ออกกำลังกายกับการดูแลสุขภาพข้อเข่า

รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

ปัจจุบันหนุ่มสาววัยทำงานให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพกับการออกกำลังกายเป็นอย่างมาก ทั้งการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ชกมวย ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค โยคะ พีลาทิส รวมถึงเรื่องอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารคลีนหรือน้ำผลไม้สารพัดชนิด การออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมช่วยให้สุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง สดชื่นแจ่มใส อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การออกกำลังกายที่ดีต้องมีความสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อร่างกาย

เพื่อช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย ขั้นตอนของการออกกำลังกาย แบ่งเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ ช่วงอบอุ่นร่างกาย ใช้เวลา 5-10 นาที ด้วยการบริหารกายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วงออกกำลังกาย ใช้เวลา 10-40 นาที เป็นการออกกำลังกาย เพื่อสร้างความอดทน ของระบบไหลเวียนโลหิตหัวใจ หรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ ช่วงผ่อนคลายร่างกาย ใช้เวลา 5-10 นาที โดยการบริหารกายและยืดเหยียดก่อนเสร็จ

การออกกำลังกายที่ดีและเหมาะกับคนวัยทำงานนั้นได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็น การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20-30 นาที เพื่อให้หัวใจบีบตัวเร็วกว่าปกติ 60-70% เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิค เต้นลีลาศ เป็นต้น การที่จะเลือกประเภทหรือชนิดของการออกกำลังกาย ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความชอบ ความง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงข้อจำกัดด้านสุขภาพของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายที่มีการกระแทกน้ำหนักอย่างรุนแรง แต่เน้นในเรื่องความยืดหยุ่นและการทรงตัวให้ออกกำลัง การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า ป้องกันข้อติด ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น เช่น โยคะ การรำมวยจีน ชี่กง ไท้เก็ก เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการกระแทกและการบาดเจ็บกับข้อเข่าหรือกล้ามเนื้อต่างๆ

โรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยคุมอาการได้ถ้าได้รับการดูแลรักษาถูกวิธีโดยมุ่งลดอาการปวด เพื่อช่วยให้สามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด มีแนวทางการรักษาหลัก 2 วิธี คือ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด สำหรับการรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด เช่น การใช้ยา ออกกำลังกาย ประคบร้อนเย็น การลดน้ำหนัก เป็นต้น ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ได้แก่ ยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ แต่การใช้ยาดังกล่าวอาจพบอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง

พบว่าในผู้หญิงพบโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย สาเหตุมักมาจาก อายุที่เพิ่มมากขึ้นและใช้ข้อเข่ามาเป็นเวลานาน การใช้ข้อเข่าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ภาวะอ้วนและน้ำหนักตัวที่มากขึ้นทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับโดยเฉพาะเวลาเดิน ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุหรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ข้อเข่ามาก่อน มีโรคไขข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม สำหรับอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวด ผู้ป่วยมักปวดมากขึ้นเวลาใช้งาน นอกจากนี้อาจมีอาการข้อยึดและติด ถ้าเป็นมาก การเหยียดงอเข่าจะลดลงทำให้เคลื่อนไหวลำบาก

ปัจจุบันมีการนำผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติมาเสริมการดูแลรักษาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก มีงานวิจัยพบว่า คอลลาเจนไทพ์ทู (UC-II) ซึ่งเป็นคอลลาเจนธรรมชาติที่ไม่มีการดัดแปลงโครงสร้างใดๆ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดี สามารถลดอาการอักเสบ ลดอาการปวดของข้อเข่า เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเดินได้ดีขึ้น ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ และยังให้ผลดีในผู้ที่ออกกำลังกายด้วย นอกจากนี้สารคอลลาเจนไทพ์ทู (UC-II) ยังมีประสิทธิภาพลดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีกว่าสารสกัดสูตรผสมของ กลูโคซามีน (glucosamine) และ สารคอนดรอยติน (chondroitin) โดยมีความปลอดภัยสูงและไม่พบผลข้างเคียง นอกจากนี้สารคอลลาเจนไทพ์ทู (UC-II) ยังสามารถยับยั้งการทำลายเซลล์กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อ โดยยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Regulatory T lymphocyte และควบคุมระดับของสาร interleukin-10 และ TGF-β ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบได้ดี จึงช่วยลดการปวด อักเสบในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบได้

สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการปวดข้อเข่าจึงควรดูแลเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับสุขภาพข้อเข่าของเราตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่เราจะได้เดินได้ดีและมีสุขภาพดีไปได้อีกนาน

 

อ้างอิง

  • Crowley DC, et al. Safety and efficacy of undenatured type II collagen in the treatment of osteoarthritis of the knee: a clinical trial. Int J Med Sci. 2009 Oct 9; 6(6): 312-21.
  • Lugo JP, Saiyed ZM, Lane NE. Efficacy and tolerability of an undenatured type II collagen supplement in modulating knee osteoarthritis symptoms: a multicenter randomized, double-blind, placebo-controlled study. Nutr J. 2016 Jan 29; 15:14.
  • Lugo JP, et al. Undenatured type II collagen (UC-II®) for joint support: a randomized, double-blind, placebo-controlled study in healthy volunteers. J Int Soc Sports Nutr. 2013 Oct 24; 10(1): 48.
  • Weiner HL, da Cunha  AP, Quintana F, Wu H. Oral tolerance. Immunol Rev. 2011 May; 241(1): 241-59.

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.