จบปัญหา โรคอ้วน ลงพุง เพื่อหยุดสารพัดโรคที่จะตามมา

จบปัญหา โรคอ้วน ลงพุง เพื่อหยุดสารพัดโรคที่จะตามมา

โรคอ้วน ลงพุง เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป เกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ ไขมันหน้าท้องแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งจะยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ตีบ หรืออุดตัน

ในผู้หญิ งมากกว่าร้อยละ 30 และในผู้ชายมากกว่าร้อยละ 25 เป็นโรคอ้วน และถ้ารอบเอวเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 เซนติเมตร จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้มาก 3-5 เท่า

เราอ้วนหรือไม่อ้วน?

รศ.ดร.นพวรรณ เปียซื่อ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกไว้ว่า วิธีการสังเกตว่าเราอ้วนหรือไม่ ทำได้ง่ายๆ โดยการวัดส่วนสูง น้ำหนักตัว และเส้นรอบเอว แล้วนำมาพิจารณาดังนี้

น้ำหนักตัวที่เหมาะสมเทียบกับส่วนสูง

น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงเท่ากับส่วนสูง (เซนติเมตร) ลบด้วย 110 น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชายเท่ากับส่วนสูง (เซนติเมตร) ลบ 100

เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งสูง 155 เซนติเมตร น้ำหนักที่เหมาะสมคือ 155-110 = 45 กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าน้ำหนัก ปัจจุบันของคุณผู้หญิงคนนี้ มากกว่า 45 กิโลกรัม แสดงว่ามีน้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง

เทียบด้วยเส้นรอบเอว

ค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว

ค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้ชาย ไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว

ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมเส้นรอบเอว และควบคุมปริมาณไขมัน

เพราะความสมดุลของร่างกายคนเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ความไม่สมดุลของพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารและพลังงานที่ร่างกายใช้ไปในกิจกรรมต่างๆ ก็ยิ่งไม่เท่ากัน หากเรารับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็ทำให้เกิดโรคอ้วน

ในแต่ละวันร่างกายมีความต้องการพลังงานของแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ภาวะโภชนาการ และระดับกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง หรือการออกกำลังกาย ซึ่งวิธีการประมาณความต้องการพลังงานสามารถคำนวณได้ดังนี้

ความต้องการพลังงาน (แคลอรี่ต่อวัน) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)  X  30

ถ้ามีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ความต้องการพลังงานคือ 50 X 30 = 1,500 แคลอรี่ต่อวัน  นั่นคือต้องได้รับพลังงาน 1,500 แคลอรี่ต่อวัน เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ นั่นแสดงว่า ต้องรับรับประทานอาหาร 3 มื้อ มื้อละ 500 แคลอรี่

ในความเป็นจริง อาจรับประทานอาหารที่มีพลังงานค่อนข้างมากในมื้อใดมื้อหนึ่ง เช่น มื้อเช้า หรือมื้อเที่ยง และพลังงานน้อยลงในมื้อที่เหลือ

หลักสำคัญในการควบคุมสมดุลพลังงานหรือควบคุมปริมาณพลังงานทั้งวันให้เป็นไปตามที่ควรได้รับ หากได้รับพลังงานมากเกินไป จะต้องมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง หรือการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดสมดุลพลังงานได้ในที่สุด

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.