“ลำไส้แปรปรวน” ระยะสั้นเรื่องเล็ก แต่ระยะยาวถึงตายได้

หากพูดถึงเรื่องระบบท้องไส้ “ลำไส้แปรปรวน” อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสารชีวจิต ได้เคยอธิบายถึงสาเหตุและวิธีแก้ไว้อย่างละเอียด ซึ่งเรารวบรวมข้อมูลนำมาแนะนำผู้อ่านกันอีกครั้ง ดังนี้ค่ะ

รู้จักลำไส้แปรปรวน

อันที่จริง “ลำไส้แปรปรวน” หรือ IBS นี้ เคยเขียนมาแล้ว แต่ที่ไม่ได้เขียนโดยละเอียดเพราะนึกว่าไม่ใช่โรคประเภท
“ยอดนิยม” ของคนไทย เลยคิดว่าเขียนพอให้เป็นเครื่องประดับความรู้ทั่ว ๆ ไปก็พอแล้ว แต่ที่ไหนได้ ที่คิดว่าไม่ใช่โรคประเภท “ยอดนิยม” บัดนี้ IBS ทำท่าจะเป็นโรคยอดนิยมไปเสียแล้ว เพราะระยะหลัง ๆ นี้คนไข้ที่มาหาโดยเฉพาะรุ่นยังหนุ่มยังสาวอยู่แท้ ๆ ก็ทำหน้าตาตื่นเข้ามาบอกว่า “คุณอาครับ หมอบอกว่าผมเป็นโรค IBS รักษาตั้งนานแล้วก็ยังไม่หาย ทำไงดี” ก็เลยต้องขออภัยที่จะต้องฉายหนังซ้ำ แต่คราวนี้จะว่ากันละเอียดถี่ยิบกันไปเลย

IBS ย่อมาจาก Irritable Bowel Syndrome

คำว่า Irritable แปลว่า รบกวน ทำให้ระคายเคือง ทำให้โกรธ Bowel ก็แปลว่าลำไส้ หรือภาษาชาวบ้านก็ว่า ท้องไส้ ส่วน Syndrome นั้น หมายถึงอาการของโรคหลาย ๆ โรคมารวมกัน ที่ผมเรียกว่า “ลำไส้แปรปรวน” นั้น ว่ากันที่จริงก็ไม่ตรงตัวนัก แต่ผมตั้งใจจะพูดถึงอาการของคนที่เป็นโรค IBS กันมากกว่า เพราะคำว่า Syndrome นั้น จะระบุไปสั้น ๆ หรือตรง ๆ ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ มันก็ไม่ใช่ เพราะมันเป็นอาการของโรคหลาย ๆ โรคมารวมกัน

อาการของ IBS

ก็คือ อาการของท้องไส้ไม่ปกติ เดี๋ยวท้องเสียท้องเดินสลับกัน ท้องผูกก็ยังมี อาการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การปวดท้องตอนล่าง เรื่องปวดท้องตอนไหนของท้องนี้ค่อนข้างจะสำคัญนะครับ คุณต้องสังเกตให้ดี อย่างเป็นต้นว่าปวดตอนบนของท้อง แถวบริเวณสะดือหรือเหนือสะดือ อาจจะเกี่ยวกับกระเพาะ ปวดบริเวณบั้นเอวข้างขวา อาจจะเกี่ยวกับไส้ติ่งอักเสบ หรือปวดบริเวณหน้าท้องด้านล่างตอนกำลังจะถ่าย ถ่ายไม่ค่อยออก หรือออกมานิดเดียวแล้วก็หยุดถ่าย ก็เบ่งกันใหญ่ ตอนนั้นปวดแทบขาดใจ นั่นปวดท้องเพราะเป็นบิดครับ

ส่วนปวดท้องตอนล่าง ปวดเสียวบ้าง ปวดหน่วงถ่ายไม่ค่อยหมดท้อง อย่างนี้ปวด IBS แล้วครับ โรค IBS นี้ที่อเมริกาเป็นกันมาก ๆ เลยเมื่อสมัย 18 – 19 ปีมาแล้ว แต่ที่เมืองไทยสมัยที่ผมกลับมาอยู่ใหม่ ๆ นั้นไม่มีเลย แต่เมืองไทยสมัย 4 – 5 ปีหลังมานี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวที่ผมเอ่ยถึงตอนข้างต้น

โดยเหตุที่เป็นโรคใหม่และเป็นโรคที่มีอาการหลายอาการมารวมกัน คุณหมอท่านก็เลยให้ยาตามอาการ คือ ยาแก้ท้องเดินบ้าง ยาลดกรดบ้าง และเมื่อไปหาคุณหมอท่านบ่อย ๆ บางครั้งท่านก็เลยให้ยาระงับประสาทผสมมาด้วย คนหนุ่มสาวเหล่านี้ท่านก็เลยไม่ค่อยจะหายขาด

เมื่อบางคนมาปรึกษากับผม ผมนึกถึงระยะเวลาที่โรคนี้มาเกิดในเมืองไทย นึกย้อนไปว่าโรคนี้ในอเมริกาเป็นกันมากเหลือเกิน แต่เมืองไทยยังไม่เป็น และเมื่อสมัยก่อนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก แล้วเมืองไทยทำไมจึงมาเป็นกันเยอะสมัยนี้ นี่แหละคือจุดสำคัญที่ทำให้ผมเริ่มสืบสาวราวเรื่องของ IBS

จนได้คำตอบว่าทำไมคนไทยจึงเริ่มเป็นโรคนี้กันมาก ผมนึกไปถึงคำพูดของอาจารย์แพทย์คนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ดักลาส ดรอสส์แมน หัวหน้าแพทย์ฝ่ายโรคช่องท้องและเป็นจิตแพทย์ด้วย ท่านเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่วิทยาลัยแพทย์แชเปิลฮิลล์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา

“มีความเกี่ยวข้องติดต่อกันอย่างมากระหว่างความเครียดกับโรค IBS”

อาจารย์ดรอสส์แมนกล่าวไว้

นี่แหละมาถึงจุดที่ทำให้ผมตาสว่างขึ้นมาทันทีว่า เมื่อครั้งก่อน ๆ ที่ผมพูดถึง IBS นั้น ผมไม่ได้พูดถึงสาเหตุของความเครียดกับ IBS โดยละเอียดเลย ในการบรรยายตามคอร์สสุขภาพหรือตามมหาวิทยาลัยที่ผมไปสอน ผมจะย้ำแล้วย้ำอีกว่า

“ท้องของเรานั้นละเอียดอ่อนมาก อะไรที่เข้าหัวเราก็มักจะลงท้องทันที”

นั่นก็หมายความว่าเมื่อเกิดอารมณ์รุนแรงใด ๆ ขึ้นมา มันก็มักจะลงท้องเราก่อน ผมเคยพบคนไข้หลายคนที่เครียดมากจนท้องผูก และก็เคยพบที่อาการตรงข้าม คือ ไม่ว่าจะเครียดมากเครียดน้อย แกจะท้องเดินเป็นประจำ อาจารย์ดรอสส์แมนกล่าวต่อไปว่า ถ้าความเครียดทำให้เกิดโรค IBS ก็ต้องพยายามตัดวงจรให้ขาด

นั่นก็คือ อย่าให้ IBS ทำให้เรากลับเครียดยิ่งขึ้น เครียดทำให้เกิด IBS IBS ก็ยิ่งทำให้เครียดยิ่งขึ้น นี่คือวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย หมุนเป็นวงกลมอยู่เช่นนั้นไม่มีวันจบ

คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์ดรอสส์แมน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ดีมากและเป็นคำแนะนำ ซึ่งปฏิบัติได้ง่าย ๆ ก็คือ ให้ทำบันทึกของตัวเองไว้ว่าเครียดเมื่อไรและเพราะอะไร เช่น เวลาที่ถูกเรียกเข้าไปในห้องทำงานของเจ้านายเมื่อไรก็จะเกิดอาการท้องแข็งและปวดท้องทันทีทุกครั้งไป นั่นแสดงว่า IBS เกิดขึ้นเพราะความเครียดระหว่างเข้าไปหาเจ้านาย และแสดงว่าตนเองคงจะทำอะไรผิดพลาดบ่อย ๆ จึงถูกเจ้านายเรียกเข้าไปพบและถูกตำหนิจึงปวดท้องแบบ IBS

เมื่อรู้อย่างนี้วิธีการแก้ไขก็ไม่น่าจะยาก เพราะรู้ต้นเหตุและสาเหตุอยู่แล้ว เอาละครับ ตอนนี้ก็จะขอพูดถึงวิธีแก้ไข IBS ด้วยการทำตัวเองไม่ให้เครียดเสียก่อน คนไทยเรานั้นโชคดีอย่างเหลือเกินนะครับที่เมืองไทยเป็นเมืองของคนใจบุญ เรารักใคร่สมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมานาน วิธีปฏิบัติเพื่อแก้เครียดก็น่าจะเอาแนวทางในการปฏิบัติตัวตามวิถีชีวิตของคนไทยมาใช้

ในคอร์สสุขภาพต่าง ๆของชีวจิต มีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งเราจะแนะนำและฝึกปฏิบัติตัวกันในด้านทำกายและใจให้หย่อนคลาย เราเรียกการปฏิบัติตัวในคอร์สนี้ว่า รีแล็กเซชั่น หลักง่าย ๆ มีอยู่ว่า เมื่อเราเครียด ร่างกายเราจะเกร็ง เกร็งทั้งภายนอก และภายในร่างกายของเรา

ตัวอย่างของการเกร็งภายนอกก็เช่น ปวดต้นคอปวดหลัง ปวดขา ปวดเอว ฯลฯ วิธีแก้ง่าย ๆ คือ รำกระบองแบบชีวจิต
กรุณาอย่าหาว่าเป็นการอวดอ้างนะครับ แต่ผู้ที่มีอาการเครียดทางกายนั้นแก้ไขง่าย ด้วยการรำกระบองหายมาแล้วมากมาย…

STORY – ชมนาด
PHOTO – iStock

ชีวจิต 5 3 4

///////// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ////// ////// ///// ///// ///// ///// ///// ///// /////

บทความน่าสนใจอื่น ๆ

5 ประเภทอาหาร ที่ทำให้เกิด โรคลำไส้แปรปรวน

ท้องผูก แน่นท้อง ลำไส้แปรปรวน โพรไบโอติกช่วยได้

ชวนดูแล ป้องกัน รักษา โรคลำไส้แปรปรวนฉบับแพทย์แผนไทย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.