ปวดศีรษะครึ่งซีก

“ปวดหัวข้างเดียว” บ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเฉพาะของไมเกรน

“ปวดหัวข้างเดียว” บ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเฉพาะของไมเกรน

ปวดหัวข้างเดียว หรือปวดศีรษะครึ่งซีก เป็นอาการของ “โรคไมเกรน (MIGRAINE)” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกวัยโดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องมาจากปัจจัยรอบตัวทั้งแสงจากจอคอมพิวเตอร์ หรือความเครียดจากการทำงาน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยการพักผ่อนและการทานยา แต่หากละเลยการดูแลตนเองอาจทำให้อาการหนักขึ้นเกินกว่าจะรักษา หรือบรรเทาอาการลงได้

ไมเกรนเกิดจากอะไร

อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนเป็นผลมาจากระบบไฟฟ้าบริเวณพื้นผิวสมองเกิดความผิดปกติ เป็นผลให้เกิดการกระตุ้นได้ง่าย และการกระตุ้นนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือด และระบบประสาทของสมองเกิดความผิดปกติ อาการเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เรารู้สึกได้ผ่านอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวได้อีกด้วย ได้แก่

-การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนหลับมากเกินไป

-สภาวะความเครียด

-การดื่มแอลกอฮอล์, คาเฟอีน และสูบบุหรี่มากเกินไป

-การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในเพศหญิง

-ถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น มีแสง กลิ่น หรือเสียงมากเกินไป

ไมเกรน

 ปวดศีรษะแบบไหนถึงเป็นไมเกรน

หลายคนอาจสับสนเนื่องจากอาการปวดศีรษะมีอยู่หลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมีความหมายที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าอาการปวดแบบไมเกรนนั้นย่อมมีความเฉพาะอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้

-ปวดศีรษะครึ่งซีก (ปวดข้างเดียว) สามารถสลับข้างใดข้างหนึ่งไปมาได้

-อาการปวดจะอยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป การเดิน หรือการขึ้นบันไดสามารถทำให้ปวดมากขึ้นได้

-การปวดจะเป็นลักษณะคล้ายจังหวะของชีพจร หรือที่เราเรียกกันว่าปวดแบบ “ตุบ ๆ”

-โดยปกติอาการปวดจะอยู่ได้ราว 4 – 72 ชั่วโมง หากไม่ทำการรักษา

จากอาการที่กล่าวมาผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน ไม่ต้องการเจอแสงจ้า หรือกลิ่นเหม็น เป็นต้น ซึ่งการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแบบมีสัญญาณเตือน (Migraine with aura) คือมีปัญหาด้านการมองเห็น มือแขน และปากชา กับอีกประเภทคือแบบไม่มีสัญญาณเตือน (Migraine without aura) ซึ่งพบได้มากกว่าแบบแรก

อาการปวดศีรษะแบบไมเกรน

การดูแลตนเองเบื้องต้น

1.การนอนพักในห้องที่มืด เย็น และเงียบ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเช่น แสง เสียง และความร้อน

2.งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

3.ใช้ยาลดไข้แก้ปวด หรือยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ได้

4.ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน ควรใช้ยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มมีอาการหากอาการไม่ดีขึ้น หรือใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์

5.ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนที่ปวดถี่มากกว่า 3-4 ครั้งต่อเดือนจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลาลงควรพบแพทย์เพื่อปรับการรักษา

ลองสังเกตตัวเองดูนะคะ และหากพบว่ามีอาการดังกล่าว และมีข้อสงสัยควรพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง เพราะหากกินยาผิดโรค อาจจะมีอาการหนักมากขึ้นนอกจากจะปวดหัวไม่หายแล้ว อาจได้รับผลกระทบจากยาจนอถึงแก่ชีวิตได้

ที่มา: โรงพยาบาลเพชรเวช

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ปวดไมเกรน ระวังเส้นเลือดสมองให้ดี!

Check! หลายโรคของแถมจาก “ไมเกรน”

ปวดหัวไมเกรน รักษาได้ ไม่ต้องพึ่งยา

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.