ฉีดวัคซีน วัคซีน ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคหัวใจ

วัคซีนผู้สูงอายุ มีอะไรบ้างที่ต้องฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง

วัคซีนผู้สูงอายุ มีอะไรบ้างที่ต้องฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง

วัคซีนผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง หลายคนอาจคิดว่า วัคซีนนั้นมีแค่เด็กๆ เท่านั้นที่ต้องใช้ แต่ความจริงแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น วัคซีนต่างๆ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน ส่วนจะมีอะไรบ้าง เรามีบทความดีๆ จาก ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกต่อ

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปยังสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี  พ.ศ.  2564  จึงจำเป็นที่เราควรหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้ท่านมีความสุข ปราศจากโรคภัยและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนวัยหนุ่มสาว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย รวมถึงมีการติดเชื้อรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล  ซึ่งแท้จริงแล้วโรคติดเชื้อบางอย่าง สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน  แม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100  เปอร์เซ็นต์  แต่การได้รับวัคซีนจะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการเกิดโรค  ลดความรุนแรงของโรค  ประหยัดค่ารักษาพยาบาล จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนรับรู้ว่า  วัคซีนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเด็กเท่านั้น ผู้สูงอายุก็มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวัคซีน 4 ชนิดที่จำเป็นในผู้สูงอายุ ได้แก่

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

ผู้สูงอายุที่เป็นไข้หวัดใหญ่  อาจเกิดหลอดลมอักเสบและปอดบวม หรือบางรายมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หากอาการรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

คำแนะนำ

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 1 เข็ม ทุกปี

วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม

โรคปวดบวมเป็นสาเหตุอันดับต้น  ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต โรคปอดบวมมีสาเหตุสำคัญจากเชื้อนิวโมค็อกคัส  ซึ่งอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

คำแนะนำ

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม ตามด้วยชนิด23 สายพันธุ์ 1 เข็ม ห่างกัน 1 ปี38

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสตามแนวเส้นประสาท  อาจมีภาวะแทรกซ้อนคือ  ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง

คำแนะนำ

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 เข็ม เพียงครั้งเดียว

วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน

หากเกิดแผลในผู้สูงอายุจะมีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักได้ง่าย  ทำให้เกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง  หายใจลำบาก  โรคคอตีบที่รุนแรงทำให้หายใจลำบาก  ทั้งโรคบาดทะยักและคอตีบหากมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ และโรคไอกรนทำให้ไอต่อเนื่องอย่างรุนแรง

คำแนะนำ

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน 1 เข็ม และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ ทุก 10 ปี

บทความอื่นที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.