น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว กินอย่างไรให้ได้สุขภาพ

ต้องกินอย่างไร น้ำมันมะพร้าว ถึงจะดีต่อสุขภาพ

น้ำมันมะพร้าว ในฐานะอาหารเสริมสุขภาพยังอินเทรนด์อยู่ในกระแสเสมอ มีทั้งเสียงที่เทคะแนนให้และเสียงที่บอกว่าให้ยับยั้งชั่งใจกันก่อนกินเสียหน่อย

 

ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว ดีต่อช่องปาก

กรดลอริก (lauric acid) ในน้ำมันมะพร้าวช่วยขจัดคราบพลัคและเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยให้ปากสะอาด

วิธีใช้

อมบ้วนปากครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 1 ครั้ง

ข้อควรระวัง

ควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

ปาก

ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว ดีต่อลำไส้

กรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะไปเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียดีในลำไส้ มีผลช่วยเรื่องการขับถ่ายให้ดีขึ้น

วิธีใช้

กินในปริมาณที่เหมาะสม ปริมาณบริโภคเมื่อรวมกับน้ำมันและไขมันในอาหารชนิดอื่นๆ แล้ว ไม่เกินวันละ 3 - 4 ช้อนโต๊ะ (ตามคำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีว่า ร่างกายควรได้รับน้ำมันและไขมันจากอาหารต่างๆ ไม่เกินวันละ 60 กรัม) ตัวอย่างเช่น หากในหนึ่งวันได้รับน้ำมันและไขมันจากอาหารชนิดต่างๆ 2 ช้อนโต๊ะจะสามารถบริโภคน้ำมันมะพร้าวได้อีก 2 ช้อนโต๊ะ

ข้อควรระวัง

ควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

สองประการที่กล่าวมาเป็นประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวที่ ดร.เอกราช เกตวัลห์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีข้อชวนคิดเรื่องน้ำมันมะพร้าวที่กำลังอยู่ในกระแสสุขภาพ ซึ่งหลายคนยังตั้งคำถาม

 

อ่านต่อหน้าที่ 2

น้ำมันมะพร้าว VS ระบบย่อยและเผาผลาญอาหาร

 

กระเพาะ

หลายปีที่ผ่านมานี้ น้ำมันมะพร้าวถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาจุดประกายความหวังของสาวตุ้ยนุ้ย เพราะเชื่อกันว่าช่วยเรื่องการย่อยอาหารและกระตุ้นการเผาผลาญ จึงช่วยลดความอ้วนได้

แต่ด้วยการเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ในบรรดาน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงที่ทำให้เป็นโรคอ้วน สาวน้อยสาวใหญ่จึงยังลังเลสงสัย

ดร.เอกราช เกตวัลห์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า

“ตัวน้ำมันมะพร้าวเองนั้นเป็นไขมันมีกรดไขมันสายปานกลางจึงย่อยได้ง่าย ซึ่งอาจย่อยได้ที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ และดูดซึมที่ลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังมีข้อดีที่เผาผลาญเป็นพลังงานได้เร็ว จึงเกิดการสะสมของกรดไขมันได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีโมเลกุลสายยาว”

นั่นหมายความว่า ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม โดยเมื่อรวมกับน้ำมันและไขมันในอาหารชนิดอื่นๆ ต้องไม่เกินวันละ 3 - 4 ช้อนโต๊ะเท่านั้น

ส่วนการที่น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลาง สามารถช่วยในการเผาผลาญพลังงาน อาจารย์เอกราชให้ข้อมูลว่า

“ดังที่กล่าวแล้วว่า ตัวของน้ำมันมะพร้าวเผาผลาญตัวเองได้ดีแต่มีผลต่อการกระตุ้นการเผาผลาญสารอาหารอื่นๆ น้อยมาก

 

อ่านต่อหน้าที่ 3

น้ำมันมะพร้าว VS ระบบภูมิคุ้มกัน

น้ำมันมะพร้าวช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทำงานดีขึ้นได้จริงหรือไม่ หลังจากมีข้อมูลว่าร่างกายของคนเราสามารถเปลี่ยนกรดลอริก (สารตัวหนึ่งในน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำนมแม่) ให้เป็นสารโมโนลอริก ซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะตามธรรมชาติ

อาจารย์เอกราช บอกว่า

“ในภาพรวม กรดลอริกมีผลดีต่อสุขภาพ ร่างกายคนเราสามารถเปลี่ยนกรดลอริกเป็นสารโมโนลอริกได้ แต่ไม่ใช่สารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ และถ้ากินในปริมาณน้อยก็ไม่ได้มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เพราะการที่ระบบภูมิคุ้มกันจะดีต้องดูแลแบบองค์รวม กินอาหารการกินที่ถูกต้อง และมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สมดุล

“ส่วนคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค พบว่า กรดลอริกช่วยฆ่าเชื้อในร่างกายได้ มีการศึกษายืนยันว่า ช่วยลดจำนวนเชื้อโรคจำพวกพาราไซต์หรือพยาธิได้ ส่วนการฆ่าเชื้อโรคอื่นๆ ยังไม่มีผลชัดเจน สำหรับการใช้ภายนอกร่างกาย จะเป็นประโยชน์สำหรับการใช้ฆ่าเชื้อโรคผิวหนังบางชนิด เช่น กลาก เกลื้อน

“อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยชำระคราบพลัคในช่องปาก และฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้คือนำมาอมบ้วนปากได้ทุกวันอย่างปลอดภัย

น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว VS แอนติออกซิแดนต์

ดร.เอกราช อธิบายให้ฟังกันชัดๆ ว่า

“สารแอนติออกซิแดนต์มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ช่วยให้ร่างกายต่อสู้ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ลดการเสื่อม การบาดเจ็บในอวัยวะต่างๆ ได้ ทั้งในหลอดเลือดและทุกอวัยวะของร่างกายสารแอนติออกซิแดนต์มีสองอย่างด้วยกัน

“หนึ่งมาจากเอนไซม์ในร่างกายของเราที่ทำหน้าที่เป็นแอนติออกซิแดนต์ (enzymatic antioxidant) สองคือสารแอนติออกซิแดนต์ที่ได้รับจากอาหารที่เรากินเข้าไป เช่น วิตามินอี วิตามินซี อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ได้อยู่ท่ามกลางมลพิษมากๆ การกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายก็เพียงพอต่อการมีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม

ในน้ำมันมะพร้าวมีสารแอนติออกซิแดนต์อยู่จริง คือ วิตามินอีประเภทโทโคไทรอีนอล (Tocotrienol) เป็นแอนติออกซิแดนต์ที่ดีตัวหนึ่ง แต่เพื่อสุขภาพที่ดี เรากินน้ำมันในแต่ละวันได้ในปริมาณน้อยอยู่แล้ว

“จากคำแนะนำที่ให้บริโภคไขมันและน้ำมันจากอาหารชนิดต่างๆ รวมแล้วไม่ควรเกินวันละ 60 กรัม หรือประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ ดังนั้นหากคิดเป็นน้ำมันอย่างเดียว อาจบริโภคได้วันละประมาณ 30 - 45 กรัม หรือ 2 - 3 ช้อนโต๊ะเท่านั้น ในปริมาณเพียงเท่านี้ สารแอนติออกซิแดนต์ในน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อร่างกายไม่มาก หากจะกินน้ำมันมะพร้าวจึงต้องระวังไม่ให้ร่างกายได้รับไขมันรวมในแต่ละวันมากเกินไป

 

อ่านต่อหน้าที่ 4

น้ำหนัก

น้ำมันมะพร้าว VS ไขมันในร่างกาย 

ส่วนเหตุผลเรื่องการกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อให้ไขมันดีไล่ไขมันร้าย

เภสัชกรหญิงธนิกา ปฐมชัยวัฒน์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เมื่อศึกษาดูผลการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดหลังจากทดลองมาเป็นเวลา 12 สัปดาห์พบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ระดับไขมันตัวร้าย (LDL)        >>>     ไม่เปลี่ยนแปลง

ระดับไขมันตัวดี (HDL)           >>>     เพิ่มขึ้น 7.3 เปอร์เซ็นต์

ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า แม้ระดับไขมันตัวดีจะเพิ่มขึ้น แต่ระดับไขมันตัวร้ายไม่ได้ลดลง

อาจารย์เอกราชแนะนำวิธีการที่ช่วยให้ไขมันตัวดีไล่ไขมันตัวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า

“ไขมันตัวดีจะช่วยลดไขมันตัวร้ายได้ในกรณีที่เรากินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลวันละไม่เกิน 300 มิลลิกรัม โดยกินไขมันวันละไม่เกิน 60 กรัม และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำได้อย่างนี้จะช่วยให้ระดับไขมันตัวดีเพิ่มขึ้น และสามารถไปจับไขมันตัวร้ายแล้วนำไปทำลายที่ตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 322 (1 มีนาคม 2555)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ผิว ผมสวย ด้วยน้ำมันมะพร้าว

สารพัดประโยชน์ “แก้เมื่อย” ด้วยน้ำมันมะพร้าว

ป้องกันรองเท้ากัดด้วยน้ำมันมะพร้าว

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.