โรคไตวาย

“ไตวายเฉียบพลัน” อาจหายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือนหลังมีอาการ

“ไตวายเฉียบพลัน” อาจหายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือนหลังมีอาการ

อาการไตวายเฉียบพลัน ที่มักเกิดขึ้นผู้ป่วยมักจะมีอาการปัสสาวะออกน้อย ขาบวม หนังตาบวม แต่มีข้อมูลดีๆ มาบอกค่ะว่า อาการของโรค ไตวายเฉียบพลัน นี้ อาจหายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือนหลังมีอาการ

อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า โรคไตวาย คือการที่ไตทั้งสองข้างสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง

ไตวายเฉียบพลัน

คือการที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเป็นวันถึงสัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อยลง ซึ่งในกรณีรุนแรงจะออกน้อยกว่า 500 มิลลิลิตรต่อวัน รวมทั้งอาจมีปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีฟองคล้ายฟองสบู่ สีขุ่นหรือสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ บวมบริเวณใบหน้าหรือหนังตาทั้ง 2 ข้างหลังตื่นนอน ซึ่งมักจะค่อย ๆ ยุบลงในช่วงบ่าย พร้อมกับไปบวมกดบุ๋มที่ขาทั้ง 2 ข้างแทน โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ คือการบวมจากไตวายจะไม่มีอาการปวด แดงหรือร้อนร่วมด้วย เพราะการบวมนี้เกิดจากการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากการอักเสบของข้อหรือผิวหนัง

ไตวายเฉียบพลัน

สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน

ได้แก่ ภาวะช็อคจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น หัวใจล้มเหลว ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการที่ร่างกายสูญเสียสารน้ำปริมาณมาก เช่น การตกเลือด ท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง หรือเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการได้รับยาที่มีผลเสียต่อไต ที่พบบ่อยคือยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร เช่น ตะไครเครือ เห็ดหลินจือ ปอกะบิด ตลอดจนอาหารบางชนิด หากบริโภคมากอาจทำให้ไตวายได้ เช่น ลูกเนียงดิบ น้ำมะเฟือง ผักปวยเล้ง โกฐน้ำเต้า ตะลิงปลิง แครนเบอรี่ เป็นต้น

ไตวายเรื้อรัง

ในขณะที่ไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตทั้งสองข้างทำงานเสื่อมลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตรวจพบไตทำงานเสื่อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งการที่ไตเสื่อมลงช้า ๆ นี้ทำให้อาการแสดงในช่วงแรกไม่เด่นชัดเหมือนไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้าทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการที่ต้องสงสัยว่าอาจมีภาวะไตวายเรื้อรังคือ อ่อนเพลีย ซีดลง เบื่ออาหาร คันตามตัว ผิวแห้ง ปัสสาวะกลางคืนบ่อย หรือเกิน 2 ครั้งต่อคืน โดยถ้าเป็นรุนแรงแล้วจะมีอาการคล้ายภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วย

ภาวะไตวายเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อไตเสียหายเป็นเวลานานจนเกิดพังผืดในไต คล้ายแผลเป็นจำนวนมาก การรักษาจึงทำได้แค่เพียงชะลอการเสื่อมของไตให้เข้าสู่ระยะที่ต้องฟอกไตให้ช้าที่สุด ในขณะที่ไตวายเฉียบพลันอาจสามารถรักษาให้หายขาดและฟี้นฟูการทำงานของไตให้กลับเป็นปกติได้ หากมาพบแพทย์โดยเร็วหรืออย่างช้าไม่เกิน 3 เดือนหลังเริ่มมีอาการ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เกิน 3 เดือน โดยไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคไตเรื้อรังได้เช่นกัน

สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน

“ไตวายเฉียบพลัน”  หายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือน

ส่วนที่บอกว่า “ไตวายเฉียบพลัน”  อาจหายขาดได้หากมาพบแพทย์ภายใน 3 เดือน ทาง แพทย์หญิงอำไพวรรณ รุ่งบรรณพันธุ์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเวชธานี บอกว่า หลังมีอาการ สำหรับการวินิฉัยภาวะไตวาย ทางคุณหมอจะใช้การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อประเมินว่าเป็นไตวายชนิดไหน และมีระดับการทำงานของไตเหลืออยู่เท่าไหร่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาหากเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมระยะสุดท้ายแล้ว แพทย์จะพิจารณาบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์

หรือการล้างไตทางช่องท้อง โดยจะต้องเปลี่ยนน้ำยา 4 ครั้งต่อวัน ทั้ง 2 วิธีผู้ป่วยจะต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเพราะยังไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้ไตที่เสียหายกลับมาทำงานได้เป็นปกติ แต่หากได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพื่อทดแทนไตเดิมก็สามารถหยุดฟอกไตได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวกว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีอื่นอีกด้วย

การดูแลตนเองของผู้ป่วยควรทำอย่างไร

การดูแลตนเองของผู้ป่วย ที่อาจจะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นไตวายในระยะต้น การดูแลตนเองที่ดีจะช่วยให้โรคไตของท่านเสื่อมสมรรถภาพอย่างช้า การพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นหัวใจสำคัญ ส่วนเรื่องของอาหารเค็ม จะขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน เช่น คนไข้บางคนอาจจะรับประทานเค็มได้ คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง มีอาการบวมก็จะต้องงดอาหารเค็ม

ทำไมไตวาย

ถ้าท่านพบว่าเป็นโรคบางชนิดที่มีโอกาสไตวายเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ การรับประทานอาหารโปรตีนที่น้อยลง การไม่ซื้อยารับประทานเอง จะช่วยให้ไตของท่านเสื่อมสภาพได้ช้าที่สุด

สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด และขอเน้นว่า โรคไตกับโรคไตวายเรื้อรัง ไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจว่า เมื่อเป็นโรคไตแล้ว ตนเองก็จะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อท่านทราบว่า ท่านเป็นโรคไตก็อย่าพึ่งตกใจ สอบถามให้แน่ชัดกับแพทย์ที่ท่านรักษาด้วย ว่าท่านเป็นโรคไตชนิดใด โรคไตนั้นมีมากมากหลายชนิด บางอย่างรักษาหายขาด บางอย่างจะต้องติดตามการรักษาไปโดยตลอด ไม่จำเป็นว่าเป็นโรคไตแล้วจะเป็นไตวายเรื้อรังเสมอไป

ข้อมูลประกอบจาก: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเวชธานี

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

กินเค็มเยอะ ระวังได้มากกว่าโรคไต

กรวยไตอักเสบ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

“ไตวายเฉียบพลัน” โรคร้ายที่เกิดแบบไม่ทันตั้งตัว

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.