ช่องปากสะอาดได้ไม่ยากด้วย ฟลูออไรด์ ป้องกันผุ

ช่องปากสะอาดได้ไม่ยากด้วย ฟลูออไรด์ ป้องกันผุ ดีอย่างไร ใช้แบบไหน เรามีคำตอบ

ใครที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน วันนี้เราขอแนะนำให้คุณมาทำความรู้จักกับ ฟลูออไรด์ ตัวช่วยดีๆ ที่ ป้องกันผุ เพราะหลายคนเคยประสบพบเจอกับปัญหาอาการปวดฟัน ว่าแล้วเรามาจัดการกับปัญหากัน

สิ่งหนึ่งที่คุณหมอจะต้องคอยบอกและเตือนเป็นประจำทุกครั้งเมื่อไปตรวจฟัน นั่นก็คือ การป้องกันฟันผุ เมื่อพูดถึงการป้องกันฟันผุ ก็จะนึกถึง “ฟลูออไรด์” กันอย่างแน่นอน แล้วทราบหรือไม่ว่า “ฟลูออไรด์” มีกี่ชนิด และมีวิธีการใช้อย่างไร

ฟลูออไรด์

เป็นสารที่ใช้ในการป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกันได้ทั้งฟันที่ยังไม่ขึ้นมาในช่องปาก และฟันที่ขึ้นในช่องปากแล้ว ชนิดของฟลูออไรด์ที่นำมาใช้ในทางทันตกรรมนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน

2. ฟลูออไรด์เฉพาะที่

ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน

ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน อาจเป็นฟลูออไรด์ที่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ทราบ เพราะสามารถพบฟลูออไรด์ได้ในน้ำดื่ม หรือ น้ำประปา ซึ่งข้อมูลรายงานจากต่างประเทศส่วนใหญ่ มักแสดงให้เห็นว่า มีการเติมฟลูออไรด์ลงไปในน้ำดื่ม ซึ่งให้ผลดีต่อประชากรในประเทศ

แต่ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน ยังมีอีกในรูปแบบอื่นๆ ที่มักพบส่วนใหญ่ ได้แก่

1. ฟลูออไรด์ชนิดเม็ด

2. ฟลูออไรด์ชนิดน้ำ

ซึ่งถือเป็นฟลูออไรด์เสริม ในประเทศไทยเราเอง สามารถพบฟลูออไรด์ได้ทั้ง 2 ชนิด

แต่ฟลูออไรด์ชนิดน้ำ มักเป็นฟลูออไรด์ผสมวิตามิน ซึ่งทันตแพทย์จะทำการจ่ายฟลูออไรด์เสริมชนิดนี้ ให้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 16 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขนาดของฟลูออไรด์เสริมที่เด็กควรได้รับ จะขึ้นอยู่กับปริมาณของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และปัจจัยในเรื่องอายุของเด็ก

ทันตแพทย์จะเป็นผู้ทำการสั่งจ่ายฟลูออไรด์ชนิดนี้ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หากเด็กได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไป ก็อาจมีผลเสียต่อฟันของเด็กได้ เช่น เกิดฟันตกกระ เป็นต้น

ฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่

ฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. ฟลูออไรด์ที่ทันตแพทย์เคลือบให้ในเด็กปกติ ซึ่งมักได้ยินกันว่า ควรได้รับการเคลือบฟลูออไรด์ทุกๆ 6 เดือน แต่ในบางกรณี เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย ทันตแพทย์จึงอาจพิจารณาเพิ่มความถี่ในการเคลือบฟลูออไรด์ให้บ่อยขึ้น

2. ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟัน หรือ น้ำยาบ้วนปาก ซึ่งยาสีฟันที่ใช้กัน และหาซื้อได้ตามท้องตลาด มีฟลูออไรด์อยู่ที่ 1,000 ถึง 1,500 ส่วนในล้านส่วน ยาสีฟันสำหรับเด็กมีปริมาณฟลูออไรด์ต่ำกว่า 1,000 ส่วนในล้านส่วน
ซึ่งในเด็กเล็ก ผู้ปกครอง ควรดูแลเรื่องปริมาณยาสีฟันที่เด็กใช้ ให้มีขนาดเท่ากับเม็ดถั่วเขียว หรือเพียงแตะๆ แปรงสีฟันเท่านั้น เพราะถ้าเด็กกลืนยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ทุกๆ วัน ทำให้ได้รับปริมาณที่มากเกินไป จนอาจเกิดอาการฟันตกกระ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เตรียมตัวก่อนผ่าตัด ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ฟื้นตัวไว ไม่ติดเชื้อ

มัดผมแล้วปวดหัว อาการของคนผมยาว

COLOR THERAPY ใช้สีปรับใจ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.