โรคไต

มังสวิรัติ ตัวช่วยผู้ป่วย โรคไต

รู้หรือไม่ ยิ่งป่วยเป็น โรคไต ยิ่งควรกินมังสวิรัติ

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและคอลัมนิสต์ชื่อดัง มีเรื่องราวสุขภาพดีๆ มาฝากเสมอ โดยเฉพาะเรื่องสนุกเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับเรา “คนชอบกินผัก” …วันนี้ก็เช่นกันค่ะ มาดูแล “ไต” ด้วยการกินผักกัน

เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เพื่อนของผมคนหนึ่ง เธอเป็นลูกกตัญญู ต้องดูแลคุณพ่อที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง

เธอเลิกทำงาน หันมาทำอาหารสุขภาพให้คุณพ่อกิน แต่เนื่องจากเรียนมาทางบัญชี เธอจึงไม่ค่อยมีความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรังมากนัก อาศัยอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ของพวกฮาร์ดคอร์สุขภาพแล้วทำตาม

เพื่อนถามผมถึงหลักในการทำอาหารให้คนไข้โรคไต ผมตอบสั้นๆ ว่า กินอะไรก็ได้แต่อย่าให้ได้รับปริมาณโปรตีนมากเกินไปก็แล้วกัน เพราะความเชื่อของแพทย์ ณ ตอนนั้นมีอยู่ว่า คนไข้โรคไตเรื้อรังต้องจำกัดปริมาณโปรตีน และเน้นให้กินโปรตีนจากสัตว์ เพราะถือว่า เป็นโปรตีนคุณภาพสูง โปรตีนจากพืชอย่าง ถั่ว ข้าวกล้อง ถือเป็นของแสลงสำหรับคนไข้โรคไตเรื้อรังถึงขนาดห้ามกินเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำ กินแล้วจะเป็นภาระให้ไตต้องขับทิ้ง ซึ่งผมก็ไม่ได้อธิบายให้เพื่อนฟังในประเด็นโปรตีนคุณภาพสูง – ต่ำหรือเป็นพืชเป็นสัตว์

มังสวิรัติ

เวลาผ่านไปหลายปี วันหนึ่งเพื่อนพาคุณพ่อมาหาผม เพื่อรักษาแผลที่เท้าจากอุบัติเหตุ ผมถามว่า คุณทำอะไรให้คุณพ่อกินบ้าง เธอตอบว่า ให้คุณพ่อกินอาหารมังสวิรัติอย่างเข้มข้น ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย ผมได้ยินแล้วทำตาโต นึกในใจว่า

“เวร..”

เห็นผมทำตาโต เธอจึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นานๆ จึงจะให้กินปลาสักครั้ง วันไหนได้กินปลา คุณพ่อจะดีใจมาก แต่ที่ผมทำตาโตเพราะตกใจว่า ตัวเองแนะนำข้อมูลไม่ละเอียด คนไข้จึงไปปฏิบัติตัวเสียสุดโต่ง คือกินมังสวิรัติโน่นเลย

ผมขอดูผลตรวจค่าการทำงานของไตซึ่งสมัยนั้นใช้ค่าครีเอตินิน(Creatinine)หรือซีอาร์(Cr) เป็นตัววัด โดยทุกหกเดือนเธอต้องพาพ่อไปหาหมอไตครั้งหนึ่งเพื่อเจาะเลือดหาค่าซีอาร์ แล้วจดบันทึกไว้ทุกครั้ง

เธอยื่นค่าซีอาร์ที่จดไว้เป็นตารางให้ดู คราวนี้ผมต้องเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ เพราะค่าการทำงานของไตของคุณพ่อเธอดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่ได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพแบบห้วนๆ ของผมครั้งแรก ค่าซีอาร์วัดได้ 3.4 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แล้วก็ค่อยๆ ลดลงในสามปีที่ต่อมาเหลือแค่ 1.4 ซึ่งเป็นระดับเกือบปกติแล้ว ผมดูแล้วได้แต่อมยิ้ม นึกในใจว่า ที่โจ๊กฝรั่งเล่าว่า หากอยากสุขภาพแข็งแรงให้ทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่หมอบอกนั้น น่าจะเป็นความจริง

คลิกหน้าถัดไป

เวลาผ่านไปนาน ผมลืมเรื่องคุณพ่อของเพื่อนคนนี้ไปแล้ว กระทั่งไม่กี่วันมานี้ได้อ่านเจอผลการสำรวจสุขภาพประชาชนของประเทศสหรัฐอเมริกา (NHANES-III) ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมโรคไตอเมริกันฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ที่ติดตามเรื่องอาหาร การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยเฉพาะจำนวน 1,065 คน โดยติดตามผลอย่างต่อเนื่อง 6-8 ปีขึ้นไป

พบว่า กลุ่มคนไข้โรคไตเรื้อรังที่กินโปรตีนจากสัตว์เป็นหลักมีอัตราการเสียชีวิต 59.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนไข้ที่กินอาหารมังสวิรัติซึ่งได้รับโปรตีนจากพืชเป็นหลักมีอัตราการเสียชีวิต 11.1 เปอร์เซ็นต์ โดยที่แม้จะแยกปัจจัยรบกวนเช่น อายุมาก สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโรคร่วม อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ได้รับแคลอรีปริมาณมากเกินออกไปแล้ว ก็ยังเห็นความแตกต่างของอัตราการเสียชีวิตที่ชัดเจนอยู่ดี

กล่าวคือ ถ้าคนไข้โรคไตเรื้อรังกินเนื้อสัตว์จะพบอัตราการเสียชีวิตสูง ถ้ากินแต่พืชอัตราการเสียชีวิตต่ำ นี่เป็นหลักฐานที่สำรวจกับคนจริงๆ ซึ่งถือว่า เป็นหลักฐานระดับสูง มีความน่าเชื่อถือกว่าความเชื่อดั้งเดิมของวงการแพทย์ที่ได้มาจากการตั้งสมมุติฐาน (แปลไทยให้เป็นไทยก็คือการเดาเอา) ว่าโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนคุณภาพสูงกินแล้วจะดีกับไต โปรตีนจากพืชเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำกินแล้วไตจะยิ่งแย่
ส่วนความกลัวอาหารมังสวิรัติโดยเฉพาะถั่วในหมู่แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคไตมีสาเหตุอีกอย่างหนึ่งนอกจากประเด็นคุณภาพของโปรตีนแล้ว คือความกลัวการคั่งของฟอสฟอรัสหรือฟอสเฟตในร่างกายผู้ป่วย เพราะผลวิเคราะห์ในห้องแล็บพบว่า ถั่วและนัทมีฟอสเฟตมาก วงการแพทย์จึงเชื่อกันมานานว่า คนเป็นโรคไตกินถั่วและนัทแล้วจะมีฟอสเฟตคั่ง จึงไม่ยอมให้คนไข้โรคไตกินถั่วและนัท แต่ว่าความกลัวนี้เป็นความกลัวที่ไม่มีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงเลย

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ของจริงคือ มีงานวิจัยในคนซึ่งจะช่วยตอบคำถามนี้ งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารคลินิกสมาคมโรคไตอเมริกัน (CJASN) มีวิธีโดยแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม ในช่วงแรกให้คนทั้งสองกลุ่มกินอาหารคนละชนิดคือ กลุ่มหนึ่งกินโปรตีนจากสัตว์ อีกกลุ่มหนึ่งกินโปรตีนจากพืช จากนั้นช่วงที่สองให้สลับกัน (Cross Over) คือแต่ละกลุ่มสลับไปกินอาหารของกลุ่มตรงข้าม แล้วเจาะเลือดเพื่อดูผลในระหว่างทดลอง

สรุปผลว่า การกินโปรตีนน้ำหนักเท่ากัน กลุ่มที่กินโปรตีนจากพืชเป็นหลัก จะมีระดับฟอสเฟตในเลือดและในปัสสาวะต่ำกว่าอีกกลุ่ม ทั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะโปรตีนจากพืชอยู่ในรูปของไฟเตท (Phytate) ซึ่งดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้น้อย อีกอย่างหนึ่งเมื่อวิเคราะห์สัดส่วนฟอสเฟตต่อโปรตีนในอาหารแล้วพบว่า อาหารพืชมีสัดส่วนฟอสเฟตต่อโปรตีนต่ำกว่าเนื้อสัตว์ แต่ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรบ้าง ผลที่รู้แน่ชัดแล้วก็คือ คนไข้โรคไตเรื้อรังกินอาหารโปรตีนจากพืชจะดีกว่าโปรตีนจากสัตว์ในแง่ที่ลดการคั่งของฟอสเฟตได้ดีกว่า
            สรุปข่าวสารสำหรับนำกลับบ้านวันนี้ก็คือ คนไข้โรคไตเรื้อรัง กินอาหารพืชเป็นหลักดีกว่าสัตว์ (เนื้อนม ไข่ ไก่ ปลา) นี่เป็นข่าวสารที่อาจจะแตกต่างจากที่คุณเคยได้ยินได้ฟังมา แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์ ณ วันนี้สรุปได้ว่าอย่างนี้จริงๆครับ

เรื่อง “มังสวิรัติ ตัวช่วยผู้ป่วย โรคไต ” จากคอลัมน์ Wellness Class ตีพิพม์ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 426

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.