หลังตัดมดลูก

วิธีรับมือซึมเศร้า หลัง ตัดมดลูก สำหรับคุณผู้หญิง

หลัง ตัดมดลูก ดูแลปัญหาสุขภาพจิตอย่างไร

คำถามจากทางบ้าน  : ฉันอายุ38 ปี  เป็นเนื้องอกที่มดลูกและเข้ารับการผ่า ตัดมดลูก ออกหมดแล้ว  โดยที่ยังไม่มีลูก  ภายหลังก็เกิดความเศร้าและรู้สึกไม่มีคุณค่า  เพราะไม่สามารถมีลูกให้ครอบครัวได้  อีกทั้งสามีก็แอบไปมีผู้หญิงอื่น  เลยอยากขอคำปรึกษาจากคุณหมอว่า  ควรทำอย่างไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น

หมอสูติตอบ

การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดทางนรีเวชที่พบมากที่สุด โดยประมาณร้อยละ 20 ของผู้หญิงอายุ55 ปีมักจะได้รับการผ่าตัดมดลูก อาการที่ต้องผ่าตัดมดลูกที่พบมากที่สุด คือ อาการตกเลือดรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รองลงมาคือ เป็นโรคมะเร็ง หรือกำลังจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูกและมะเร็งรังไข

ข้อบ่งชี้ที่ต้องตัดมดลูกที่พบมากมี6 สาเหตุ  ได้แก่

1. เป็นเนื้องอกธรรมดาของกล้ามเนื้อมดลูก (Uterine Leiomyoma)
2. มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal Uterine Bleeding)
3. มดลูกหย่อน
4. ปวดประจำเดือนมากจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
5. มีเซลล์ผิดปกติ หรือเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่
6. เป็นฝีที่ปีกมดลูกหรือรังไข่
7. เกิดภาวะแทรกซ้อนของการคลอด เช่น มดลูกไม่หดรัดตัว รกเกาะต่ำ

วิธีผ่าตัดมดลูก

มี3 วิธี คือ ผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง ผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด และผ่าตัดส่องกล้อง

ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย ข้อบ่งชี้ แตกต่างกันไป โดยจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกวีธีผ่าตัดโดยทั่วไปกรณีที่การผ่าตัดยุ่งยาก มีพังผืดในช่องท้องมาก ก้อนมีขนาดใหญ่ เคยผ่าตัดผ่านช่องท้องมาแล้วหลายครั้ง เป็นโรคมะเร็ง ฯลฯ มักจะผ่าตัดผ่านช่องท้อง แต่หากเป็นน้อย อาจเลือกผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดนานและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า การผ่าตัดผ่านช่องคลอด
ส่วนใหญ่ทำเพราะมดลูกหย่อน ซึ่งนอกจากตัดมดลูก แพทย์มักจะเย็บซ่อมกะบังลมหรือช่องคลอดที่หย่อนยานด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของการตัดมดลูก

การตัดมดลูกก็เหมือนกับการผ่าตัดใหญ่อื่น ๆ คือ ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจเกิดอันตรายจากการดมยาสลบ การฉีดยาชา และการผ่าตัดได้ สำหรับอันตรายจากการผ่าตัด พบได้ดังนี้

1. ติดเชื้อในช่องท้อง แผลติดเชื้อพบได้ร้อยละ 0.2 – 3 ของคนผ่าตัด

2. บาดเจ็บที่อวัยวะในช่องท้อง เช่น ผ่าตัดพลาดไปโดนลำไส้ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ เหตุการณ์นี้มักเกิดจากการผ่าตัดที่ยุ่งยาก มีพังผืดหรือเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบ
ประมาณร้อยละ 0.1

3. เกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Embolism) หลังผ่าตัด พบมากในชาวตะวันตก เช่น เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดหรือสมอง หลังจากผ่าตัดมดลูกหากเป็นมากอาจเสียชีวิต พบประมาณร้อยละ 0.2

4. เสียชีวิตขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด จากการเสียเลือด บาดเจ็บที่อวัยวะสำคัญ หรือภาวะแทรกซ้อน โดยมักจะเป็นการผ่าตัดมดลูกในหญิงตั้งครรภ์หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พบประมาณร้อยละ 0.05

ทำไมจึงไม่อยากตัดมดลูก

จากประสบการณ์ของหมอ พบว่า ผู้หญิงจำนวนมากไม่อยากตัดมดลูกด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น อยากมีลูกกลัวการผ่าตัด ไม่อยากมีแผลเป็นที่หน้าท้อง กลัวเกิดอันตราย กลัวสามีนอกใจ ฯลฯ สำหรับความเชื่อที่ว่า หากผ่าตัดแล้วสามีจะนอกใจไปมีคนอื่น เพราะไม่สามารถให้ความสุขทางเพศได้นั้น พบว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นไปได้ในผู้หญิงบางคน (น้อยกว่าร้อยละ 10) ด้วยการถึงจุดสุดยอดของฝ่ายหญิงนั้นจะเกิดจากการกระตุ้นปมประสาท 3 จุด ได้แก่

1. ปุ่มกระสัน (Clitoris) เป็นจุดที่สำคัญที่สุด เนื่องจากมีปมประสาทกว่า 8,000 ปม เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศ ฝ่ายหญิงก็จะถึงจุดสุดยอด เรียกว่า Clitoral Orgasm

2. ช่องคลอด  เชื่อว่าหากมีการกระตุ้นจุดจี(G Spot) ซึ่งมีปมประสาทที่อยู่ถัดมาจากปุ่มกระสันตรงผนังช่องคลอดด้านหน้า (Anterior Vagina) หลังกระเพาะปัสสาวะ กึ่งกลางระหว่างกระดูกหัวหน่าวบริเวณปากช่องคลอด ผู้หญิงร้อยละ 30 สามารถถึงจุดสุดยอดได้ เรียกว่า Vaginal Orgasm

3. มดลูก (Uterus) เนื่องจากมดลูกมีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก การกระแทกปากมดลูกโดยตรงทำให้ถึงจุดสุดยอดได้ เรียกว่า Uterine Orgasm ซึ่งจะทำให้มดลูกหดรัดตัวเป็นจังหวะ และปากมดลูกยกตัวขึ้นสูง

ดังนั้นการตัดมดลูกอาจลดการถึงจุดสุดยอดที่เกิดบริเวณมดลูกไป แต่เป็นในคนส่วนน้อย เพราะในคนส่วนใหญ่การตัดมดลูกช่วยให้มีเซ็กซ์ได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดมดลูกจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ จากเนื้อความในจดหมายที่ว่า หลังจากผ่าตัดมดลูกแล้วรู้สึกเศร้า ชีวิตไม่มีคุณค่า เพราะมีลูกไม่ได้ จากงานวิจัยพบว่า มีสองปัจจัยที่ทำให้คนตัดมดลูกเกิดภาวะเครียดหรือซึมเศร้า คือ หนึ่ง มีภาวะเครียดหรือซึมเศร้ามาก่อนและสองคือ หลังจากผ่าตัดมีปัญหาสุขภาพ ปัญหาอารมณ์ ปัญหาเรื่องเซ็กซ์ฯลฯ แต่อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

6 วิธีรับมือความเครียดหรือซึมเศร้าหลังจากผ่าตัดมดลูกมีดังนี้

1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  มองโลกในแง่บวก เช่น มองว่าไม่มีลูก ไม่มีภาระ ไม่ทำให้เด็กลำบาก

2. อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง ลองทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหรือเขียนหนังสือ เดินป่า ท่องเที่ยว

3. มองเห็นคุณค่าของตนเองดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจทำสิ่งดีๆที่เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น

4. หาวิธีลดความเครียด เช่น นั่งสมาธิ สวดมนต์ ออกกำลังกาย โยคะ เล่นดนตรี เต้นรำ ฯลฯ

5. มีที่ปรึกษา การสนทนาพูดคุยเป็นการช่วยคลายเครียด ทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆ เห็นคนที่ลำบากกว่า

6. พบแพทย์  เมื่อไม่อาจรับมือกับความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าด้วยตนเองได้

(ที่มา : คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 449)


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ผู้หญิงทำงานมีลูกอ่อน ระวังปัญหามดลูก ความผิดปกติของเต้านม

รู้จัก การตรวจมะเร็งปากมดลูกทางปัสสาวะ อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนขี้เขิน

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เรื่องดีๆ ที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.