รักษาคนโกหก

รักษาคนโกหก จากสมองป่วยและนิสัยส่วนตัว ด้วยวิธีง่าย ๆ

จะว่าไปคนที่ชอบโกหก มันเป็นโรคหรือนี่ วันนี้เรามีวิธีง่าย ๆ รักษาคนโกหก จากสมองป่วยและนิสัยส่วนตัว มาให้ทำความเข้าใจกันค่ะ

รักษาคนโกหก

Q : คนชอบโกหก โกหกแทบจะทุกเรื่อง ไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ใครรู้ และมักระแวงคนรอบข้าง ท่าทางภายนอกดูปกติดี แต่เมื่อสนิท ได้พูดคุย พบว่าไม่เคยยอมรับผิด และมักโยนความผิดให้ผู้อื่นเสมอ บางครั้งเหมือนเขาสะกดจิตตนเองจนเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองโกหกเป็นเรื่องจริง แบบนี้เรียกว่าเป็นโรคทางจิตหรือไม่ และถ้าเป็นจะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

A : การพูดโกหกเกิดจากหลายสาเหตุ

หนึ่งคือ เป็นจากโรคทางสมองและทางร่างกายบางชนิด ทำให้สมองมีความผิดปกติในการรับรู้ และการเก็บข้อมูลที่ครบถ้วน จึงมีอาการพูดไม่ตรงกับความจริงโดยไม่เจตนา หรือเกิดจากโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น โรคหลงผิด คนกลุ่มนี้เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีที่เกี่ยวกับความคิดในสมอง ทำให้หลงผิด ความคิดจะบิดเบือนจากความเป็นจริงไปเอง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่เขาเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ

หรือเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน คนกลุ่มนี้ไม่ได้ตั้งใจโกหกเช่นกัน แต่เกิดจากสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เสียสมดุล ทำให้เขามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกหรือลบเกินความเป็นจริง เป็นไปตามอารมณ์ที่ขึ้นหรือลงของเขา เช่น ถ้าอยู่ในช่วงขั้วอารมณ์คึกคัก เขาจะรู้สึกมั่นใจตนเองเกินจริง จะพูดถึงตนเองดีเกินจริง หรือถ้าอยู่ในขั้วเศร้า เขาจะขาดความมั่นใจ พูดถึงตนเองในแง่มุมที่แย่เกินความเป็นจริง และเมื่ออารมณ์กลับมาเป็นปกติ พฤติกรรมการพูดไม่ตรงกับความจริงก็จะหายไป

“คนกลุ่มนี้เขาไม่ได้ตั้งใจโกหก

แต่เกิดจากความผิดปกติ

ของสารเคมีที่เกี่ยวกับความคิดในสมอง”

อีกหนึ่งสาเหตุ เกิดจากปัญหาด้านบุคลิกภาพบางชนิด หรือที่เรียกว่าเป็นนิสัย ดังนี้ คือชอบพูดเท็จจนเป็นนิสัย ซึ่งมักพบได้กับคนที่ชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูดีเสมอ ไม่ชอบให้ตนดูแย่ในสายตาของคนอื่น ไม่ชอบรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

หรือเกิดจากอุปนิสัยที่ชอบแก้ตัว คือไม่กล้ายอมรับว่าตนเองผิด คนกลุมนี้ไม่ใช่แค่โกหกคนอื่นเท่านั้นจริง ๆ เขาเองก็โกหกตนเองด้วย เพราะจิตใจเขาไม่สามารถยอมรับได้ว่าตนเองก็สามารถทำผิดได้

หรือเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวขี้กังวลจนไม่กล้ารับความจริงบางอย่างที่ตนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ
ลงไป ไม่มั่นใจว่าตนจะมีความสามารถในการจัดการปัญหานั้นได้จึงโกหกเพื่อหลบเลี่ยงปัญหา

คนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่ค่อยมีศีลธรรมประกอบด้วย จึงทำให้ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องนี้เพื่อเอาตัวรอด

ถ้าคนที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจเลย อาจพูดโกหกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อหลอกลวง โดยคนกลุ่มนี้ อาจพูดโกหกโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจใด ๆ หรือไม่รู้สึกผิด ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมโกหกสม่ำเสมอ ด้านหนึ่งเขาจะระแวงใจอยู่เรื่อย ๆ ว่าคนจะจับได้ ทำให้ต้องโกหกต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อซ่อนความผิด และพอโกหกไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตนดูดี บางทีก็ติดภาพความดูดีที่ตนสร้างขึ้นมานั้นไปด้วย ทำให้เกิดอาการหลงเชื่อคำโกหกที่ตนสร้างขึ้นมาว่าเป็นเรื่องจริง

คน, นักเรียน, มหาวิทยาลัย

วิธีรักษา
การรักษาในทางการแพทย์

  1. เริ่มจากการประเมินก่อนว่า สาเหตุของพฤติกรรมโกหกเกิดจากอะไร เกิดจากความเจ็บป่วยทางสมอง ทางร่างกาย ทางโรคจิตเวช หรือเป็นจากปัญหาบุคลิกภาพ เมื่อทราบสาเหตุแล้วดำเนินการรักษากันตามสาเหตุ
  2. การรักษาด้วยยา คือ การใช้ยาที่ช่วยรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ เช่น เกิดจากโรคทางสมอง เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคหลงผิด หรือโรคอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
  3. การรักษาทางจิตใจ สำหรับผู้ที่โกหกเพราะมีปัญหาทางจิตใจ
    3.1 ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจที่มาในจิตใจก่อนว่า – ต้องโกหกบ่อย ๆ เพราะอะไร – ไม่กล้าพูดความจริงเพราะอะไร
    3.2 จากนั้นค่อย ๆ ปรับวิธีคิดและมุมมอง จากเดิมที่มองว่าถ้าพูดความจริงจะเกิดสิ่งไม่ดีบางอย่างเลยเลือกพูดโกหก ให้เข้าใจ
    ใหม่ว่า การพูดความจริง ผลที่ตามมาอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดและช่วยให้เห็นข้อดีที่เกิดจากการพูดความจริง
  4. สำหรับผู้ที่โกหกจากปัญหาบุคลิกภาพ ควรส่งเสริมให้เขาเห็นคุณค่าในตนเอง จะทำให้เขาเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เขามีศักยภาพพอที่จะ
    เผชิญกับความจริงนั้น ๆ และดูแลตนเองได้ จะช่วยให้เขาเกิดความกล้าเผชิญความจริงได้มากขึ้น หรือเขามีดีพอที่จะมีคนชอบเขา ไม่ต้องสร้างภาพสวย ๆ แต่ปลอม ๆ หลอกคนอื่น และที่สำคัญทำให้เขารู้สึกได้ว่า คนอื่นจะชอบเขาหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเขารู้สึกชอบตัวเอง

ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่รู้สึกยังไม่ดี แทนที่จะสร้างภาพหลอกคนอื่น เขาสามารถพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นได้ และให้ภูมิใจในความพยายามพัฒนาปรับปรุงตัวเอง มากกว่าที่จะไปมุ่งสนใจแต่ผลสำเร็จจากความชื่นชมของคนอื่น

แม้บางครั้งความจริงไม่สวยหรูเท่าการโกหก แต่มีคุณค่ามากกว่าเสมอ เปรียบเช่นดอกไม้สดย่อมงดงาม และชวนประทับใจกว่าดอกไม้
ประดิษฐ์ และการฝึกฝนยอมรับความจริง ฝึกพูดความจริง เป็นการสร้างความเข้มแข็งที่แท้จริงให้กับจิตใจของผู้พูด

ถ้าใครที่มักติดจะพูดโกหก เพื่อเอาตัวรอดหรือให้ตัวเองดูดี ลองลด ละ เลิกบ้างนะคะ แล้วจะพบว่าชีวิตเราดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเราจะรักและรู้สึกดีกับตนเองมากขึ้น

และเราจะมีความเข้มแข็งและมั่นคงขึ้นอย่างแท้จริงจากภายในจิตใจค่ะ

เรื่อง แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 485 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 21 16 ธันวาคม 2561

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สัญญาณเตือน อาการป่วยทางจิตที่ควรปรึกษาแพทย์
กรมสุขภาพจิตชี้ ปัจจัยอะไร เป็นสาเหตุให้เกิด การฆ่าตัวตาย
พลังความรัก ความเมตตา ต่อตนเอง ช่วยเยียวยาใจ เมื่อเจอผู้ชายใจโลเล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.