ลดการรับสารพิษ

6 WAYS ลดการรับสารพิษ ลดเสี่ยงมะเร็ง

6 WAYS ลดการรับสารพิษ ลดเสี่ยงมะเร็ง

คุณหมอมิตเชลกล่าวว่า วิธี ลดเสี่ยงมะเร็ง ในเมื่อเราทุกคนใช้เวลาอยู่ที่บ้านอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง ก็ควรทำให้บ้านเป็นสถานที่ปลอดสารพิษให้ได้มากที่สุด

เน้นการสร้างบ้านโดยใช้วัสดุธรรมชาติ

โดยเฉพาะส่วนตกแต่งภายใน ลดการใช้สีทาภายในอาคารและสารเคลือบเงา งดใช้วัสดุสังเคราะห์ เปลี่ยนไปใช้การตกแต่งด้วยผนังไม้ อิฐ หรือหินขณะที่ส่วนก่อสร้างภายนอกหรือโครงสร้างอื่น ๆ สามารถใช้วัสดุทั่วไปได้ตามปกติ แต่ถ้าทำได้ควรใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมด

เลือกเครื่องเรือนให้ปลอดภัย

แนะนำให้เลือกจากผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองมาตรฐานยุโรป (European Standard Class 1 – E1) ซึ่งมีสารเคมีตกค้างที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตาและระบบหายใจหรือก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในระดับต่ำมาก คือ 0.005% ของไม้ทั้งแผ่น ต่ำกว่าไม้พาร์ติเคิลบอร์ดและไม้เอ็มดีเอฟโดยทั่วไปถึง 6 เท่า ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้เครื่องเรือนที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ หวาย ไม้ไผ่ ที่ปราศจากการทาสีและสารเคลือบเงา

ลดการใช้สารเคมีในบ้าน

เริ่มจากน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ที่ผสมสารเคมี เปลี่ยนมาใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ทำเอง ตัวอย่างเช่น

  • น้ำยาล้างจาน ใช้เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำเปล่า 1/2 ถ้วย และมะนาว 1 ซีก
  • น้ำยาถูพื้น ใช้น้ำส้มสายชู 1/4 ถ้วย น้ำเปล่า 2 ถ้วย สบู่เหลว 1 ช้อนชา น้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบ 3 – 5 หยด

ลดการใช้สารเคมีกับร่างกาย

ค่อย ๆ ลดการใช้เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวต่าง ๆ น้ำหอม การย้อมผม กัดสีผม หันมาใช้สบู่ แชมพู ยาสีฟันที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี เน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ (hypoallergenic)

ชีวจิต ขอแนะนำวิธีทำความสะอาดร่างกายแบบไทยโบราณ โดยใช้มะขามเปียกขัดทำความสะอาดร่างกายแทนสบู่ ใช้ผลมะกรูดเผาไฟหรือน้ำมะกรูดสดนำมาสระผม ปิดท้ายด้วยการทาน้ำมะพร้าวสกัดเย็นบำรุงผิว

ใช้ภาชนะปราศจากสารเคมี

วัสดุแนะนำคือ แก้ว เพราะปราศจากสีเคลือบซึ่งทำจากสารเคมี และมีความทนกรดทนด่าง ถัดมาคือเครื่องกระเบื้องเซรามิก ซึ่งชีวจิตขอแนะนำให้เลือกซื้อโดยดูมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาชนะที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เมลามีนและสังกะสีเคลือบซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรอง เมื่อผ่านการใช้งานนาน ๆ ถูกความร้อน กรด ด่างแล้ว สารเคมีที่เป็นส่วนผสมในเนื้อภาชนะหรือสีเคลือบจะออกมาปนเปื้อนในอาหารได้

ปลูกต้นไม้ดูดซับมลพิษในอากาศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การปลูกพืชในบริเวณบ้านมีส่วนช่วยลดมลพิษในอากาศได้ ให้เลือกพืชที่มีผิวใบหยาบหรือมีขน เน้นใบขนาดเล็กจำนวนมาก และเป็นไม้ไม่ผลัดใบ โดยมีตัวอย่างพืชที่มีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษได้ดี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มไม้ล้มลุก ได้แก่ ไผ่รวก ฉัตรพระอินทร์
กลุ่มไม้พุ่ม ได้แก่ วาสนา แก้ว หางนกยูงไทย กรรณิการ์ ทองอุไร โมกบ้าน คริสตินา
กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ข่อย โพทะเล ปอกระสา ตะลิงปลิง โมกหลวง โมกมัน ขี้เหล็กบ้าน ตะขบฝรั่ง ตะแบก อินทนิล เสลา จามจุรี แคแสด ชมพูพันธุ์ทิพย์
กลุ่มไม้เลื้อย เหมาะกับการปลูกให้เลื้อยเป็นม่านลงมา ได้แก่ สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง พวงชมพู อัญชัน กะทกรก

บทความน่าสนใจอื่น ๆ

มะเร็งเต้านม “Breast Wellness” คู่มือป้องกันและเยียวยา

ป้องกันมะเร็งปากมดลูก กันเถอะสาวๆ ทำตามด่วน มีแต่ข้อดี

ประสบการณ์สาวออฟฟิศ ตรวจหาความเสี่ยง เพราะคุณแม่ เป็นมะเร็ง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.