเปรี้ยว อาหารกลุ่มนี้ช่วยบำรุงตับ เส้นเอ็น และดวงตา เหมาะกับคนธาตุไม้ที่มักมีอาการเส้นเอ็นอักเสบบ่อยๆ และอักเสบเรื้อรัง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา

อาหารประจำธาตุโลหะ ได้แก่ อาหารที่มีสีขาว เช่นหัวไช้เท้า ผักกาดขาว ตลอดจนอาหารรสเผ็ด ควรกินอาหารกลุ่มนี้ช่วงฤดูหนาว เนื่องจากช่วยบำรุงปอด ช่วยให้ปอดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันหวัด

ฤดู

 กินตามฤดู

กาลเวลาที่เคลื่อนผ่านในแต่ละปีย่อมทำให้อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง การกินอาหารที่สอดคล้องกับสภาพอากาศตามฤดูกาลจึงช่วยให้อยู่ห่างไกลจากโรคได้

คุณหมอสุลัคนาอธิบายว่า การกินอาหารตามฤดูกาลในประเทศไทยแตกต่างจากจีนพอสมควร เนื่องจากฤดูกาลแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

ฤดูร้อน อากาศร้อนชื้น อบอ้าว ทำให้ภายในร่างกายร้อน รูขุมขนเปิดกว้าง เหงื่อออกง่าย เป็นร้อนใน ฝีอักเสบ เป็นต้นควรกินอาหารฤทธิ์เย็น เพื่อลดความร้อนและบำรุงน้ำในร่างกายโดยเฉพาะควรกินผักและผลไม้ที่มีน้ำในตัว

ฤดูฝน อากาศชื้นแฉะ ซึ่งเมื่อสิ่งแวดล้อมมีความชื้นมากทำให้สารเหลวภายในร่างกายข้น จึงส่งผลให้เกิดตุ่มต่างๆ ขึ้นตามร่างกาย เช่น ตุ่มใส ตุ่มเชื้อรา รวมถึงมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นหวัดเย็น จึงควรกินอาหารฤทธิ์ร้อนหรืออาหารที่มีรสเผ็ดร้อนเพื่อระบายความชื้นออกจากร่างกาย

ฤดูหนาว อากาศหนาวและแห้งเย็น ส่งผลให้ร่างกายมีความเย็น ผิวแห้งคัน ปากและคอแห้ง ควรกินอาหารฤทธิ์ร้อนเพราะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

แม้ฤดูกาลในเมืองไทยจะแตกต่างจากเมืองจีนมาก?ทว่าคนไทยเชื้อสายจีนหลายครอบครัวยังคงสืบทอดแนวทางการกินตามฤดูกาลกันมาหลายรุ่น

ตั้งแต่จำความได้ คุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม อายุ 56 ปี ได้ยินคำสอนสั่งของอาม่าอยู่เสมอว่า ต้องกินอาหารให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละฤดู ร่างกายจึงจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

“อาม่าของผมมักสังเกตว่าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างไร และคนในบ้านมีอาการป่วยไข้ผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมอาหารให้เหมาะกับคนกิน

“ช่วงฤดูร้อน ท่านมักให้ผมดื่มน้ำต้มสมุนไพรจีนรสเย็นแทนน้ำชา เช่น น้ำรากบัว น้ำเก๊กฮวย น้ำจับเลี้ยง ส่วนอาหาร มีมะระยืนพื้น ผมจะได้กินมะระต้มเป็นประจำ รวมถึงกินผักใบบาง เช่น ผักบุ้ง ตำลึง รองลงมาจึงเป็นอาหารทะเล โดยเฉพาะประเภทปลานึ่ง ทั้งปลากะพงนึ่ง ปลาจะละเม็ดนึ่ง

“หากวันไหนอากาศร้อนจนเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ ต้องไม่พลาดกินผลไม้เนื้อฉ่ำที่มีน้ำมาก อย่างสับปะรดหรือแตงโม

“เมื่อเข้าฤดูฝนที่อากาศเย็นๆ ชื้นๆ หากใครไอ จาม มีตุ่มหรือผื่นขึ้นตามตัว หรือเป็นร้อนใน อาม่าให้กินของอุ่นๆ หรือมีรสเผ็ดร้อน เช่น ปูผัดพริกไทยดำ เนื้อปลาผัดพริก ปลาจะละเม็ดนึ่งขิง น้ำต้มเก๋ากี้ หรือน้ำชะเอมต้มน้ำผึ้ง

“ถึงบ้านเราอากาศไม่หนาวเย็นเท่าเมืองจีน แต่อาม่าก็ให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกายของลูกหลาน ช่วงฤดูหนาวมากที่สุดเพราะพวกเรามักเป็นไข้หวัดและท้องเสียง่าย

“ท่านมักทำอาหารที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น (คล้ายอาหารในฤดูฝน) โดยเฉพาะประเภทตุ๋นและทอด เช่น เต้าหู้พะโล้ เต้าหู้ทอด ปลาสีกุนทอด ปลาใบขนุนทอด

“ผมยังชอบชงน้ำแป้งรากบัวดื่ม ซึ่งทำจากรากบัวบดเป็นผงแป้งดื่มแล้วรู้สึกอุ่นไปทั่วทั้งตัว จึงมักดื่มสลับกับน้ำเต้าหู้ในมื้อเช้า ส่วนของว่างหนีไม่พ้นเต้าฮวยน้ำขิงหรือบัวลอยน้ำขิงครับ”

อ่านต่อหน้าที่ 3

อาหารโป๊ กินกระตุ้นร่างกาย

“เจียะโป้ว” ในภาษาจีนแต้จิ๋วหมายถึง การกินอาหารและยาเพื่อบำรุงร่างกาย ทว่าคนไทยจำนวนมากพากันเข้าใจว่า เป็นการกินเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศเท่านั้น

คุณหมอศรันยาช่วยไขข้อสงสัยว่า “อาหารโป๊ คืออาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ทั้งในยามปกติและยามเจ็บป่วย เนื่องจากร่างกายของคนในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน จึงต้องบำรุงให้ถูกต้อง โดยกินบำรุงทีละเล็กน้อย แต่เป็นระยะเวลานาน”

สำหรับยามป่วยไข้ คุณหมอสุลัคนาอธิบายว่า

“คนที่ร่างกายอ่อนแออาจเกิดจากโรคต่างๆ การผ่าตัด หรือการใช้เคมีบำบัด เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรงใบหน้าซีดเซียว ขาดเลือด เบื่ออาหาร ดังนั้นจึงต้องกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อเสริมกำลังและเลือด สร้างความอบอุ่น และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงดังเดิม

“ทั้งนี้ หากกินอาหารโป๊ขณะร่างกายแข็งแรง จะช่วยบำรุงให้เลือดลมเดินดี จึงเป็นการเสริมสมรรถภาพทางเพศกลายๆ อย่างไรก็ตาม จะมุ่งเน้นกินเพื่อเป็นยาบำรุงมากกว่าช่วยเรื่องทางเพศ

“ในทางกลับกัน หากกินอาหารและยากลุ่มนี้มากเกินไป จะทำให้ร่างกายมีความร้อน ส่งผลให้เป็นร้อนใน ปากและคอแห้งกระหายน้ำ ท้องผูก กระวนกระวาย หงุดหงิด หรือความดันโลหิตสูงขึ้น จึงควรระมัดระวังการกินด้วย หากเป็นไปได้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนจีน”

สมุนไพรจีน

“เจียะโป้ว” ตามวัย

การกินบำรุงร่างกายแบบจีนสามารถแบ่งตามเพศและวัยได้ดังนี้ค่ะ

ผู้หญิง

อายุออกเป็นช่วงละ 7 ปีอายุ 1 – 7 ปี (7 ปีที่หนึ่ง) ควรกินอาหารบำรุงไต (อาหารสีดำ) เช่น งาดำ เห็ดหอม เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการมีประจำเดือน

อายุ 8 – 14 ปี (7 ปีที่สอง) เริ่มมีประจำเดือน ควรกินอาหารบำรุงเลือด (อาหารสีแดง) เช่น เก๋ากี้ เพื่อให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ

อายุ 15 – 21 ปี (7 ปีที่สาม) อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ กินอาหารบำรุงคล้ายช่วง 7 ปีที่สอง

อายุ 40 ปีขึ้นไป หยินภายในร่างกายจะลดลงครึ่งหนึ่ง มีอาการวัยทอง ควรกินอาหารรสขมเพื่อเพิ่มหยิน เช่น มะระ บอระเพ็ด

ผู้ชาย

กินอาหารคล้ายคลึงกันทุกช่วงวัย โดยเน้นกินอาหารเพื่อเสริมสร้างและบำรุงกล้ามเนื้อ เช่น อาหารธาตุดิน

เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป หยางภายในร่างกายจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายลดลง ดังนั้น เมื่ออายุ 40 ขึ้นไปจึงควรกินเพื่อเพิ่มหยางให้สมดุลแต่เนิ่นๆ เช่น เขากวางอ่อน โสมคน

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 297 (16 กุมภาพันธ์ 2554)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เรื่องน่ารู้ แพทย์แผนจีน

โจ๊กบำรุงไต อาหารเช้าเพื่อสุขภาพแบบแพทย์แผนจีน

โจ๊กใบบัวลูกเดือย อาหารคลายร้อนตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.