ฝังเข็ม

” การฝังเข็ม ” รักษาอาการปวดประจำเดือนตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

มารักษาอาการปวดประจำเดือนกับ ” การฝังเข็ม ” ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ที่เป็นปัญหากวนใจสำหรับผู้หญิงมากที่สุดกันเถอะ

เรามาทำความรู้จัก การฝังเข็ม ตามศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นปัญหากวนใจสำหรับผู้หญิงหลายท่าน ถ้าหากรักษาด้วยการฝังเข็มจะสามารถรักษาอาการปวดประจำเดือนได้อย่างไร

ฝังเข็ม

ทำความรู้จัก “การฝังเข็ม”

การฝังเข็ม ศาสตร์ที่ใช้รักษาโรคที่มีประวัติเป็นมาอันยาวนาน  ประมาณ 4,000 ปี  นับตั้งแต่จีนยุคโบราณ จะเห็นได้จากคัมภีร์โบราณต่างๆของชาวจีนในยุคโบราณ โดยช่าวจีนในยุคโบราณ เชื่อว่า การฝังเข็มไปยังจุดบางตำแหน่งในร่างกาย สามารถกระตุ้นเลือดและลมปราณให้ไหลเวียนได้โดยไม่ติดขัด จึงทำให้อวัยวะที่ทำงานผิดปกติไปนั้นกลับคืนสู่สภาพปกติ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็จะหายไป ซึ่งได้มีการพัฒนาและมีการวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์หลายอย่าง  ที่นำมาอธิบายผลของการรักษาด้วยการฝังเข็มได้

กระทั่งปี 1979  องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศรับรองผลการรักษา 57 โรค และสามารถแบ่งกลุ่มโรคต่างๆได้ดังต่อไปนี้ได้แก่ กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดสะบัก ปวดเข่า ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งมีรายงานว่า การฝังเข็ม ร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วยได้ดีขึ้นกว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเดียว โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Myofascial Pain) โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น ปวดประจำเดือน โรคเครียด นอนไม่หลับ

อย่างไรก็ตามผลการรักษาในแต่ละคน จะได้ผลดีไม่เท่ากัน  ซึ่งการตอบสนองต่อการฝังเข็มขึ้นกับ ระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น  พยาธิสภาพโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย  ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอ่านเอกสารอธิบายก่อนตัดสินใจรับการฝังเข็ม

อาการปวดประจำเดือนตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

อาการปวดประจำเดือน คือ ภาวะที่ขณะมีรอบเดือน ก่อนหรือหลังมีรอบเดือน เพศหญิงมีอาการปวดหน่วงหรือบีบเกร็ง หรือที่เรียกว่า อาการปวดประจำเดือน โดยจำแนกเป็นสองลักษณะใหญ่ คือ อาการปวดแบบปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ

อาการปวดแบบปฐมภูมิพบได้บ่อยทางแผนกสูตินรีเวชประมาณร้อยละ 90 ของอาการปวดประจำเดือนในเพศหญิง และระดับความรุนแรงของอาการปวดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานคิดเป็นร้อยละ 13.55 โดยจะไม่พบความผิดปกติในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ส่วนอาการปวดแบบทุติยภูมิเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์ โดยมักเกิดโรคที่มักพบได้บ่อยเมื่อมีภาวะความเครียดทางอารมณ์ เหน็ดเหนื่อย พักผ่อนน้อย อาหารการกินไม่ถูกสุขอนามัย หรือรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ตากฝน จนได้รับความเย็นเข้ากระทบมากเกินไป โดยความรุนแรงของอาการสามารถเริ่มต้นจากระดับอ่อนๆซึ่งรวมไปถึงอาการปวดเสียดชายโครง ความรู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะมาก ปวดบั้นท้ายเอว อาการปวดมักเริ่มจากบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจมีร้าวไปบริเวณหลังหรือต้นขา หากอาการหนักมาก อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน หรือคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นหมดสติได้อีกด้วย

การจำแนกกลุ่มอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีนนั้น จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การจับชีพจร และการดูที่สีลิ้น ซึ่งสามารถจำแนกอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ได้ดังนี้

กลุ่มอาการชี่ติดขัดลิ่มเลือดคั่งค้าง ก่อนหรือหลังมีประจำเดือนมีอาการปวดท้องลามไปบั้นท้ายเอว ปวดตึงกดเข็บท้องน้อย ประจำเดือนไหลไม่ค่อยคล่อง สีคล้ำมีลิ้ม

กลุ่มอาการความเย็นชื้นกระจุกตัว ขณะมีประจำเดือน ก่อนหรือหลังมีประจำเดือนปวดท้องน้อยมาก ประคบร้อนอาการปวดทุเลา หน้าซีดขาว มีเหงื่อเย็นๆออก คลื่นไส้อาเจียน ประจำเดือนมาน้อย สีคล้ำมีลิ่ม ปัสสาวะใสเยอะ

กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง ขณะมีประจำเดือน ก่อนหรือหลังมีประจำเดือนปวดท้องน้อยแต่ไม่มาก สีประจำเดือนค่อนข้างจาง ปริมาณน้อย อาจมีอาการปวดเอว ขาไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหาร อุจจาระเหลว เวียนศีรษะ ตาลายหูอื้อ ใจสั่นหายใจถี่

กลุ่มอาการความร้อนชื้นกระจุกตัว ก่อนหรือขณะมีประจำเดือนปวดท้องน้อยเหมือนโดนเข็มแทงหรือปวดตึงมาก ไม่ชอบการถูกสัมผัส ปวดเมื่อยบั้นเอว ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนข้นและมีลิ่ม ตกขาวค่อนข้างมาก สีเหลืองข้น อาจมีไข้ต่ำๆ รู้สึกหนักศีรษะหรือหนักตัว

กลุ่มอาการตับและไตพร่อง หลังมีประจำเดือน 1-2 วัน รู้สึกปวดมวนท้องน้อย ปวดไม่มากแต่ปวดตลอด ปวดร้าวบั้นท้าย มีไข้ต่ำๆ ลิ้นแดงซีด ฝ้าลิ้นบาง ชีพจรลึกและเล็ก

ฝังเข็ม

การฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือนได้อย่างไร?

ทางด้านการแพทย์สามารถใช้การฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีฤทธิ์ปรับการทำงานของฮอร์โมนเพศให้กลับสู่สภาพสมดุล กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีมดลูกและรังไข่อยู่ภายในให้ไหลเวียนดีขึ้น ลดการคั่งของเลือด และทำให้กล้ามเนื้อผนังมดลูกและรังไข่คลายตัว จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยใช้หลักการกระตุ้นเข็มแบบกึ่งบำรุงกึ่งระบาย ในกลุ่มที่มีอาการคั่งและติดขัด ใช้เข็มดอกเหมยเคาะให้เลือดออก และหากอาการเย็นพร่องจะใช้วิธีการรมยาร่วม ในกรณีผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยบั้นเอวหรือปวดหน่วงๆ หลังจากฝังเข็มแพทย์จีนจะทำการครอบแก้วรักษาร่วมด้วย

การรักษาโดยการฝังเข็ม แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กปักกระตุ้นลงจุดรับสัญญาณประสาท บริเวณแขน ขา และท้องน้อย กระตุ้นประมาณ 30 นาที โดยทั่วไปจะรักษาในช่วงก่อนประจำเดือนจะมาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งจะกระตุ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อยับยั้งมิให้เกิดอาการปวดประจำเดือนขึ้นมาหรือบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรง

โดยจำนวนเข็มและจำนวนครั้งในการฝังเข็มเพื่อรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคหรืออาการปวด หากอาการปวดมีเพียงเล็กน้อย แพทย์จะใช้วิธีฝังเข็ม 1-2 ครั้ง อาการก็จะสามารถดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากเป็นอาการปวดจากโรคร้ายแรงจะต้องใช้การรักษาด้วยวิธีการให้ยาปรับฮอร์โมน หรือผ่าตัดส่องกล้อง จึงจะถือว่าเป็นการรักษาดีที่สุด

ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาโดยการฝังเข็ม จะต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนที่จะเข้ารักการรักษาการฝังเข็ม และควรรับประทานอาหารก่อนมาเข้ารับการรักษา แต่ไม่ควรรับประทานให้อิ่มมากจนเกินไป ควรสวมเสื้อผ้าสบายๆเพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาการฝังเข็ม

โดยระหว่างการปักเข็มผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกได้ 2 แบบ คือ

  1. รู้สึกหนักๆ หน่วง ๆ ตื้อๆ ในจุดฝังเข็มในระหว่างที่เข็มปักคาอยู่
  2. รู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าแล่นแปลบๆ ไปตามเส้นลมปราณ เนื่องจากแพทย์จะปักเข็มไว้ข้างๆ เส้นประสาทบางเส้น

และเพื่อผลการรักษาที่ดี แพทย์จะปักเข็มไว้ 20-30 นาที โดยอาจกระตุ้นด้วยมือหรือด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งในระหว่างการคาเข็มนั้น ผู้ป่วยจะต้องพยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็มเพราะเข็มจะบิดอยู่ในบริเวณกล้ามเนื้อ แม้ไม่เกิดอันตรายแต่อาจทำให้ผู้เข้ารับการรักษาเจ็บมากขึ้นและอาจมีเลือดออกตอนถอนเข็มได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้บ้างเล็กน้อย แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น รู้สึกหวิวๆ หน้ามืดจะเป็นลม แน่นหน้าอก หรือหายใจไม่สะดวก ควรแจ้งแพทย์ในทันที

การรักษาหลังจากการฝังเข็ม ผู้เข้ารับการรักษาควรดื่มน้ำอุ่นหลังจากการฝังเข็ม และสำรวจร่างกายของตนบริเวณฝังเข็ม ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก มีรอยบวม รู้สึกเจ็บปวด ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบทันทีเพื่อแก้ไขให้เป็นปกติก่อนกลับบ้าน และควรงดการอาบน้ำเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากการฝังเข็ม ถ้าหากมีไข้ควรรับประทานยาลดไข้ตามปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองภายใน 1-2 วันโดยไม่มีอันตรายใดๆ

ข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม

การรักษาอาการปวประจำเดือนโดยการฝังเข็มควรรักษาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดย

ผู้ที่มีอาการหนักจะทำการรักษาทุกวัน วันละ 2 ครั้ง โดยจะคาเข็มทิ้งไว้ประมาณ 20 – 30 นาที ระหว่างคาเข็มจะกระตุ้นเข็มประมาณ 2-3ครั้ง จุดหลักใช้การกระตุ้นกึ่งบำรุงกึ่งระบาย ส่วนจุดเสริมหลักการกระตุ้น คาเข็ม จำนวนการกระตุ้นเหมือนกันกับจุดหลัก

ผู้ที่รอบเดือนมาตรงเวลา โดยก่อนประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เริ่มรับการรักษา และในผู้ที่รอบเดือนมาไม่ตรงเวลา ไม่จำเป็นต้องเข้ารับรักษาก่อน 1 สัปดาห์ และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีควรทำการรักษาทุกครั้ง ก่อนมีประจำเดือนประมาณ 3-5 วันจนถึงวันที่หมดประจำเดือน

ข้อควรระวังในการฝังเข็ม

  • ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยโรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบัน

ข้อมูลจาก ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสินแพทย์

___________________________________________

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ฝังเข็มกับแพทย์แผนจีน รักษาอาการหลากหลาย

ฝังเข็ม …ลดปวด…

ชวนรู้จัก การฝังเข็ม เพื่อความงามและต้านโรค

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.