โรคในรถ คุณเป็นไหม

โรคในรถ คุณเป็นไหม

โรคที่มากับการนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานานๆ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ” โรคในรถ”

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ บ้านเราขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรถติด หลายๆ คนที่จำเป็นต้องเดินทางโดยใช้รถจึงมักประสพกับปัญหา ” โรคในรถ ” แบบไม่รู้ตัว

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

พนักงานบริษัทเอกชน วัย 37 ปี ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานในขณะขับรถ เพราะต้องเผชิญกับปัญหารถติดระหว่างเดินทางจากบ้านไปทำงานทุกวัน และบางพื้นที่ไม่มีปั๊มน้ำมันให้เข้า

อาการ

“พอเจอห้องน้ำจะรีบเข้า แต่ก็รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่ออก รู้สึกขัดๆ และปวดมากเหมือนปัสสาวะไม่สุด มี อาการแบบนี้เป็นปีนะคะ เพราะใช้เวลาอยู่ในรถประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน”

ปัจจัยเสริมก่อโรค

“บางทีทำงานเพลินๆ กำลังคิดอะไรอยู่ก็ยังไม่เข้าห้องน้ำทันที ก็ยอมอั้นไว้จนเป็นนิสัยที่ไม่ดีติดตัวอั้นในรถไม่พอ ยังมาอั้นในที่ทำงานอีก”

การรักษา

“คุณหมอให้ยามากินและให้ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาทำงาน เพื่อให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นช่วงแรกต้องไปพบหมอเป็นประจำจนกว่าอาการจะดีขึ้น”

การดูแลตัวเอง

– เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่กลั้นปัสสาวะเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ

– ถ้ามีอาการเจ็บหน่วงๆ ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อให้ปัสสาวะง่ายขึ้น

– ย้ายที่พักมาอยู่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อเลี่ยงรถติด

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

โรคในรถ

หมอนรองกระดูกเสื่อม

เจ้าของกิจการวัย 60 ปี ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมหลังจากขับรถส่งของในระยะทางไกลเป็นเวลานานหลายปี

อาการ

“แรกๆ ก็ปวดหลังนิดหน่อยและรู้สึกเหมือนร้าวลงขาทั้งสองข้าง ข้างซ้ายมากกว่าขวา ยืนนานๆ ขาจะชา ถ้ายังฝืนยืนอยู่อีกก็จะมีอาการชาขึ้นๆ จนกระทั่งรู้สึกเหมือนขาลอยได้ จำไม่ได้ว่ามีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เริ่มมีอาการตั้งแต่ขับรถส่งของ นอกจากนี้ยังมีอาการเอวคด คดไปด้านขวา เวลาเดินเห็นชัดเลย จะเดี้ยงไปข้างหนึ่งจนเพื่อนๆ สังเกตเห็น”

ปัจจัยเสริมก่อโรค

“ตอนเริ่มกิจการ ดิฉันทำงานทุกอย่างเองหมด ทั้งขับรถและขนของ ยกของหนักมากไม่ประมาณตน เอี้ยวตัวผิดจังหวะก็เลยทำให้ยิ่งมีอาการปวดมาก และเคยตกจากที่สูงจนกระดูกยุบ”

การรักษา

“ตอนแรกไปนวดบีบเส้นแบบแพทย์แผนไทย โดยนวดตรงหน้าท้อง กดรอบๆ สะดือไล่ลงมาตามขา กดนวดอยู่หลายครั้งเอวก็ค่อยๆ ตรง แต่ยังมีอาการชาอยู่

“เลยไปหาหมอเอกซเรย์ดูก็เห็นกระดูกทรุดอยู่ประมาณข้อที่ 56 แต่ไม่ได้เป็นตรงนั้น หมอให้ไปทำเอ็มอาร์ไอก็พบว่าข้อที่แตะเส้นประสาทอยู่ประมาณข้อที่ 4 นับจากข้างล่างขึ้นมา

“ถ้ายืนตรงๆ จะหนีบ ถ้ายืนตัวโค้งก็ไม่หนีบ ก้มตัวไม่ได้ต้องหาที่นั่ง หมอว่าคุณเป็นโรค ‘ยืนไม่ทนเดินไม่ไกล นั่งพอไหว นอนสบาย’

“สุดท้ายก็ตัดสินใจไปทำไคโรแพรคติกหลังเสร็จจากการจัดกระดูกก็ค่อยๆ ดีขึ้นมีโอกาสก็จะไป ตอนนี้ทำเกือบ 20 ครั้งแล้ว ด้วยความที่เรายังมีพฤติกรรมเหมือนเดิมคือขับรถ เลยยังไม่หายขาดต้องดูแลตัวเองไปเรื่อยๆ”

การดูแลตัวเอง

– เล่นเทนนิสเป็นประจำ แต่ไม่ควรเล่นหนักเกินไป ควรออกแรงเบาๆ (ไม่ควรหยุดออกกำลังกายเพราะจะทำให้เส้นเอ็นยึด)

– เวลายืนควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ถ้าต้องเดินนานๆ ควรหยุดพักก้มตัวลงเป็นการยืดเส้น ถ้าเดินตามห้างสรรพสินค้าอาจเกาะรถเข็น ทิ้งน้ำหนักไปที่รถเพื่อให้เดินได้นานโดยไม่มีอาการชา

– ทำกายภาพทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ด้วยท่าดังนี้

ท่านอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้นแล้วยกตัวขึ้นเล็กน้อย เกร็งหน้าท้องไว้ นับ 1 – 10 ทำประมาณ 10 ครั้ง

ท่านอนคว่ำ ศอกทั้งสองข้างตั้งฉากกับพื้น ปลายเท้าจิกทำเป็นมุมฉากยกตัวขึ้นแล้วแขม่วท้องเกร็งไว้??นับ 1 – 10 ทำประมาณ 10 ครั้ง

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

นายแพทย์ณัฏฐ์ชัย จิตต์ธรรมวาณิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เล่าถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการขับรถและการรักษาว่า

“คนไข้ที่มารักษาบางคนมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว และการขับรถเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นปัญหาที่พบบ่อยคือหมอนรองกระดูกอักเสบ กระดูกยุบที่เกิดจากการขับรถกระแทก การอุดตันของเส้นเลือดดำที่ขา

“ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปี มักจะมาด้วยอาการปวดขาด้วยว่านั่งขับรถนาน หลังจากนั้นก็มีอาการปวดที่หลังร้าวไปที่ขาซ้าย เดินลำบาก และปวดบวม เวลาไอจามก็มีอาการปวด เบ่งถ่ายอุจจาระก็มีอาการปวดมาก พยายามนอนพักแล้วไม่ดีขึ้น

“แพทย์ตรวจร่างกาย ส่งเอกซเรย์ และทำเอ็มอาร์ไอ ก็พบว่าหมอนรองกระดูกระหว่างชิ้นที่ 4 – 5 มีการยื่นออกมากดทับเส้นประสาทในด้านที่มีอาการ

“รักษาโดยการให้รับประทานยา นอนพัก ทำกายภาพบำบัด ใช้วิธีการดึงหลัง ประคบความร้อน และกระตุ้นไฟฟ้า หลังจากนั้น 3 – 4 วัน คนไข้จะมีอาการดีขึ้น แต่ก็ต้องดูแลตัวเอง เราจะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกาย”

โรคในรถ

ท่าบริหารป้องกันโรคในรถ

นายแพทย์ณัฏฐ์ชัยแนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะช่วยพยุงกระดูกสันหลังในขณะที่ขับรถ ดังนี้

  1. เซมิซิตอัพหรือท่าเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง (เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ) โดยนอนหงาย วางศีรษะบนหมอน ชันเข่าขึ้นสองข้าง วางมือไว้ข้างลำตัว ยกศีรษะพร้อมไหล่ทั้งสองข้างขึ้นให้พ้นจากหมอนประมาณ 1 นิ้ว เกร็งค้างไว้ 10 วินาที ทำวันละ 5 ครั้ง
  2. นอนหงาย ชันเข่าขึ้นสองข้าง กดหลังลงกับเตียง เกร็งหน้าท้องยกก้นขึ้นเล็กน้อย เกร็งค้างไว้ 10 วินาที ทำวันละ 5 ครั้ง

นายแพทย์ณัฏฐ์ชัยอธิบายว่า กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังมีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายและช่วยพยุงกระดูกสันหลังในขณะที่ขับรถ ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณนี้ดีก็เหมือนใส่ที่รัดเอวไว้ เป็นการป้องกันการกระแทกในขณะขับรถ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

โรคในรถ

หลับในและตาเมื่อยล้า

วิศวกร วัย 36 ปี มักมีอาการหลับในจนเกิดอุบัติเหตุและตาเมื่อยล้าเมื่อขับรถในเวลากลางวันที่มีแสงแดดจ้าเป็นเวลานานๆ

อาการ

“ผมขับรถเพื่อไปติดต่องานมาประมาณหนึ่งปี ในหนึ่งสัปดาห์ขับรถ 4 วัน ทั้งกลางวันและกลางคืนบางวันก็ต้องขับรถระยะทางไกลไปต่างจังหวัด

“ช่วงกลางวันที่ต้องเจอแดดจ้าๆ มักมีอาการตาอ่อนล้าและแสบตา ทำให้มองไม่ถนัดเวลาที่ขับรถและมีอาการหลับในตอนกลางคืน เมื่อก่อนไม่รู้ว่าหลับในเป็นอย่างไร ตอนนี้รู้แล้วและอันตรายมากตอนแรกจะหาวถี่ สมองเริ่มมึน ไร้สติไม่มีสมาธิในการขับรถ และเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นในกิจวัตรจะเข้ามาในหัวโดยไม่รู้สึกตัว”

ปัจจัยเสริมก่อโรค

“แต่ละครั้ง วันที่เดินทางผมไม่ค่อยได้พักผ่อน มักนอนน้อยเป็นประจำ”

การดูแลตัวเอง

– ถ้าเริ่มง่วงให้รีบจอดรถในปั๊มน้ำมันแล้วนอนทันที โดยสังเกตตัวเองว่าเริ่มหาวถี่แล้วหรือยัง ถ้าถี่มากๆ ต้องหยุด อย่าฝืน

– เวลาที่ขับรถทางไกล ถ้ามีเพื่อนร่วมทางที่ขับรถเป็นควรสลับกันขับ ไม่ควรขับคนเดียวตลอดทาง

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 255 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.