ว่ากันด้วยเรื่อง “น้ำตาลสูง” ส่งผลร้ายต่อเรามากแค่ไหน

น้ำตาลสูง ทำร้ายร่างกายเราอย่างหนัก

การที่น้ำตาลในเลือดสูง เปรียบเหมือนทุกเซลล์ในร่างกายถูกเชื่อม  ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัว คลายตัวได้ตามปกติ  คนเป็นเบาหวานจึงมักปวดตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ  เดินไปชนอะไรนิดหน่อยผิวก็เขียวเป็นจ้ำ กล้ามเนื้อหัวใจก็บิดตัวไม่ดี ไตเสื่อม ตาเป็นต้อกระจก ใบหน้าเหี่ยวย่น ผิวไม่อิ่มฟู เพราะคอลลาเจน อีลาสตินก็เชื่อมเหมือนกัน

น้ำตาลจะเข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อในกระดูก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น  พอน้ำตาลไปเกาะสมอง ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์เร็วขึ้น น้ำตาลที่สะสมเป็นไขมันเป็นเซลลูไลท์ เป็นโรคอ้วน นอกจากนั้นพอไขมันไปสะสมในเลือด ทำให้เกิดพลัค (Plaque)  ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สโตรก รวมทั้งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเสีย เกิดภาวะแพ้อาหารแฝง ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ  เมื่อโควิด 19 ระบาด  คนเป็นเบาหวานเสียชีวิตมากขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันไม่ดี

 

เกณฑ์ชี้วัดว่าน้ำตาลในเลือดสูง         

นอกจาการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ทุกคนรู้จักแล้ว การวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ฮีโมโกลบิน เอวันซี  ( Hemoglobin A1C – HbA1c) ก็สำคัญ เพราะจะทราบถึงพฤติกรรมของเราย้อนหลังไปได้ถึง 3เดือน

ค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุดของ HB A1c  คือ 4.5-5 ถ้าจะเกินกว่านี้ก็ไม่ควรเกิน 6 ถ้า 6.5 ถือว่าใกล้เป็นเบาหวาน หรืออาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้ และถ้าเกิน 7 ไม่ดีแล้ว หากพบว่า HB A1c อยู่ในระดับ 5.5-6 คุณต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย ลดความเครียด ก่อนจะกลายเป็นเบาหวาน

นอกจากนั้นในต่างประเทศยังมีการวัด AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งเป็นภาวะก่อนจะเป็นเบาหวาน ถ้ากำจัดสารตัวนี้ได้ เราก็จะไม่เป็นเบาหวาน

ไกลเคชั่น (Glycation)  เกิดจากน้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย ทำให้เซลล์ถูกเคลือบด้วยสารแก่ เป็นภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโปรตีนในร่างกาย  ก่อให้เกิดความเสื่อมและความชราก่อนวัย

ไกลเคชั่น เปรียบเหมือนสนิมเกาะเหล็ก ในกรณีนี้คือน้ำตาลเริ่มไปเกาะตามข้อต่อของโมเลกุลต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้โครงสร้างเซลล์เริ่มเปลี่ยน   ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง พบว่าเมื่อน้ำตาลเริ่มไปเกาะไปกวนสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ((hippocampus) ทำให้สมาธิไม่ค่อยดี หลงลืมอะไรง่าย คุย ๆ อยู่นึกชื่อคนไม่ออก  เพราะน้ำตาลไปรบกวนโครงสร้างและการทำงานของสมอง

ผลการวิจัยอีกชิ้น ซึ่งตัดกระดูกของคนที่ยังไม่เป็นกระดูกพรุนแต่อายุมากกว่า 44 ไปตรวจ พบว่า การที่สารไกลเคชั่นเริ่มไปแทรกเข้าไป ทำให้โครงสร้างกระดูกเปลี่ยนไป คือยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกบาง แต่เริ่มบาง

“ จะเห็นได้ว่าน้ำตาลสูงไป ต่ำไป ไม่ดีทั้งสองแบบ เราจึงต้องอยู่บนทางสายกลาง”  

แต่ละวันเราต้องการน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน ?

ขึ้นอยู่กับกิจกรรม วัย อาชีพ และโรคของแต่ละคน  นอกจากนั้นอวัยวะแต่ละอวัยวะก็ต้องการใช้น้ำตาลไม่เท่ากัน  คำว่าใช้น้ำตาล ไม่ใช่ การเผาผลาญน้ำตาลเสียทุกกรณีไป การเผาผลาญพลังงาน เรียกว่า fat metabolism  ส่วนการใช้น้ำตาล คือ glycolysis  ซึ่งแต่ละคนใช้ไม่เท่ากัน

เมื่อก่อนกิจกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ทำงานใช้แรง ตื่นเช้ามาไปทำงาน ทำสวน  การเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันสูง  จึงกินข้าวเยอะ  แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย  งานที่ทำส่วนใหญ่ก็นั่งโต๊ะ ไม่ค่อยได้เดินไปไหน เมื่อไม่ต้องใช้แรงมากเท่าเมื่อก่อนก็ควรจะต้องลดการกินแป้งลง โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ซึ่งมีน้ำตาลค่อนข้างสูง

ปัจจุบัน อาหารใดน้ำตาลมากน้ำตาลน้อย เราดูจากค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกความสามารถของร่างกายในการดูดซึมอาหารชนิดต่าง ๆ แบ่งเป็นอาหารจีไอต่ำ มีค่าต่ำกว่า 55  อาหาร จีไอปานกลาง มีค่าระหว่าง 55-69  ส่วนอาหารจีไอสูง คืออาหารที่มีค่าตั้งแต่ 70 ขึ้นไป

โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานอาหารจีไอต่ำได้แก่ อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักใบทุกชนิด ถั่ว ธัญพืช  และผลไม้รสหวานน้อย เช่น ลูกพลัม เชอรี่

หลีกเลี่ยงอาหารจีไอสูง ซึ่งได้แก่ กลุ่มแป้ง ขนมปัง โดนัท ขนมเค้ก น้ำส้ม  ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียว  ซีเรียล สปาเกตตี้ ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามอาหารจีไอสูงไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป บางครั้งเวลาที่เราต้องการความสดชื่น ไม่จำเป็นว่าต้องกินแต่อาหารจีไอต่ำตลอดเวลา หรือผักบางชนิดที่จีไอค่อนข้างสูง เช่น ผักกลุ่มฟักทอง มันหวานต่าง ๆ  แต่ก็มีไฟเบอร์ แคโรทีน จึงไม่ได้เป็นตัวร้าย 100 เปอร์เซ็นต์

อยากให้เขา(น้ำตาล) มามีบทบาทในชีวิตแค่ไหน เราเลือกได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : พญ. สาริษฐา สมทรัพย์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.