ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่ คนอ้วนควรทำไหม

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่ คุณหมอตอบเลยว่า “จริง” คนไข้โรคอ้วนที่มาผ่าตัดจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ว่า จุดมุ่งหมายแท้จริงของการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนคือ การรักษาคนที่เป็นโรคอ้วนที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบากและอาจมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งหลาย ๆ รูปแบบ โรคตับ มีบุตรยาก และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งนอกจากการผ่าตัดจะช่วยควบคุมโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนแล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้ผลดีที่สุด การผ่าตัดกระเพาะนั้น จุดมุ่งหมายหลักไม่ได้ทำเพื่อความสวยงาม แต่ทำเพื่อสุขภาพกายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น ออกกำลังกายได้ ลดการเจ็บป่วยจากน้ำหนักที่มากเกินไปและโรคแทรกซ้อนได้

ผู้ป่วยที่เข้าข่ายจะได้ประโยชน์จากการผ่าตัด ได้แก่

  1. ต้องเป็นโรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หากไม่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดแล้วจะได้ผลไม่คุ้มกับความเสี่ยง
  2. พยายามใช้วิธีการอื่นมาก่อนแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ปาฏิหาริย์เรื่องการลดน้ำหนักด้วยตัวเองมีให้ประจักษ์อยู่เนื่อง ๆ แต่หากพยายามเองแล้วไม่สำเร็จอาจต้องใช้การผ่าตัดเป็นเครื่องช่วย
  3. คนไข้ต้องมีความเข้าใจการปฏิบัติตัวก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลดน้ำหนักจะค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยควรลดหนึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ เช่น ตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 50 กิโลกรัม ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อทำการผ่าตัดแล้ว จะกินได้น้อยลง จากกินเป็นชาม ๆ จะกินได้แค่ 3-4 ช้อน ต้องเลือกกิน เลือกดื่ม ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะตลอดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายอย่างไร ผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด

ข้อสำคัญของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระเพาะ คือ เน้นกินโปรตีนกินคาร์โบไฮเดรตที่เป็นไฟเบอร์มาก ๆ เช่น ผักต่าง ๆ เนื่องจากดูดซึมยากกว่า หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมง่าย  เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารเส้นทั้งหลาย กินไขมันให้น้อยกินวิตามินสม่ำเสมอ เมื่อออกกำลังกายไหว ให้ออกกำลังกายให้มากไว้ และมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรใช้การผ่าตัดรูปแบบใดนอกจากนี้ยังต้องมีทีมแพทย์ประเมินและควบคุมโรคร่วมที่คนไข้มีให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

การรับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทีมแพทย์หลากหลายสาขา นักกำหนดอาหาร พยาบาล และทำในสถาบันที่พร้อม

ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วน โดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก

BMI

ในทางการแพทย์แบ่งภาวะของการมีน้ำหนักเกินออกเป็นหลายระดับ โดยใช้วิธีวัดที่เรียกว่า “ดัชนีมวลกาย” BMI (Body Mass Index) โดยวัดจากการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ซึ่งนำค่าน้ำหนักตั้งหารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรยกกำลังสอง

โดยทั่วไป คนปกติที่ไม่อ้วนไม่ผอม ค่าดัชนีมวลกายจะประมาณ 17.5 ถึง 21.5 ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่าดัชนีมวลกาย 32.5 ขึ้นไป มักจะพบโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความ “ดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

“ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วนโดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก”

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ดื่ม น้ำมะขามแขก ลดอ้วนได้ จริงหรือไม่ มาหาคำตอบกัน

อาหารว่างป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อคนลดอ้วน

ปาร์ตี้ได้ แต่อย่าให้อ้วน! จดเอาไว้ ดื่มไปกี่แก้วกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.