ยานอนหลับ

ผลข้างเคียงของ ยานอนหลับ ภัยร้าย…อันตรายถึงชีวิต

ขึ้นชื่อว่า “ยานอนหลับ” นั้นย่อมจะมีผลเสียมากกว่าผลดีเสมอ แม้ว่าฤทธิ์ของมันจะทำให้เราสามารถเข้าสู่ห้วงนิทราได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นภัยร้ายต่อร่างกายในระยะยาวโดยที่เราคาดไม่ถึง

การกิน ยานอนหลับ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลเสียร้ายแรงที่สุดคือจะทำให้นอนหลับเองไม่ได้ หรือเป็นอาการดื้อยานั่นเอง และผลข้างเคียงอีกข้อหนึ่งที่เป็นอันตรายและไม่ควรเสี่ยงคือ อาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งถ้าคนไข้ไปถึงจุดนั้นแล้ว หมอจะไม่สามารถรับประกันโปรแกรมการรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้ค่ะ

ในทางกลับกันหมอไม่อยากให้ผู้อ่านกินยานอนหลับจนติดเป็นนิสัย เรามีวิธีรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่าและสามารถช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

เวลาที่กินยานอนหลับเข้าไปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาทในสมอง ร่างกายจะจดจำและตอบสนองได้ดีต่อเมื่อมียาเข้าไปช่วยกระตุ้นเท่านั้น จนร่างกายจดจำวิธีการนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลานอนปกติ ถ้าไม่มียานอนหลับเข้าไปกระตุ้นก็จะไม่เกิดการตอบสนอง คือไม่มีอาการง่วงนอนอีกเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพ

ในปัจจุบัน หมอจึงขอยืนยันว่ายังไม่มีวิธีการใดที่จะมารักษาผลข้างเคียงของการใช้ยานอนหลับให้หายขาดได้ วิธีแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ หมอแนะนำว่าควรเริ่มต้นพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงและระดับความรุนแรงของอาการ ก่อนที่ผู้อ่านจะเข้าสู่วงจรของการกินยานอนหลับจนถึงขั้นดื้อยาแล้วนั้น ควรใช้วิธีธรรมชาติในการรักษาตัวเองแบบเบื้องต้นเสียก่อนจะดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นภัยร้ายของยานอนหลับ แนะนำให้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ก่อน ดังนี้ค่ะ

ห้องนอน, ภายใน, ออกแบบ, สไตล์, ในบ้าน

สร้างสิ่งแวดล้อมในการนอน

จัดเตียงนอนที่ดี สร้างสัญญาณให้ร่างกาย

หมอแนะนำให้จัดเตียงนอนสำหรับการนอนโดยเฉพาะ เป็นการสร้างสัญญาณให้ร่างกายได้รับรู้ว่าเราไม่ควรทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเด็ดขาด เช่น ไม่ควรกินข้าว ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ หรือทำงานกับโน้ตบุ๊กบนเตียงเด็ดขาด เป็นการสร้างภาวะรบกวนเวลานอนที่ดีของ
ร่างกาย และเพื่อเป็นสัญญาณอัตโนมัติให้ร่างกายได้จดจำว่าเมื่อถึงเวลามาที่เตียงนอน เราต้องนอนหลับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การสร้างสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ ร่างกายจะจดจำว่าควรหลับพักผ่นเพียงอย่างเดียว และควรปรับพฤติกรรมการนอน คือเข้านอนให้ตรงตามเวลานาฬิกาของร่างกาย ไม่ควรงีบหลับระหว่างวัน และควรนอนต่อเมื่อง่วงเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรกดดันตัวเองเพื่อให้นอนหลับ เพราะจะกลายเป็นความวิตกกังวล และจะยิ่งทำให้การนอนหลับนั้นยากยิ่งขึ้นไปอีก

แสง ความมืด ช่วยสร้างบรรยากาศ

ได้ความมืดหรือการที่ไม่มีแสงไฟส่องกระทบสถานที่นอนจนรบกวนสายตาเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ร่างกายทราบอีกเช่นกันว่าเราควรนอนหลับได้แล้ว เมื่อไม่มีแสงไฟมารบกวนร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินออกมาเองตามธรรมชาติ

หมอขอเตือนไว้ว่า บางคนที่ชอบนอนเปิดไฟตลอดเวลานั้นไม่ดีต่อร่างกายเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าอายุมากขึ้น จะเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากมาก เราเองควรทำให้ร่างกายจดจำว่า เมื่อไม่มีแสงไฟมารบกวนหรือมีเพียงแสงสลัว ระบบของสมองจะสั่งให้หลั่งสารเมลาโทนินออกมาทำงานให้เรารู้สึกง่วงนอนทันที ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติและอีกปัจจัยหนึ่งคือควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น จัดห้องใหม่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก และกำจัดสิ่งรบกวนในบริเวณห้องเพื่อสร้างบรรยากาศ

Iphone, ไอโฟน 6, โทรทัศน์, โซเชียลทีวี

หลีกเลี่ยงโลกโซเชียล

งดกิจกรรมการใช้ Gadget ทั้งหลาย

การสร้างสัญชาตญาณที่ดีให้ร่างกายเพื่อช่วยในการนอนหลับ คือไม่ควรอยู่ในโลกโซเชียลตลอดเวลา เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กทั้งหลาย หรือไม่ควรทำงานบนเตียงนอนเด็ดขาด เพราะจออิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือประเภทนี้จะมีแสงบลูไลท์ (Blue Light) หรือแสงสีน้ำเงินที่มีความยาวคลื่นประมาณ 400 – 500 นาโนเมตร เป็นความยาวคลื่นที่สั้นที่สุด แต่ให้พลังงานมากที่สุด นอกจากจะมีอยู่ในแสงแดดแล้วก็ยังมีอยู่ในสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย ซึ่งเป็นคลื่นความยาวที่เป็นอันตรายต่อสายตา
รบกวนการนอน และส่งผลต่อระบบประสาท

ร่างกายจึงไม่หลั่งสารเมลาโทนินออกมาหรือผลิตออกมาได้น้อยลงนั่นเอง ผลคือร่างกายจะไม่รู้สึกง่วงนอน หมอจึงไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมที่ใช้ Gadget เหล่านี้บนเตียงนอนเด็ดขาด

กลิ่นบำบัด (Botanical Therapy)

มีผลการวิจัยจากหลายสถาบันบอกว่า ร่างกายมนุษย์เรามีการตอบสนองได้ดีในการรับกลิ่น ยิ่งในด้านสรีรวิทยานั้นร่างกายจะตอบสนองได้ดีจากการสูดดมและส่งผลดีทางจิตวิทยาอีกด้วย รวมถึงกลิ่นต่าง ๆ นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณสมบัติพิเศษ ถ้านำมา
ใช้จะช่วยให้การนอนหลับง่ายขึ้น

กลิ่นบำบัดดีต่อระบบประสาทสัมผัส ปลุกประสาทการรับรู้ของร่างกาย เช่น ในกลุ่มลาเวนเดอร์ (Lavender) มะกรูด (Bergamot) แฟรงกินเซนส์ (Frankincense) และเจอเรเนียม (Geranium) ทั้ง 4 กลิ่นนี้มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นสารกาบา (Gaba) ในสมอง และช่วยกระตุ้นเซลล์สมองส่วนใน ทำให้รู้สึกสงบผ่อนคลาย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ เพราะช่วยให้เรารู้สึกง่วงและอยากนอนมากยิ่งขึ้น

สมุนไพร ขวัญใจคนนอนไม่หลับตลอดกาล

ใช้เป็นชาชงดื่ม

การดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอนจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกอบอุ่น สงบ หมอแนะนำให้ชงชาสมุนไพรดื่มก่อนนอน สมุนไพรหลายชนิดนั้นมีฤทธิ์กล่อมประสาทอย่างอ่อน สามารถผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย ร่างกายจะรู้สึกสงบ เกิดความสมดุล ส่งผลให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

หมอแนะนำสมุนไพรในกลุ่มลาเวนเดอร์ กลุ่มคาโมมายล์ และกลุ่มเลมอนบาล์ม โดยสามกลุ่มนี้มีสรรพคุณช่วยให้สมองสงบ และหลั่งสารเมลาโทนินออกมา หรือพืชในแถบตะวันออก กลุ่ม Cat Knit ดอกเสาวรส (Passion Flower) ฮอปฟลาเวอร์ (Hop Flower) พืชจำพวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทอย่างอ่อน ช่วยเรื่องการผ่อนคลายได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นิยมใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเครียดจนนอนไม่หลับ

สรุปได้ว่า การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับนั้นควรใช้วิธีแก้ไขหลายวิธีและเสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมของร่างกาย และควรลดความตึงเครียดระหว่างวันลงบ้าง ควรปล่อยวางบางเรื่องหรือคิดในแง่บวกเสมอ เปลี่ยนมุมมองชีวิต มองหาความสุขง่าย ๆ รอบตัวเรา

ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับไม่เกิน 1 สัปดาห์หรือมีอาการเพียงแค่บางช่วงที่มีปัจจัยอื่นมากระทบและไม่ได้มีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง สามารถดูแลตนเองให้ผ่านพ้นภาวะนี้ได้ด้วยวิธีการเบื้องต้นที่หมอแนะนำค่ะ

แต่สำหรับผู้ที่นอนไม่หลับจนถึงขั้นต้องกินยานอนหลับเป็นประจำทุกวันแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อเข้าโปรแกรมรักษาตามลำดับขั้นตอนเพื่อลดระดับยาที่กินจะดีกว่า


เรื่อง ดร.ณิชมน สมันตรัฐ เรียบเรียง ฤทัยรัตน์ ภาพ iStock

ชีวจิต 

บทความน่าสนใจอื่นๆ

นอนไม่หลับแบบไหน ควรพบจิตแพทย์

7 สาเหตุนอนไม่หลับและเคล็ดลับแก้ไข

จัดห้องนอนช่วยนอนหลับดี (BEDROOM FOR BEST SLEEP)

เป็นคนนอนไม่หลับ ไม่อยากกินยา แก้ได้บ้างไหม 



банки россии сайты

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.