ผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?

วิธีออกกำลังกายสำหรับ ผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถออกกกำลังกาย ได้มากน้อยแค่ไหน และสามารถทำอะไรได้บ้าง  รวมถึงข้อจำกัดและข้อควรระวังค่ะ

นักกายภาพบำบัดหญิงนิดา รัตนครอง หัวหน้าหน่วยกายภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้คำแนะนำถึงเรื่องวิธีการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนี้

เคยมีความเชื่อที่ว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะไม่สามารถออกกำลังกายได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะอันที่จริง ผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องออกกำลังกาย เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตของตนให้อยู่ในภาวะใกล้เคียงสภาพปกติมากที่สุด

เนื่องจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งจะมีภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงบางประการ ไม่ว่าจะเป็นจากการผ่าตัด การใช้รังสีรักษา หรือการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะมีผลข้างเคียงที่ตามมาแตกต่างกันไป จึงสามารถใช้การรักษาเป็นเกณฑ์จำแนกการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยได้ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เช่น ในกลุ่มที่มีการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัด ทำให้หายใจไม่สุด หรือที่เรียกว่า หายใจตื้น ทำให้เสมหะคั่งค้าง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามมา จึงควรออกกำลังกายประเภทที่ช่วยเรื่องการทำงานของระบบหายใจ เช่น การหายใจ (Breathing Exercise) การฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อทรวงอก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะที่ใช้สำหรับการหายใจแข็งแรง และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  2. ผู้ป่วยที่รับการฉายรังสีรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีภาวะกล้ามเนื้อหดรั้ง หรือหดตึงจากรังสี เพราะกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับการรักษาจะสูญเสียความยืดหยุ่นไป การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercise) ซึ่งจะช่วยคืนความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าวได้
  3. ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ จะมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวจะส่งผลต่อการทรงตัว การเดิน และการเคลื่อนไหวต่างๆ รูปแบบการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยประเภทนี้จึงต้องมีลักษณะกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้มากขึ้น (Pumping Exercise) รวมไปถึงช่วยเรื่องการทรงตัว เช่น การปั่นจักรยานอยู่กับที่

การออกกำลังกายลักษณะใดที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

รศ. นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง แนะนำวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนี้

การฝึกหายใจ

ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนมีอาการหายใจไม่สะดวก การฝึกจะช่วยให้การหายใจเข้า – ออก ดีขึ้น และยังช่วยลดความเครียดความกังวล

-การยืดเหยียดเป็นประจำ

ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และพัฒนาบุคลิก เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อ เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากการรักษามะเร็ง เช่น หลังการฉายแสงอาจมีการเคลื่อนไหวของข้อจำกัด เพราะกล้ามเนื้อดึงรั้ง หรือหลังผ่าตัด อาจมีแผลเป็นดึงรั้ง

-การฝึกความสมดุล

โรคมะเร็งหรือการรักษามะเร็งอาจทำให้ความสามารถในการทรงตัวลดลง การฝึกการทรงตัว ช่วยให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และป้องกันการหกล้ม

-Aerobic exercise หรือที่เรียกกันว่า Cardio

เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจและปอด ทำให้อาการเหนื่อยง่ายลดน้อยลง เช่น การเดินความเร็วปานกลาง ครั้งละ 30 – 40 นาที 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการวิ่ง 75 นาทีต่อ สัปดาห์ เป็นต้น

-การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

ในระหว่างการรักษามะเร็ง กล้ามเนื้อมักจะลีบลง เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน โรคมะเร็งหรือการรักษาอาจทำให้ กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงได้ การฝึกนี้จะช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น ลดความอ่อนล้า ทำกิจวัตรต่างๆ ดีขึ้น และยังป้องกันกระดูกผุ ที่อาจเกิดจากการรักษามะเร็ง

ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งควรเสริมสร้างความ แข็งแรงทุกส่วนของร่างกาย 2 ครั้งต่อสัปดาห์

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง หรือไม่ป่วย ก็ควรระวังเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  1. ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อเป็นไข้
  2. หากมีภาวะโลหิตจางและเกล็ดเลือดต่ำ อาจเกิดอันตรายหากบาดเจ็บและมีเลือดออกในข้อหรืออวัยวะภายใน
  3. ในผู้ที่มีภาวะมะเร็งลุกลามไปที่กระดูกส่วนต่างๆ ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เกิดการแตก หัก หรือกระดูกทรุดตัว ในกรณีที่มะเร็งลามไปถึงกระดูกสันหลัง

ถึงแม้ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะไม่ควรออกกำลังกาย แต่ก็สามารถทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายได้

สรุปแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรออกกำลังกาย โดยพิจารณาจากสภาพร่างกาย ซึ่งหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยให้สามารถเลือกประเภท การออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมที่สุดในแต่ละบุคคลค่ะ

อ่านต่อหน้า 2 ออกกำลังกายรักษาโรคมะเร็ง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.