เครื่องเทศแก้โรค

8 เครื่องเทศแก้โรคระบบย่อยคนรุ่นใหม่

8 เครื่องเทศแก้โรค นอกจากจะเพิ่มความหอมให้อาหารแล้ว ยังมีสรพพคุณในการรักษาโรคอีกด้วย

อาหารไทยนั้นนิยมใช้เครื่องเทศเป็นส่วนผสม นอกจากทำให้มีกลิ่นรสที่หอมขึ้นแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็น เครื่องเทศแก้ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากทำให้เอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหารหลั่งออกมามาก จึงทำให้การหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น รวมถึงมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะและเหงื่อ เครื่องเทศที่แนะนำมีดังนี้

1.กานพูล ส่วนที่นำมาใช้คือ ดอกตูมแห้ง สีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน ดอกที่มีคุณภาพคือช่วงที่ดอกตูมกำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง หากเก็บก่อนหรือหลังจากนั้นจะได้กานพลูไม่มีคุณภาพ หลังจากเก็บมาแล้วต้องนำไปตากแดดให้แห้งจึงจะนำมาใช้ได้ นอกจากนี้ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนยังนิยมเคี้ยวกานพลูร่วมกับหมาก เพื่อให้มีกลิ่นหอม

สรรพคุณ ช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน อีกทั้งดอกกานพลูยังมีแคลเซียมฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

วิธีใช้ แกะเกสรออกก่อนจึงคั่ว เพื่อให้มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ด ถ้าใส่ในพริกแกงต้องป่นก่อน เช่น แกงมัสมั่น แกงบุ่มไบ๋ หรือจะใช้ทั้งดอกก็ได้

2.ลูกกระวาน  เป็นหนึ่งในเครื่องเทศโบราณ ใช้กันมากทั้งในด้านเครื่องเทศ มีลูกกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกสีขาว ไม่แข็ง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก กลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดเล็กน้อย และมีรสขมปนหวาน

สรรพคุณ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ขับเสมหะ แก้อาการท้องเดิน ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นและใช้เป็นส่วนผสมในยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง

วิธีใช้ ต้องคั่วก่อน แล้งบีบให้เปลือกแตก ใช้แต่เม็ดใน ไม่ต้องโขลกให้ละเอียด ใช้ดับกลิ่นคาวและทำให้แกงหอม นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกง เช่น แกงเผ็ด แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ แกงพะแนง และยังใช้แต่งกลิ่นและสีอาหารหลายชนิด เช่น ขนมปัง อาหารหมักดอง

เครื่องเทศแก้โรค

3.พริกไทย เป็นเครื่องเทศที่ตลาดมีความต้องการสูงนับแต่โบราณ จนได้รับการยกย่องให้เป็นราชาเครื่องเทศ ผลแก่ตากแห้งทั้งเปลือกเรียกว่า พริกไทยดำ ส่วนผลแก่ เอาเปลือกออก เหลือแต่เมล็ด เรียกว่า พริกไทยขาว หรือพริกไทยล่อน มีกลิ่นหอมค่นข้างฉุนรสเผ็ดร้อน

สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ปวดฟันและช่วยเจริญอาหาร

วิธีใช้ ใช้ทั้งเมล็ด หรือนำไปป่นละเอียด ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว ใช้ถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกแกง เช่น แกงเผ็ด แกงพะแนง แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น นอกจากนี้ยังนิยมใส่พริกไทยขาวในแกงจืด

4.พริกแห้ง ใช้ผลตากแห้ง ผลสุกจะเป็นสีแดงหรือแดงปนน้ำตาล มีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน ส่วนที่เผ็ดสุดของพริกอยู่ที่เมล็ดและไส้พริก นอกจากนี้ยังช่วยแต่งสีสันในอาหารให้ดูสวยงามอีกด้วย

สรรพคุณ ขับเสมหะ ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และช่วยเจริญอาหาร

คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป

5.โป๊ยกั๊ก เป็นเครื่องเทศจากจีน ส่วนที่ใช้คือ ผลแก่ตากแห้ง ลักษณะผลเป็นรูปดาวแปดแฉก สีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสเผ็ดหวาน

สรรพคุณ ขับลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย

วิธีใช้ นิยมเผาไฟหรือต้มให้หอมก่อนใส่อาหารประเภทตุ๋น ต้ม หรืออบ ทำให้มีกลิ่นหอมน่ากินหรือนำไปป่นให้ละเอียดเป็นส่วนผสมสำคัญในการต้มพะโล้ ส่วนทางภาคเหนือใส่ในลาบ

6.ลูกผักชี ใช้ผลแก่ตากแห้ง ลักษณะลูกกลมเล็ก สีขาวหม่นหรือน้ำตาลซีด มีกลิ่นหอม ความหอมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแก่ของเมล็ด มีรสซ่าอ่อนๆคล้ายชะเอม

สรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร แก้อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมและขับปัสสาวะ

วิธีใช้ ก่อนนำไปประกอบอาหารต้องคั่วเสียก่อน แล้วโขลกขณะร้อนๆ ให้ละเอียด ใช้เป็นเครื่องแกงของแกงเผ้ด พะแนง แกงเขียวหวาน

เครื่องเทศแก้โรค

          อ้างอิงจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 213 

7.ยี่หร่า ใช้ผลแก่ตากแห้ง ลักษณะผลรูปรียาวแบน สีเหลืองอมน้ำตาล กลิ่นหอมมาก รสเผ็ดร้อนและขม ยี่หร่าเมล็ดเล็กจะหอมกว่าเมล็ดใหญ่

สรรพคุณ ช่วยย่อย ขับระดูขาว ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และเป็นส่วนผสมในยาหอม

วิธีใช้ ก่อนใช้ต้องทุบก่อนจึงจะหอม ใช้หมักเนื้อสัตว์ดับกลิ่นคาว นิยมใช้ร่วมกับเมล็ดผักชี นำมาคั่วไฟอ่อนๆให้กลิ่นหอม นำไปป่นละเอียดผสมในเครื่องแกง เช่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน พะแนง

8.อบเชย ส่วนที่ใช้คือเปลือกของต้นอบเชย สีน้ำตาลปนแดงกลิ่นหอมนุ่มนวล รสขม หวาน ฝาด

สรรพคุณ ขับเหงื่อ แก้อ่อนเพลีย แก้จุกแน่น ขับลม  เป็นส่วนผสมของยานัตถุ์ น้ำมันอบเชยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและเชื้อจุลลินทรีย์

วิธีใช้ ก่อนใช้ต้องคั่วหรือเผาก่อนจึงจะมีกลิ่นหอม ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ใส่ทั้งชิ้นหรือป่นละเอียดผสมกลิ่นหอม

          กินอาหารไทยที่มีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมช่วยให้สุขภาพเลิศก่อนใครแน่นอน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.