วิธีป้องกัน กรดไหลย้อน โจมตีกลางดึก สำหรับคนเป็นไม่หาย

เทคนิคแก้ กรดไหลย้อน ตอนกลางคืน

หลายคนเป็น กรดไหลย้อน เรื้อรัง นานๆ เข้า อาการเริ่มรุกหนัก แม้เวลานอนก็ไม่เว้น ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้อาการทุเลาเบาบางลงได้

วิธีแนะนำ

1. กินอาหารเย็นเร็วขึ้น
การเข้านอนโดยที่ท้องอิ่มแปล้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของอาการกรดไหลย้อนควรกินอาหารเย็นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่อทําให้ท้องว่างก่อนเข้านอน

2. เดินผ่อนคลาย
หลังอาหารให้เดินผ่อนคลายสบายๆ สักครู่ วิธีการนี้จะช่วยย่อยอาหารได้ดี ป้องกันอาการกรดไหลย้อนได้แต่ไม่แนะนําให้ออกกําลังกายก่อนนอน เพราะทําให้มีอาการกรดไหลย้อนได้

3. จดบันทึกของแสลง
อาหารแต่ละชนิดจะกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนในแต่ละคนแตกต่างกันไป ดังนั้นควรจดรายการอาหารเย็นของทุกวัน ถ้าพบว่ากินอาหารเย็นชนิดไหนแล้วมีอาการกรดไหลย้อนตอนกลางคืนบ่อยๆ ก็จะรู้ได้ว่าควรเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

4. ใส่ชุดนอนแบบหลวมสบาย
ระวังขอบกางเกงชุดนอนที่คับเกินไป เพราะชุดนอนที่คับจะทําให้เกิดแรงกดที่ท้องเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

5. นอนตะแคงซ้าย
นายแพทย์ชาร์ลส์ เอลสัน จากมหาวิทยาลัยแอละแบมา วิทยาเขตเบอร์มิงแฮม ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่านอนท่านี้ ช่วยจัดท่าทางให้กระเพาะอาหารอยู่ในท่าที่เหมาะสม ช่วยทําให้กรดในกระเพาะอาหารไม่ตีกลับขึ้นไปที่กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่าง

ยาไทย, ขมิ้นชัน กรดไหลย้อน
ขมิ้นชัน เป็นอีกหนึ่งยาไทยที่ควรมีไว้ติดบ้าน

แนะนำ “ขมิ้นชัน” บรรเทากรดไหลย้อน

ขมิ้นชัน มีสรรพคุณต้านการเกิดแผลและสมานแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง โดยต้องกินในขนาดที่เหมาะสม ถ้ากินเกินขนาดจะเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

ขมิ้นที่ใช้เป็นยามี 2 ชนิด ได้แก่
1. ขมิ้นชัน เนื้อในมีสีเหลืองเข้มเหง้ามีลักษณะยาวรี ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และโรคกระเพาะอาหาร
2. ขมิ้นอ้อย เนื้อในมีสีเหลืองเหง้ามีลักษณะป้อม ใช้ในตำรับยาสำหรับผู้หญิงหลังคลอด ช่วยบำรุงเลือด

วิธีกินขมิ้นชันแคปซูล
ควรตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดีว่ามีสัญลักษณ์ อย.และมีปริมาณสารเคอร์คูมิน (Cur-cumin) ซึ่งเป็นสารเฉพาะตัวตามมาตรฐานของยาชนิดนี้ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ โดยกินขมิ้นชันแคปซูลก่อนอาหาร 3 เวลา ปริมาณ 250 มิลลิกรัมหรือในปริมาณที่แพทย์แนะนำ

ข้อควรระวัง
การกินในรูปแบบยาที่เป็นการสกัดสารจากขมิ้นชันออกมา(ไม่ใช่การบดผง) อาจจะทำให้เราได้รับตัวยาในระดับความเข้มข้นสูง ผู้ที่มีประวัติอาการผิดปกติในระบบย่อยอาหารระบบการทำงานของถุงน้ำดี เช่น เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรระมัดระวัง เพราะสารเคอร์คูมินจะไปกระตุ้นการบีบตัวของถุงน้ำดี ส่งผลให้ถุงน้ำดีทำงานแย่ลง

ข้อมูลจาก คอลัมน์เกร็ดสุขภาพ ชีวจิตมือโปร นิตยสารชีวจิต ฉบับ 336


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

กรดไหลย้อน โรคฮิตที่ต้องรู้

โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนทำงานดึก นอนน้อย

ยาธาตุอบเชย แก้ กรดไหลย้อน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.