ตาเสื่อม

ทุกวัยควรทราบ กินยังไง ป้องกันตาเสื่อม ง่าย ๆ ด้วยสมุนไพรและสารธรรมชาติ

ทุกวัยควรทราบ กินอะไรบ้าง ดูแลไม่ไห้ ตาเสื่อม

ตาเสื่อม เป็นอาการอีกหนึ่งความผิดปกติที่พบได้บ่อยไม่ว่าในวัยไหน โดยเฉพาะคนที่ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน เคยผ่าตัดดวงตา หรือกรณีคนสายตาสั้น จะเกิดการเสื่อมของวุ้นตาได้เร็วกว่าคนทั่วไป ยิ่งสายตาสั้นมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงตาเสื่อมมากขึ้น วันนี้ทางชีวิจิต จึงนำสมุนไพรและสารจากธรรมชาติที่ทุกวัยควรกินเพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี และป้องกันตาเสื่อมจาก รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เภสัชกรหญิงอ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัจวินิจฉัย คณะเภสัจศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาฝากทุกคนกันค่ะ

ตาเสื่อม โรคตาเสื่อม ดูแลตา สุขภาพตา

1.องุ่นแดง

จากการศึกษาพบว่า ในองุ่นแดงมีสารที่เรียกว่า Resveratol ซึ่งเป็นสารพอลิฟีนอลที่มีผลต่อเส้นเลือด คือมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน สามารถยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยับยั้งสารก่ออักเสบ และยับยั้งการสร้าง Endothelin ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว

นอกจากนี้แล้ว จากการทดลองในหนูยังพบว่า เรสเวอราทอล สามารถลดการทำลายของหลอดเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้ จึงอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตาของเรา ในเรื่องของการป้องกันการตายของเซลล์ที่เกิดจากการขาดเลือดของจอตา และยังป้องกันโรคต้อกระจกในหนูได้อีกด้วย โดยสรุปแล้ว องุ่นแดงที่มีสารเรสเวอราทอลจึงเหมาะกับการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ต้อหิน และต้อกระจก

2.ขมิ้น

ขมิ้น อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ และยังมีสารที่สำคัญคือ Curcumin ซึ่งสามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และยับยั้งการผลิตไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด มีการทดลองพบว่า สารนี้สามารถปกป้องจอประสาทตาของหนูทดลองได้ และมีการทดลองอีกหลายรายงานในหนูที่แสดงว่าเคอร์คูมินช่วยป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอตาและต้อกระจกได้

3.โสม

โสม มีสารสำคัญคือ Ginsennosides ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินพบว่า โสมแดงเกาหลีเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังจอตา จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคต้อหินและโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกจากนี้การทดลองในหนูพบว่า โสมช่วยลดการเสื่อมของจอตาในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ ลดผลที่เกิดจากการเหนี่ยวนำหนูให้เป็นต้อกระจก กล่าวโดยสรุปคือ โสมเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจสำหรับการป้องกันโรคตา ได้แก่ โรคต้อหินต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

4.หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่น เป็นเครื่องเทศและใช้ในยาแผนโบราณ เป็นสารต้านพิษ มีสารสำคัญคือ Crocin และ Crocetin มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การทดลองในหนูพบว่า หญ้าฝรั่นช่วยเพิ่มระดับกลูตาไทโอน จึงสามารถลดผลเสียจากการที่หนูได้รับแสงจ้าเป็นเวลานานและป้องกันการตายของเซลล์จอประสาทตาได้ อีกทั้งมีการทดลองทางคลินิกในคนที่เริ่มเป็นจอประสาทตาเสื่อมด้วยการให้หญ้าฝรั่นวันละ 20 มิลลิกรัมต่อเนื่อง 90 วัน พบว่า จุดภาพชัด (Macula) ในตาทำหน้าที่ได้ดีขึ้น

5.สารสกัดใบแปะก๊วย (GBE)

สารสกัดใบแปะก๊วย มีสารสำคัญ ได้แก่ฟลาโวนอยด์และเทอร์พีนอยด์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีงานวิจัยพบว่า ป้องกันตาบอดในผู้ป่วยโรคต้อหินและจอตาเสื่อมได้จากการทดลองในหนูพบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดใบแปะก๊วยมีเชลล์ประสาทจอตามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญส่วนสาร EGb 761 จากสารสกัดแปะก๊วยช่วยยับยั้งการตายของเซลล์รับแสง และเพิ่มอัตราอยู่รอดของเซลล์รับแสงหลังถูกฉายด้วยแสงจ้า อีกทั้งช่วยลดการหลุดลอกของจอตา จึงช่วยฟื้นฟูจอตาในโรคต้อหินและโรคเกี่ยวกับจอตาได้

6.เควอร์เซติน

เควอร์เซติน เป็นพลาโวนอยด์ในพืช พบได้ในชาดำ ชาเขียวหอมหัวใหญ่ แอ๊ปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ บัควีต มีงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านออกซิไดซ์ ช่วยยับยั้งการอักเสบและป้องกันการตายของเซลล์จอประสาทตาได้ อีกทั้งช่วยยับยั้งการเกิดเส้นเลือดใหม่ของจอตา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคจอประสาทตาเสื่อม

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เภสัชกรหญิงอ้อมบุญ ระบุเพิ่มเติมว่า ยังมีกลุ่มวิตามิน เกลือแร่ และสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสายตา 5 ชนิดที่แนะนำ ได้แก่

  • วิตามินเอ จำเป็นในการสังเคราะห์ Rhodopsin หรือเม็ดสีที่อยู่ในเซลล์ประสาทรับภาพ ทำหน้าที่ช่วยในการเห็นภาพในที่สลัว หรือในเวลากลางคืน การขาดวิตามินเอจึงทำให้ตาบอดกลางคืนได้
  • วิตามินบี 2 ช่วยในการบำรุงสายตา เยื่อเมือกตา และม่านตา ถ้าเกิดการฉีกขาดจะมีอาการเลือดออกในตา ตาไวต่อแสง และอาการแสบตา
  • วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายน้ำได้ และช่วยให้ผนังหลอดเลือดฝอยแข็งแรง โดยสมาคม American Optometric Association ระบุว่า วิตามินซีช่วยป้องกันต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมได้
  • สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดสีเมลานินที่จอตาถ้าขาดสังกะสีจะทำให้การมองเห็นในที่มืดไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงเป็นต้อกระจกได้
  • สารกลุ่มกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ โอเมก้า – 3 เช่น กรดอัลฟาไลโนเลนิก ซึ่งพบในน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ มีการทดลองทางคลินิกโดยให้โอเมก้า – 3 วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม และติดตามผลทุก 3 เดือนเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ช่วยลดอาการตาแห้ง ทำให้คุณภาพของน้ำตาดีขึ้น และบำรุงประสาทตาได้อีกด้วย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.