ไทย 1 ใน 5 ชาติที่เปิดประเทศ ให้ ปชช. ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด ให้ได้

เราต้องรอด ไทยเป็น 1 ใน 5 ชาติที่เปิดประเทศ ให้ประชาชน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด ให้ได้

เพราะดูท่าทีแล้ว โควิด 19 ยังไม่จบลงง่ายๆ สถานการณ์การระบาดในทั่วโลกยังคงไม่สามารถควบคุมได้ และยืดเยื้อมายาวนานกว่า 18 เดือน จึงเริ่มมีบางประเทศที่ตัดสินใจที่จะเปิดประเทศ และหวังว่าจะปรับตัวให้ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด ให้ได้

แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังไม่เป็นไปตามเป้า แต่บางประเทศมองว่าการปิดประเทศคุมเข้ม ไม่คุ้มค่ากับผลประโยชน์หรือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เสียไป

และนี่คือ 5 ประเทศที่น่าจับตาว่า การวางกลยุทธ์ใหม่ ให้ใช้ชีวิตร่วมกับการระบาดของโควิด-19 จะออกมาเป็นเช่นไร

เดนมาร์ก : ประเทศที่ประกาศมาตรการป้องกันล่วงหน้า

รัฐบาลเดนมาร์ก ได้ยกเลิกมาตรการคุมเข้มโรคโควิด-19 ทั้งหมดในประเทศเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าโรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นอาการป่วยที่คุกคาม หรือก่อวิกฤติให้แก่สังคมอีกต่อไป

ชาวเดนมาร์กในเวลานี้สามารถที่จะเข้าไนต์คลับ และร้านอาหารโดยที่ไม่ต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตอีก สามารถที่จะเดินทางในระบบขนส่งมวลชนโดยไม่ต้องสวมหน้ากาก และยังสามารถรวมตัวกันจำนวนมากได้ ราวกับการใช้ชีวิตปกติก่อนที่จะเกิดการระบาด

หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศเดนมาร์กประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคได้ ก็คือการกระจายวัคซีน โดยจนถึงวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีชาวเดนมาร์กมากกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบโดสแล้ว

นายแมคนัส ฮิวนิเก รัฐมนตรีสาธารณสุขเดนมาร์ก ได้ทวีตข้อความระบุว่าอัตราการแพร่ระบาดในปัจจุบันอยู่ที่ 0.7 ซึ่งหมายความว่าการแพร่ระบาดได้ลดลงต่อเนื่อง แต่หากเมื่อใดที่อัตราการแพร่ระบาด หรือ R-rate อยู่เกินกว่า 1.0 แสดงว่ามีแนวโน้มที่การติดเชื้อในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่หากอยู่ต่ำกว่า 1.0 จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะลดลงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนับว่าวัคซีนและชาวเดนมาร์กได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้การระบาดลดลง ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเป็นไปได้ด้วยดี แต่การระบาดก็ยังคงมีอยู่ และรัฐบาลเดนมาร์กจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรับมืออย่างรวดเร็ว หากมีการระบาดลุกลามในประเทศอีกครั้ง

สิงคโปร์ : พยายามที่จะอยู่กับโควิด แต่เชื้อกลายพันธุ์เดลตาทำให้แย่ลง

รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่ากำลังเตรียมแผนที่จะเดินหน้าใช้กลยุทธ์อยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยพยายามที่จะควบคุมการระบาดด้วยวัคซีน และควบคุมดูแลการเข้ารักษาพยาบาล มากกว่าที่จะเข้มงวดกับการใช้ชีวิตของประชาชน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสิงคโปร์ ชี้ว่า ข่าวร้ายสำหรับทุกคนคือโควิด-19 จะไม่มีวันหายไป แต่ข่าวดีก็คือทุกคนสามารถที่จะใช้ชีวิตตามปกติได้โดยอยู่ร่วมกับมัน

โดยขณะนี้ทางการสิงคโปร์ได้คลายมาตรการบางอย่างลงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยให้คนที่ได้รับวัคซีนครบแล้วสามารถรับประทานอาหารในร้านอาหาร และรวมกลุ่มกันได้ 5 คน จากเดิมที่รวมตัวกันได้เพียง 2 คน

แต่การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงในระยะนี้ จากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ก็ทำให้กลยุทธ์นี้ถูกกระแสกดดัน จนทางการต้องตัดสินใจระงับการเปิดประเทศอีกรอบ และยังมีการพิจารณาด้วยว่าจำเป็นจะต้องนำมาตรการคุมเข้มโควิด-19 กลับมาอีกครั้งหรือไม่ โดยอาจจะต้องมีการติดตามรอยโรคอย่างแข็งกร้าว เพื่อจำกัดวงคลัสเตอร์ต่างๆ รวมทั้งบังคับตรวจหาเชื้อสำหรับคนงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หากยังไม่สามารถสกัดการระบาดลงได้ โดยเมื่อไม่นานมานี้สิงคโปร์เพิ่งจะมียอดติดเชื้อทำสถิติสูงสุดในวันเดียว แต่นับว่ายังดีที่ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากผลของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยมีประชากรมากถึง 81 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

ประเทศไทย : การกระจายวัคซีนยังล่าช้า แต่จะเดินหน้าเปิดประเทศ

ประเทศไทยกำลังเตรียมแผนที่จะเปิดกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนหน้า เพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ แม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น ต่างจากในปี 2020 ที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่า

ภายใต้การเปิดประเทศดังกล่าว นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องรับวัคซีนครบโดสแล้ว และต้องผ่านการตรวจเชื้อก่อนอนุญาตให้เข้ามายังกรุงเทพฯ หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ได้

โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดภูเก็ตได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เดินทางเข้ามาได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมแล้ว โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมไทยก็ใช้แนวทางเดียวกันนี้กับเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า โดยเรียกชื่อโครงการว่า สมุยพลัส

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรไทย ยังถือว่าเดินหน้าไปได้อย่างล่าช้า ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยจนถึงวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีประชากรเพียงร้อยละ 18 ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่อีก 21 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนโดสแรก

แอฟริกาใต้ : ผ่อนคลายมาตรการ แต่เดลตายังเป็นภัยคุกคาม

ประเทศแอฟริกาใต้เริ่มที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 หลายอย่าง หลังจากอัตราการติดเชื้อในประเทศลดลง ในบรรดามาตรการข้างต้น มีการลดระยะเวลาเคอร์ฟิวลง โดยยังคงเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 23.00 ไปจนถึง 04.00 น. ขณะที่อนุญาตให้มีการรวมตัวกันได้มากขึ้น โดยสามารถรวมตัวกันในอาคารได้ถึง 250 คน และกลางแจ้งได้ถึง 500 คน ขณะที่มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในการจำหน่ายแอลกอฮอล์ลงเช่นกัน

การผ่อนคลายมาตรการนี้เป็นไปตามประกาศของประธานาธิบดี ไซริล รามาโฟซา หลังจากที่แอฟริกาใต้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างที่เข้มงวดแบบสุดขั้ว โดยได้สั่งห้ามการรวมตัวกันทุกประเภท เว้นเพียงแค่งานศพเท่านั้น ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำแอฟริกายังคงย้ำเตือนว่า การระบาดระลอก 3 ที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์เดลตายังไม่สิ้นสุด พร้อมยืนยันว่าในเวลานี้ประเทศแอฟริกาใต้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ และมีประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า 1 ส่วน 4 ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส โดยนายรามาโฟซาได้เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนไปฉีดวัคซีน และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อและให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ชิลี : อัตราการฉีดวัคซีนสูง หมายถึง สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้

ชิลีนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชากร โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีประชากรเกือบ 87 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

โดยขณะนี้ชิลีได้เริ่มการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขได้อนุมัติใช้วัคซีนซิโนแวคจากจีน และเริ่มฉีดให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา รัฐบาลชิลีก็ประกาศจะเดินหน้าเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนพอดี โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้าไปยังชิลีหากทำตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะยังคงต้องกักตัวอีก 5 วันหลังจากเดินทางถึง โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวจะถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยว และคาดว่าจะสามารถเดินหน้าแนวทางนี้ไปได้อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีต่อไป.

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.