ตับ, บำรุงตับ, ดูแลตับ, โรคตับ, มะเร็งตับ

เทคนิคดูแล ตับ ครบวงจร

อาการเริ่มแรกของ โรคตับ คือ ปวดบริเวณลิ้นปี่และใต้ชายโครงด้านขวา คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด เลือดออกง่าย เกิดภาวะดีซ่านบวมบริเวณแขนขา หลังเท้า อึดอัด แน่นท้อง และหากอาเจียนเป็นเลือด ก็เตรียมจองวัดไว้ได้เลย (มีชีวิตอยู่ไม่เกิน 6 เดือน บางรายแค่ 1 - 2 สัปดาห์เท่านั้น)

ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียวสำหรับคนไข้โรคตับ ทั้งตับวายและตับแข็ง (เป็นอวัยวะที่แข็งแล้วไม่ดี) เพราะเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถปลูกถ่ายตับได้ ตับใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำหน้าที่ได้ดีในปีแรกของการผ่าตัดซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 75 และในเด็กจะมีจำนวนถึงร้อยละ 80 อุปสรรคคือ คนเรามีตับอันเดียว ไม่เหมือนไตที่มีสองข้าง สามารถแบ่งให้คนอื่นได้หนึ่งข้างโดยที่ตัวเองยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่สำหรับตับถ้าไม่รักกันจริงคงไม่มีใครยอมผ่าตับตัวเองเพื่อแบ่งให้คนอื่น เพราะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการเปลี่ยนไตมาก

เราสามารถดูแลตับของเราได้ด้วยการไม่กินยาพร่ำเพรื่อ ไม่ดื่มเหล้า ระวังการติดเชื้อไวรัส ไม่สูดดมละอองสเปรย์ต่าง ๆ ยาฆ่าแมลง สีพ่นหรือสารเคมีที่พ่นเป็นสเปรย์ อาหารแห้งเก่าเก็บ เช่น กระเทียม พริกป่น ปลาหมึกแห้ง ถั่ว เพราะมีโอกาสปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราที่ทำลายตับอยู่สูงมาก ตับมีหน้าที่ในการกรองและทำลายสารพิษออกจากเลือดแต่ถ้าสารพิษในเลือดมีปริมาณมากเกินไป ตับจะทำงานไม่ไหวและเกิดภาวะตับวายในที่สุด

เชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อตับ ได้แก่ เชื้อไวรัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอันตรายมาก เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับที่น่าตกใจคือ คนไทยทุก ๆ 100 คนมีเชื้อไวรัสตัวนี้แฝงอยู่ในตัว 10 คน คนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไปถึง 250 เท่า ที่สำคัญคือ เชื้อโรคตัวนี้สามารถปะปนอยู่ในน้ำลาย น้ำตา สารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่ออกมาจากร่างกาย และตายยาก ทำให้ต้องพึงระมัดระวังการสัมผัสน้ำลาย น้ำตาของผู้ที่มีเชื้อ

 

ยา, กินยาเยอะ, โรคตับ, มะเร็งตับ, ตับ, ดูแลตับ, บำรุงตับ
กินยาพร่ำเพรื่อ อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคตับ

มีผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายต่อหลายคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ โดยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3 - 6 เดือนหลังการตรวจพบ เพราะตับเป็นอวัยวะที่ทำงานทดแทนกันได้แม้จะเสียหายไปบางส่วน จึงไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบความผิดปกติบ้าง เช่น เจ็บที่ชายโครงด้านขวา เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แต่ถ้าถึงขนาดเบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว จุกเสียดแน่นท้อง แสดงว่าอาการหนักแล้ว

เรื่องของตับได้ผ่านการวิจัยลงลึกไปถึงระดับเซลล์และองค์ประกอบภายในอย่างละเอียด โดยนักวิทยาศาสตร์และทีมแพทย์ทั่วโลกลงทุนวิจัยไปแล้วนับแสนล้านบาท และแพทย์แผนปัจจุบันในไทยก็ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ดังนั้น การรักษาโรคที่ร้ายแรงทุกชนิด ไม่ควรหวังพึ่งปาฏิหาริย์หรือแพทย์ทางเลือกที่ไม่ได้มีผลงานการวิจัยมายืนยัน

แม้ปัจจุบันกระแสแพทย์ทางเลือกจะมาแรง แต่ก็ควรตระหนักและรู้ถึงศักยภาพของตนเองว่ามีขอบเขตอยู่ในระดับไหน

ทั้งนี้อยู่ที่คนไข้ที่ต้องรับรู้ข้อมูลและเลือกรับบริการแพทย์ทุกศาสตร์อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

คอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 391


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็ก 7 พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งตับ

บ.ก.ขอตอบ : สงสัยเรื่องการล้างพิษตับ จะต้องทำอย่างไร

6 เคล็ดลับ ป้องกันไขมันเกาะตับ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.