ความปลอดภัยในห้องน้ำ

สร้างห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย ความปลอดภัยต้องมาเป็นที่หนึ่ง

สร้างห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย ความปลอดภัยต้องมาเป็นที่หนึ่ง

ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประสบปัญหาในเรื่องการมองเห็นมากที่สุด รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยอุบัติเหตุที่เกิดบ่อยที่สุดคือ “การหกล้มภายในห้องน้ำ”

เพราะส่วนใหญ่อุบัติเหตุภายในบ้านที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยมักเกิดขึ้นในห้องน้ำมากกว่าห้องอื่นๆ เนื่องจาก ห้องน้ำ มักจะลื่น เปียกและมีขนาดเล็กทำให้ผู้สูงอายุใช้งานไม่สะดวกสบาย ต้องระมัดระวังในการใช้งาน วันนี้เราจึงนำหลักการในการสร้างห้องน้ำให้เหมาะกับผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ

ประตูเป็นบานเลื่อน

เปลี่ยนประตูเป็นบานเลื่อนให้สามารถเปิดขณะนั่งรถวีลแชร์ได้โดยง่าย

เริ่มจากประตูห้องน้ำ หากเป็นไปได้ควรเปลี่ยนมาใช้ประตูบานเลื่อนที่มีความกว้าง 1.15 เมตร การเปิดด้วยบานเลื่อนจะสามารถเปิดขณะนั่งรถวีลแชร์ได้โดยง่าย ซึ่งทำให้สามารถเข็นเข้าออกได้สะดวก และปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้ประตูบานเลื่อนมีน้ำหนักเบา ปลอดภัย ระบบปิดไม่กระแทก ราวจับประตูถนัดมือและเปลี่ยนมาใช้ระบบล็อคแบบคันโยก ที่ทำให้ใช้งานได้สะดวก ออกแรงน้อยและมีระบบปลดล็อคจากภายนอกได้ เพื่อป้องกันกรณีเกิดอุบัติเหตุใด ๆ จะสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีอีกด้วย

ติดฟังก์ชันเสริมปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสม

ติดฟังก์ชันเสริม ปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสม เช่น ราวจับกันลื่น พยุงข้างชักโครก ราวจับในห้องน้ำ

ควรติดตั้งราวพยุงตัวในพื้นที่ทางเดินและพื้นที่ต่างระดับ เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยได้ยึดจับเดินและลุก-นั่งอย่างมั่นใจ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ บริเวณที่ติดตั้ง ได้แก่ จุดที่มีการเปลี่ยนระดับต้องก้าวขึ้น-ลง บริเวณข้างโถสุขภัณฑ์ ข้างที่นั่งอาบน้ำ เพื่อช่วยพยุงตัวในการลุกขึ้นยืน โดยระยะติดตั้งควรเหมาะสมกับระยะร่างกายของผู้สูงวัยและไม่ติดตั้งห่างจากสุขภัณฑ์จนเกินไปเพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการติดตั้งด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้รับน้ำหนักได้อย่างมั่นคงแข็งแรง และไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้งานภายหลัง

การจัดอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่ใช้บ่อยๆ ให้อยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ง่ายและหยิบใช้ได้สะดวก เพื่อลดความสับสนจากการหาสิ่งของ เช่น ภายในห้องอาบน้ำควรจัดให้มีอุปกรณ์ที่ใช้ประจำ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ ให้ประจำอยู่บริเวณอ่างล้างหน้า เป็นต้น

ในส่วนพื้นที่อาบน้ำจัดให้มีเก้าอี้นั่งอาบน้ำที่มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มง่าย ให้ผู้สูงวัยนั่งอาบน้ำแทนการยืนอาบน้ำ เพื่อลดอุบัติเหตุหากหน้ามืดขณะยืนอาบน้ำ

ปรับพื้นที่ที่มีความต่างระดับกัน

ปรับพื้นที่ที่มีความต่างระดับกัน เพื่อให้เห็นความต่างระดับของพื้นได้ชัดเจนขึ้น

ในห้องน้ำมักมีปัญหา การลด Step พื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้งานของรถเข็น หรือการก้าวเดินของผู้สูงวัย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการสะดุดหกล้ม จึงควรมีการแก้ไขพื้นที่ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นให้ระดับเรียบเสมอกัน แต่ไม่ลื่น โดยใช้รางระบายน้ำกั้นระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้ง หรือกรณีไม่สามารถปรับระดับพื้นได้ แนะนำให้ใช้เทปติดกันลื่น ชนิดกันน้ำติดบริเวณพื้นต่างระดับ เพื่อให้เห็นความต่างระดับของพื้นได้ชัดเจนขึ้น

พื้นผิวต้องไม่ลื่น

พื้นผิวต้องไม่ลื่น กระเบื้องควรมีค่าความฝืดสูง

โดยทั่วไปพื้นห้องน้ำจำเป็นต้องปูด้วยกระเบื้องเซรามิก ปัจจุบันมีกระเบื้องออกแบบมาสำหรับการใช้บริเวณพื้นที่ที่ต้องเปียกน้ำ มีค่าความฝืดสูง เพื่อไม่ให้ลื่นล้ม พื้นส่วนแห้งและส่วนเปียกควรทำให้มีระดับเดียวกัน โดยใช้ตะแกรงกันน้ำบริเวณหน้าประตู และกั้นระหว่างส่วนเปียก-ส่วนแห้ง แทนการเปลี่ยนระดับหรือใช้ขอบกันน้ำ พื้นห้องน้ำส่วนเปียกกับส่วนแห้ง ควรเลือกใช้กระเบื้องที่มีค่า R10 (ค่า R หรือ Ramp คือค่าความหนืดหรือค่ากันลื่นของพื้นผิวของกระเบื้อง) ทั้งนี้ควรมีการเปลี่ยนสีหรือลายที่แตกต่างสำหรับโซนเปียกและโซนแห้ง เพื่อให้เห็นได้ชัด และควรเลือกสีของกระเบื้องพื้นที่มีความแตกต่างกับผนังและชุดสุขภัณฑ์อย่างชัดเจนอีกด้วย

ลูก ๆ หรือหลาน ๆ อาจต้องออกแบบห้องน้ำใหม่หรือปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้นด้วยหากติดตั้งครบถ้วนตามนี้ ก็สบายใจหายห่วงได้เปลาะหนึ่งว่าคุณพ่อ-คุณแม่และผู้สูงอายุจะได้รับความปลอดภัยในการใช้ห้องน้ำ หรือถ้ามีอุบัติเหตุไม่คาดคิดเราก็สามารถมาช่วยได้อย่างรวดเร็วค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

การกลั้นปัสสาวะลำบากในผู้สูงวัย หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ

“NEW NORMAL ” ชีวิตวิถีใหม่ของ สว. ที่จะเปลี่ยนไปในหลายๆ ด้าน

เรื่องนี้เพื่อวัยเก๋า…ใช้ชีวิตในห้องน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ!

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.