หน่วยทันตกรรมพระราชทาน

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ฯ

 

ณ ปัจจุบัน คือ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพสกนิกร และสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาด้านทันตกรรม

“…ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มากขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐจะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันข้าราชการพลเรือนวันที่ 1 เมษายน 2533

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2513 สมัยที่ทั้งประเทศยังมีทันตแพทย์เพียง 2,600 คน และในต่างจังหวัดจะมีทันตแพทย์เฉพาะในโรงพยาบาลประจำจังหวัดบางแห่งเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ต้องทนทรมานจากอาการปวดฟันโดยไม่มีทันตแพทย์คอยดูแลจึงตรัสกับ ศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ ว่า

“ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกลหมอ” และได้พระราชทานคำแนะนำว่า

“การจะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟันหยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง”

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งออกให้บริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน

รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงวาสนา พัฒนพีระเดชเล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดสร้างรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่หนึ่งคัน เพื่อใช้เป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ และพระองค์ก็ทรงเจิมรถทันตกรรมพระราชทานคันแรกเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2513 ณพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์”

ภายในมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ยูนิตทำฟันเครื่องเอกซเรย์ เครื่องปรับอากาศ ถังบรรจุน้ำ โดยรถจะวิ่งไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อถึงสถานที่ที่เหมาะสมก็จะจอดและให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ที่ทางอำเภอจัดเตรียมไว้

อาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯเริ่มออกหน่วยครั้งแรกที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2513 โดยมีทันตแพทย์อาสาสมัครไปครั้งละ 3 - 4 คน

เมื่อมีอาสาสมัครมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อซื้อเครื่องมือทันตกรรมเพิ่มเติม และบางส่วนก็มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายในการออกหน่วยแต่ละครั้งของหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯหน่วยใหญ่ซึ่งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

ในปัจจุบันมีทันตแพทย์ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมออกหน่วยครั้งหนึ่งกว่า 100 คน และยังมีเจ้าหน้าที่แล็บผู้ช่วยทันตแพทย์ที่เป็นอาสาสมัครอีกประมาณ 50 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างเสียสละมาทำงานนี้ด้วยใจ เพราะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนใด ๆ การกินอยู่ก็เรียบง่ายที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางทันตกรรมอย่างครบวงจร

“ประชาชนมีความรู้ขึ้นเยอะนะคะ เขามาถึงก็บอกได้เลยว่าจะมาทำอะไร มาขูดหินปูน มาอุดฟัน หรือมาถอนฟัน…ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี หลายพื้นที่บอกอยากให้มาบ่อยๆ”

สิ่งนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้พระบารมีของพระบาท-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 360 (1 ตุลาคม 2556)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

สวนจิตรลดา พระราชวังต้นแบบแห่งความสุขที่ยั่งยืน ตามรอยพ่อหลวง

มูลนิธิหัวใจ น้ำพระราชหฤทัยเพื่อคนไทยแข็งแรง

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.