โรคผู้สูงอายุ

4 โรคที่วัยสูงอายุควรระวัง

4 โรคที่วัยสูงอายุควรระวัง

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแน่นอนว่าร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป และอาจถดถอยลงไม่เหมือนตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น ร่างกายของเราอาจเปิดทางให้โรคต่าง ๆ เข้ามาหาเราได้ง่ายขึ้นหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละโรคถือว่าเป็นโรคที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคทางสมอง โรคหัวใจ และโรคทางกระดูกนั่นเอง

วันนี้เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า 4 โรคหลักๆ ที่วัยสูงอายุควรระวังวันนั้นมีอะไรบ้าง

โรคมะเร็งในผู้สูงอายุ

โรคร้ายชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะของร่างกาย และยิ่งหากเครือญาติมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ก็อาจจะส่งผลให้เรามีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่เรามีอายุมากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอความเสี่ยงก็จะยิ่งตามมาเช่นกัน ซึ่งหลัก ๆ แล้วโรคมะเร็งมักมีสาเหตุในการเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่

-สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สารพิษในอากาศ รังสี หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้ก่อเกิดเชื้อมะเร็ง

-พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ ทานของติดมัน อาหารปิ้งย่าง เป็นต้น

-สภาวะทางร่างกาย ซึ่งบางสภาวะมีส่วนในการกระตุ้นเชื้อมะเร็งโดยเฉพาะสภาวะอารมณ์ เช่น ความเครียดสะสม เป็นต้น

โรคที่วัยสูงอายุควรระวัง

เราสามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออกในการรักษาโรคนี้ได้หาก หากอยู่ในระยะแรกๆ และเชื้อมะเร็งยังไม่ลุกลามหนัก อย่างไรก็ตามการจะรู้ตัวได้นั้นถือว่าทำได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคนี้มักแสดงออกมาเมื่อเชื้อมีการลุกลามไปแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีที่สุดในการหาเชื้อมะเร็ง นอกจากนี้โรคนี้ยังมีวิธีการป้องกันอื่น ๆ ด้วย เช่น

เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หากต้องการหนีห่างจากโรคมะเร็งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินถือเป็นสิ่งสำคัญเราควรงดของปิ้งย่าง ของติดมัน และอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ทานผักผลไม้มากขึ้นก็สามารถช่วยป้องกันมะเร็งได้แล้ว

ระวังสิ่งแวดล้อม ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ของเชื้อโรค และคอยระวังมลพิษในอากาศง่าย ๆ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการดูแลความสะอาดของอาหาร และร่างกายอยู่ตลอดเวลา

 โรคทางสมองกับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงการเกิดโรคทางสมองมากขึ้น ซึ่งมีหลัก ๆ อยู่ 2 โรค คือโรคสโตรก หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก (STROKE) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ซึ่งมีสาเหตุในการโรคทั้งสอง ดังนี้

โรคสโตรก เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น และการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย และไม่ทานอาหารที่มีประโยชน์

โรคอัลไซเมอร์ มักเกิดจากอายุที่มากขึ้น และความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ และสามารถเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

โรคมะเร็งในผู้สูงอายุ

ตรวจสุขภาพอยู่เสมอ

ผลที่เกิดขึ้นกับโรคทางสมองนั้นมีความรุนแรง และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตโดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้นการป้องกันโรคทางสมองอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ถึงแม้หลายโรคทางสมองอาจเกิดตามอายุ และพันธุกรรม แต่การป้องกันไว้ให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ และควรทำ ได้แก่

การตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพเป็นทางเลือกที่จะทำให้เราได้รู้จักร่างกายของตนเอง หากมีโรคร้ายจะสามารถรู้ทันและรักษาได้ก่อน รวมถึงโรคทางสมองด้วยนั่นเอง

ระวังโรคที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคทางสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

พฤติกรรมในชีวิตประวัน เป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว คือ การออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารและ พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

โรคหัวใจความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม

โรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากไม่ว่าจะเป็นเพศไหน และวัยไหนก็ตาม ในส่วนของผู้สูงอายุยิ่งต้องคอยดูแล และคอยป้องกันให้ห่างจากโรคนี้มากขึ้นเพื่อความปลอดภัยจนถึงที่สุด เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคบางปัจจัยเราไม่สามารถที่จะควบคุมได้นั่นเอง ซึ่งปัจจัย และสาเหตุการเกิดโรคนี้จะเกิดขึ้นตามชนิดของโรคหัวใจแต่ละชนิด แต่สาเหตุที่เกิดขึ้นร่วมกันก็มีอยู่ด้วยกันหลายประการ ได้แก่

-พันธุกรรม และอายุที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

– ความดันโลหิตที่สูงขึ้น

-ระดับน้ำตาลในร่างกายที่มากจนเกินไป

– มีความเครียดสะสม

หากเราไม่สามารถควบคุมสาเหตุในการเกิดโรคหัวใจบางประการได้ แน่นอนว่าเราควรที่จะต้องหันมาใส่ใจเรื่องการป้องกันโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น ได้แก่

พยายามลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนชื่นชอบ

ควบคุมความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดมากขึ้น

ทานอาหารประเภท ธัญพืช ผัก และผลไม้ ลดการทานไขมัน โซเดียม และน้ำตาล

ตรวจสุขภาพที่เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ เช่น การทำ EST หรือ ECHO เป็นต้น

 โรคทางกระดูกปัญหาคู่วัยสูงอายุ

หนึ่งในความถดถอย และความเสื่อมสภาพที่ร่างกายของผู้สูงอายุต้องพบเจอ และเห็นได้อย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้นโรคที่เกี่ยวกับกระดูก หากปล่อยไว้อาการและโรคเหล่านี้จะสามารถส่งผลได้โดยตรงกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว โดยโรคกระดูกที่ผู้สูงอายุเสี่ยง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และ โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Ostoearthritis) ซึ่งสาเหตุเกิดได้จาก

โรคหัวใจ

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดได้จากอายุที่เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ใช้ข้อเข่ามากเกินไป น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อข้อเข่า และการเป็นโรคที่ส่งผลกับเข่า เช่น โรคเกาท์ และอาการอักเสบของเข่า เป็นต้น

โรคกระดูกพรุน ผู้หญิงจะเสี่ยงมากที่สุดหลังหมดประจำเดือน หรือการที่ร่างกายขาดแคลเซียม และวิตามิน ฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ออกกำลังกายอย่างหักโหม และการดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เป็นต้น

หากมองภาพผู้สูงวัยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกจนเคลื่อนไหวลำบาก หรือในระดับรุนแรงที่สุดอาจจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ คงจะน่ากลัวไม่ใช่น้อย ดังนั้นแล้วเราจึงควรดูแล และป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบพอประมาณ

ทานอาหารที่เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เช่น วิตามินซีและดีในผักผลไม้ รวมถึงกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปลาทะเล

ตรวจสุขภาพกระดูก โดยเฉพาะข้อเข่าเมื่อมีข้อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง

 ผู้สูงอายุจะหลีกเลี่ยงโรคร้ายเหล่านี้ได้อย่างไร

โรคร้ายที่มีความเสี่ยงมาก มีอันตรายมาก และมีผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ แต่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างหนึ่งเลยว่าแนวทางป้องกันที่ถูกต้อง และมีเหมือนกันทุกโรคคือ “การตรวจสุขภาพ” เนื่องจากในปัจจุบันการตรวจสุขภาพมีโปรแกรมให้เลือกหลากหลายตามความต้องการในแต่ละโรค ดังนั้นหากเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุแล้ว การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถขาดได้ในการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจรุมเร้าเข้ามา

ผู้สูงอายุอาจต้องพบเจอความเสี่ยง แต่การใช้ชีวิตต่อไปนั้นก็มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุเอง และบุคคลรอบๆ ตัว หากสามารถที่จะลดความเสี่ยงโรคได้นั้น เชื่อเราเถอะว่าการตรวจสุขภาพ ควบคู่กับการดูแลตนเองจะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลโรคร้าย และอยู่กับคนที่ตนรักได้นานยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลเพชรเวช

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

โรคพาร์กินสัน อาการสั่นที่ไม่ควรมองข้าม

รู้ทัน…ป้องกันอาการเข่าเสื่อมในผู้สูงวัย

เรียนรู้หลากวิธี…ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.