กลืนลำบาก สำลักบ่อย

กลืนลำบาก สำลักบ่อย อันตรายในผู้สูงอายุ

กลืนลำบาก สำลักบ่อย อันตรายในผู้สูงอายุ

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ ความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น ความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร ความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน หรือโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ก็ทำให้การกลืนอาหารทำได้ยากขึ้นเช่นกัน

สาเหตุของการกลืนลำบากในผู้สูงอายุมักมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น

โดยในผู้สูงอายุที่มีภาวะหรือโรคต่างๆ เหล่านี้จะพบภาวะกลืนลำบากได้สูงถึง 50-75% และพบว่ามีภาวะสำลักเงียบร่วมตามมาด้วยได้ถึง 40 – 70 % ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมา และหากผู้สูงอายุมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อแล้ว จะพบมีภาวะสำลักเงียบสูงขึ้นไปถึง 71% ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่าในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จะพบอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%

คนแก่สำลักบ่อย

การสังเกตผู้สูงอายุ กับปัญหาการกลืน

-ไอหรือสำลักเวลากลืนอาหาร

-ต้องตัดแบ่งอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถกลืนได้ตามปกติ

-ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพราะทำให้สำลัก

-เสียงแหบ เสียงพร่า หลังจากกลืนอาหารลงไป

-รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก

-น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ

-พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลง

กลืนลำบาก

อาการเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของภาวะกลืนลำบาก ซึ่งทำให้การรับประทานอาหารมีความปลอดภัยลดลง มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากโครงสร้างของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร รวมถึงกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถของการกลืนลดลงจนแสดงอาการต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ภาวะบาดเจ็บทางสมอง ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรคที่มีพยาธิสภาพของโครงสร้างที่เกี่ยวกับการกลืน ควรได้รับการประเมินและรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อส่งเสริมความสามารถในการกลืนให้มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก ทั้งนี้ ภาวะกลืนลำบากส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนี้

กลืนลำบาก ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุอย่างไร

ทางร่างกาย : ผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเพราะกลัวการสำลักหรือรู้สึกว่ากลืนลำบาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ขาดสารอาหาร น้ำหนักลด ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อในปอดและระบบทางเดินหายใจจากการสำลักน้ำหรืออาหาร

ทางสังคมและจิตใจ : ผู้ป่วยมักมีความกังวลในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ทำให้ออกห่างจากสังคมเริ่มรับประทานอาหารคนเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หดหู่ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่อยากอาหาร ยิ่งส่งผลให้สุขภาพโดยรวมทรุดโทรมลงไปอีก

แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานช้าลง ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเรื่องเล็กๆ แค่สำลักก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรือผู้สูงอายุบางรายสำลักมากๆ จน เกิดความกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงคนไข้บางโรคที่มักสำลักน้ำลายหรือเสมหะ แล้วเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอาการหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ แค่ “สำลัก” ในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำลายทั้งสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงตามมา

ปัญหาการกลืน

การปฏิบัติของคนไข้และผู้ดูแล

-ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ควรแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ

-ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดื่มน้ำช้าๆ ตั้งใจกลืน ไม่ดูทีวีหรือพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร

-จัดท่าทางในการรับประทานอาหาร โดยนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงท่านอน และไม่ควรนอนทันทีหลังอาหารทุกมื้อ หรือเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในกรณีที่คนไข้ติดเตียง ให้ยกศีรษะคนไข้ขึ้นอย่างน้อย 45 องศา เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด

-ควรทำความสะอาดช่องปากก่อน และหลังอาหารทุกมื้อ โดยทำความสะอาดฟัน ฟันปลอม เหงือก อาจใช้สำลีชุบน้ำเช็ด กวาดลิ้น เป็นประจำ เพื่อช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในช่องปาก และป้องกันการติดเชื้อจากการสำลัก

การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อผู้สูงอายุสำลัก

-หยุดรับประทานอาหารทันที

-จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ

-นำอาหาร หรือฟันปลอม ที่อยู่ในปากออกให้หมด

-ไม่ควรทำการล้วงคอเด็ดขาด

-ในกรณีที่มีอาการ เหนื่อยหอบ หายใจหิวอากาศ หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์ทันที

การสำลักในผู้สูงอายุ อย่ามองว่า แค่ “สำลัก” หรือเป็นเพียงเรื่องเล็กที่มองข้ามได้ เพราะแม้สำลักเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หมั่นสังเกตการสำลักในผู้สูงอายุ เพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น และพบแพทย์ทันที

ข้อมูลประกอบจาก: รพ. สุขุมวิท และ รพ.สมิติเวช

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ภาวะสำลักอาหารในผู้สูงอายุ คืออีกสิ่งที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก้ อาการสำลัก ก่อนหมดสติ

การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องสำคัญ

 

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.