โรคตาแห้ง

โรคตาแห้ง เกิดจากพฤติกรรมการใช้สายตาระยะกลางและระยะใกล้ต่อเนื่อง

แพทย์หญิงภัศรา จงขจรพงษ์ สาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการเป็น โรคตาแห้ง เกิดจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่บังคับให้ต้องใช้สายตาระยะกลางและระยะใกล้ต่อเนื่อง

ดวงตา, ขนตา, คิ้ว, ใกล้ชิด

โรคตาแห้ง

ส่งผลให้กะพริบตาน้อยลงถึง 3 เท่าจากปกติ ซึ่งคนทั่วไปจะกะพริบตานาทีละ 8 – 12 ครั้ง เมื่อใช้สายตาระยะใกล้และเพ่งมองจอต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นนี้ จึงเหลือการกะพริบตาเฉลี่ยเพียงนาทีละ 4 ครั้ง ทำให้น้ำตาในดวงตาระเหยออก ดวงตาขาดความชุ่มชื้น และเกิดปัญหาตาแห้งตามมา

นอกจากนี้การนั่งทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็มักนั่งในห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศน้อย บวกกับแสงจ้าจากจอคอมพิวเตอร์ ยิ่งส่งผลให้ตาแห้งได้ง่ายมากกว่าปกติ เมื่อบวกกับปัจจัยอื่น เช่น นั่งทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง โดยไม่พักเลย หรือแม้หมดเวลาทำงานแล้ว แต่ไปใช้แท็บเล็ตกับโทรศัพท์ขยายเวลาในการใช้สายตาออกไป ย่อมเพิ่มโอกาสการเกิดโรคตาแห้งได้มากขึ้น

แล็ปท็อป, ผู้หญิง, การศึกษา, ศึกษา

แพทย์หญิงภัศราระบุว่า หากไม่ปรับพฤติกรรม ยังใช้งานดวงตาในสภาวะเดิม ๆ จะยิ่งกระตุ้นให้เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ถ้าตาแห้งมาก ๆ กระจกตาอาจถลอก เป็นแผล และเกิดการติดเชื้อง่าย การรักษา แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมและใช้น้ำตาเทียมหยอดตา โดยสามารถใช้หยอดตาทุก 1 – 2 ชั่วโมง ขณะที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่ได้ใช้สายตาระยะใกล้ หยอดได้ทุก 4 – 6 ชั่วโมง หรือหยอดตามอาการเมื่อรู้สึกว่าตาแห้ง ถ้ามีอาการตาแห้ง เช่น แสบเคืองตา ให้กะพริบตาบ่อยขึ้น เพื่อกวาดน้ำตา
มาเคลือบผิวตา

วิธีที่ดีที่สุดคือ จัดตารางเวลาเพื่อพักสายตาทุก 1 – 2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งให้พักประมาณ 5 นาที โดยการหลับตาหรือมองไปที่ไกล ๆ เพื่อลดการเกร็งกล้ามเนื้อตา กรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ ต้องปรับท่านั่งให้เหมาะสม เว้นระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอ 20 – 24 นิ้ว และใช้ขนาดหน้าจอตั้งแต่ 19 นิ้วขึ้นไป เมื่อใช้หน้าจอขนาดใหญ่ ในการทำงานย่อมช่วยให้ไม่ต้องเพ่งสายตาและเกร็งกล้ามเนื้อตา
มากเกินไปที่สำคัญ ไม่ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างมาก เพราะจะรบกวนการมองจอคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ
ตามากกว่าปกติ

สุดท้าย ควรเลือกใช้หน้าจอที่ลดแสงสีฟ้าหรือติดแผ่นกรองแสงที่หน้าจอ นอกจากนี้การสวมแว่นตาที่ช่วยลดแสงสีฟ้า จะช่วยถนอมสายตาได้อีกระดับหนึ่ง

นอกจากการใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ ผู้ที่มีภาวะตาแห้งยังพบในกลุ่มอื่น ๆ อีก ได้แก่

  • ผู้ป่วยมีโรคบางอย่าง เช่น Sjogren’s Syndrome หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่โรคมีการทำลายเซลล์ของต่อมน้ำตา
  • ผู้ที่อยู่ในวัยทอง เพราะมีการเปลีี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • ผู้ที่ใช้ยาบางอย่าง ยาหยอดตาบางชนิด การกินยาที่ทำให้การสร้างน้ำตาลดลง
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของเปลือกตาหรือเส้นประสาทมาเลี้ยงเปลือกตา ทำให้หลับตาไม่สนิท มีการกะพริบตาผิดปกติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคทางระบบเส้นประสาทและสมองที่อาจมีการดึงรั้งของเปลือกตา ทำให้ขนตาผิดทิศ งอกทิ่มลงเข้าตาตัวเองได้ เป็นต้น
  • ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีลมแรง อากาศแห้งต่อเนื่อง

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพ iStock

ชีวจิต 535 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 23 16 มกราคม 2564

บทความน่าสนใจอื่นๆ

ว่าด้วยดวงตา กับการ ติดเชื้อโควิด-19 ดูแลอย่างไรดี

ระวัง 4 โรคต้อ ทำร้ายดวงตา ป้องกันอย่างไร มาดูกัน

4 สูตรชาแก้ปัญหาดวงตา คนติดจอ

โรคติดเชื้อที่ดวงตา จาก คอนแท็คท์เลนส์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.