ผู้ป่วยป่วยภูมิแพ้ระวัง เป็นมากอาจพ่วง โรคริดสีดวงจมูก ได้

โรคริดสีดวงจมูก โรคที่อาจมากับอาการภูมิแพ้

ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายอาจอ่อนแอป่วยเป็นหวัด มีอาการจาม คัดแน่นจมูก ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่หากมีอาการหวัดเรื้อรังเป็นๆหายๆ บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วยอย่านิ่งนอนใจเพราะอาจจะเผชิญกับ โรคริดสีดวงจมูก

อะไรคือริดสีดวงจมูก

ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) เกิดจากการที่เยื่อบุจมูกอักเสบ บวมขึ้นเรื่อยๆ มีน้ำคั่ง กลายเป็นก้อนในจมูก เหตุผลที่เรียกริดสีดวงจมูกเนื่องจากมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาในจมูก อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน เป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน อาจไม่ทำให้เกิดอาการ แต่หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก มีปัญหาในการดมกลิ่น หรือเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงจมูก

โรคภูมิแพ้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงจมูก ซึ่งมีการอักเสบของเยื่อบุจมูกเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน เมื่อมีการอักเสบนานๆ เยื่อบุจมูกจะมีการบวมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคนที่ไม่รักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง ปล่อยให้มีการอักเสบซ้ำๆ เยื่อบุจมูกก็จะบวมออกมากลายเป็นริดสีดวงจมูก ทั้งนี้การอักเสบเรื้อรังจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ เยื่อบุอักเสบจากภูมิแพ้ และเยื้อบุอักเสบชนิดไม่แพ้ ทั้ง 2 อย่างทำให้เกิดริดสีดวงจมูกได้ทั้งนั้น หรือในคนไข้ที่เป็น ไซนัสอักเสบเรื้อรังนาน ๆ เยื่อบุของไซนัสก็จะบวมออกมากลายเป็นริดสีดวงได้ แต่เราจะไม่เรียกริดสีดวงไซนัส

ภูมิแพ้ในผู้สูงวัย ภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก โรคริดสีดวงจมูก

อาการของคนที่เป็นริดสีดวงจมูก

ถ้าขนาดไม่โตมากคนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไร แต่ถ้าเยื่อบุจมูกบวมมาก ๆ อากาศผ่านจมูกไม่ได้ คนไข้จะมีอาการคัดแน่นจมูก นอกจากนี้จมูกยังมีหน้าที่รับกลิ่น
เมื่อไหร่ก็ตามอากาศไม่สามารถเข้าไปในจมูกถึงเซลล์ประสาทรับกลิ่นได้ก็จะทาให้คนไข้มีปัญหาเรื่องการรับกลิ่นเสียไป หรือไม่ได้กลิ่น อย่างที่บอกริดสีดวงจมูกจะเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้และการอักเสบเรื้อรัง

นอกจากอาการคัดจมูกแล้ว คนไข้อาจจะมีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล ร่วมด้วยหรือถ้าริดสีดวงจมูกไปอุดรูเปิดของไซนัสที่เปิดเข้ามาในโพรงจมูก คนไข้อาจจะมีไซนัสอักเสบร่วมด้วย

จากอาการที่กล่าวมานั้นหากพบว่าตนเองมีอาการร่วมเป็นเวลาตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป หรือมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ได้แก่ มีปัญหาด้านการมองเห็นอย่างรุนแรงขยับดวงตาไม่ค่อยได้ หรือมองภาพได้ไม่ชัด รวมไปถึงอาการด้านอื่น ๆ เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรงกว่าปกติ หากใครพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาก้อนเนื้อในโพรงจมูก ดังนี้

 การใช้กล้องส่อง
 การตรวจด้วยเครื่อง CT Scan
 การทดสอบอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง
 การตรวจเลือดคัดกรองภูมิต้านทาน

การดูแลและป้องกันริดสีดวงจมูก

ในการป้องกันริดสีดวงจมูก ทำได้โดยการลดโอกาสเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดริดสีดวงจมูกหรือลดการเกิดซ้ำหลังการรักษา โดยมีแนวทางดังนี้

 ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการรักษาโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด
 ให้ความสำคัญกับการล้างจมูกโดยใช้น้ำเกลือ เพื่อชะล้างสารก่อภูมิแพ้ และลดการระคายเคืองของจมูก
 หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือการอักเสบของโพรงจมูก เช่น สารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่หรือฝุ่นละออง
 ดูแลเรื่องสุขอนามัย เช่น ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย

บทความโดย : นพ.ปวีณ เพชรรักษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตปกติ!

เลี่ยงได้ไม่ป่วย 5 ของแปลกก่อภูมิแพ้

วิธีออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ ฉบับมือใหม่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.