เบาหวาน โรคเบาหวาน เข้าใจโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน มองอย่างเข้าใจ รักษาหายได้ไม่ยาก

เข้าใจโรคเบาหวาน รู้ทัน รับมือได้ รักษาหาย

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ณ ปี 2563 พบว่าเรามีผู้ป่วยเบาหวานราวๆ 5 ล้านคน  95% ของผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบันเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมาจากพฤติกรรม ในขณะที่เราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าการกินน้ำตาลมากๆ นั้นไม่ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับโรคนี้อาจจะมีมุมที่ยังคลาดเคลื่อนและจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ มาทำความ เข้าใจโรคเบาหวาน กันค่ะ

ไม่ใช่แค่พันธุกรรมแต่เป็นพฤติกรรม

แพทย์หญิงธนพร พุทธานุภาพ จากศูนย์โรคเบาหวาน โรงพยาบาลวิมุต ได้ให้ความรู้ในกรณีการส่งต่อโรคเบาหวานทางพันธุกรรมไว้ว่า นอกจากพันธุกรรมจะเพิ่มความเสี่ยงแล้ว พฤติกรรมก็สำคัญไม่แพ้กัน

“ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรเฝ้าระวังตั้งแต่แรก ยิ่งถ้ามีคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวานหลายๆคน เนื่องจากมีเบาหวานบางชนิดที่ส่งต่อทางพันธุกรรมได้ ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบบ่อย ก็มีส่วนจากพันธุกรรมบ้างแต่มักเกิดร่วมกับการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือการที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งถ้าในครอบครัวมีพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนๆกัน ก็สามารถเป็นเบาหวานกันทั้งบ้านได้”

ไม่ใช่แค่ของหวานที่กินแล้วเป็นเบาหวาน

“ต่อให้ไม่ชอบของหวานแต่ชอบรับประทานข้าว แป้ง ขนมปังเมื่อผ่านระบบการย่อยก็จะกลายเป็นน้ำตาลได้และทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหลังกินได้มาก จึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและเบาหวานได้ ส่วนอาหารไขมันสูงก็ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะในช่องท้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มซอส น้ำจิ้ม น้ำสลัด อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอกบางชนิด พวกนี้ก็มีส่วนทำให้เราได้รับพลังงานเยอะโดยไม่รู้ตัวได้ และก็อาจเป็นสาเหตุของเบาหวานได้เช่นกัน” แพทย์หญิงธนพร พุทธานุภาพ กล่าว

ตรวจเบาหวาน เข้าใจโรคเบาหวาน เบาหวาน

ไม่ใช่แค่อาหาร แต่พฤติกรรมการกินก็มีผล

“หนึ่งคือทำให้เรากินอาหารเยอะโดยไม่รู้ตัว  สองการกินไม่ตรงเวลา การข้ามมื้ออาหาร อาจทำให้เราหิวมากขึ้นและไปกินอาหารที่พลังงานสูงๆ ทดแทน เพราะเรากินไม่ตรงเวลาจนรบกวนการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ลดน้ำตาลซึ่งออกฤทธิ์ดีในช่วงเช้า ส่วนการกินจุบจิบ  การกินบุฟเฟต์  พวกนี้ก็ทำให้เราได้รับพลังานเยอะเกินความจำเป็นได้ค่ะ ในส่วนการทำ IF ถ้าคุมแคลอรี่และเลือกชนิดอาหารที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย จริงๆ แล้วช่วยป้องกันโรคเบาหวานนะคะ  แต่ในรายที่เป็นเบาหวานแล้ว หากต้องการทำIF ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และข้อควรระวังในการลดน้ำหนักทุกวิธี ก็คือเวลาน้ำหนักลดลง การเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะลดลง ฮอร์โมนที่ทำให้อิ่มก็จะลดลงด้วย ดังนั้นถ้าจะทำต้องแข็งใจแล้วทำให้ได้ต่อเนื่องค่ะ”

กิจวัตรประจำวัน ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

“กิจวัตรที่ขยับน้อยเช่น การ work from home ทำงานนั่งโต๊ะทั้งวัน หรือนอนดูซีรีส์ทั้งวัน ไม่ออกกำลังกาย พวกนี้ก็ทำให้ร่างกายใช้พลังงานและน้ำตาลน้อยลง ส่วนการนอนหลับไม่เป็นเวลา การทำงานเป็นกะ ไม่มีเวลานอนที่ชัดเจนหรือการนอนน้อย พวกนี้ก็มีส่วนต่อการเกิดเบาหวานและโรคอ้วนได้บ้างจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน โดยเฉพาะฮอร์โมนในร่างกายที่ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับเวลาก็อาจจะแปรปรวน และส่งผลต่อการเผาผลาญต่างๆ ได้”

ปรับอีกนิดให้ชีวิตยังสุขใจและไกลโรค

“พยายามเลี่ยงอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่หวานจัดเป็นประจำ อาหารพลังงานสูง  เน้นอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ใครเป็นคนที่ติดหวาน ก็ค่อยๆปรับรสชาติของอาหาร รวมถึงต้องพยายามให้มีการขยับตัวบ้างในแต่ละวัน อาจมีการตั้งนาฬิกาให้มีการขยับตัวทุก 1-2 ชม. ถ้าบ้านมีหลายชั้นก็เดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ลดการซื้ออาหาร ขนม หรือน้ำหวาน มาตุนไว้  พยายามออกไปซื้ออาหารหรือทำอาหารทานเอง และอย่าลืมการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ด้วยนะคะ ”

(ที่มา : โรงพยาบาลวิมุต)


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

6 : 6 : 1  รหัสลับ ลดเค็ม ลดหวาน ห่างไกล เบาหวาน ความดัน และอีกสารพัดโรค

โรคเบาหวาน กับความเข้าใจผิด ๆ ที่ทุกคนควรรู้ หมอตอบเอง

เคล็ดไม่ลับ ผู้ป่วยเบาหวาน กินอย่างไรให้น้ำตาลไม่ขึ้น

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.