ไตวายเฉียบพลัน

“ไตวายเฉียบพลัน” โรคร้ายที่เกิดแบบไม่ทันตั้งตัว

ไตวายเฉียบพลัน”  โรคร้ายที่เกิดแบบไม่ทันตั้งตัว      

จะมีกี่คนที่ทราบว่า “โรคไต” นั้นมีมากกว่า 1 ชนิด และแต่ละชนิดก็มีสาเหตุ การรักษา และโอกาสที่ไตจะกลับมาทำงานได้ปกติแตกต่างกัน ซึ่งโรคหนึ่งที่เกิดได้แบบไม่ทันตั้งตัว คือ “ไตวายเฉียบพลัน” ซึ่งเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการก่อโรค

การเกิดไตวายเฉียบพลันเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน  ม่าจะเป็นเกิดปัญหาจาก ไต โดยตรง เช่น ภาวะไตอักเสบที่เกิดจากการแพ้ยา ได้แก่ ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ และยาฆ่าเชื้อที่ได้รับมาในระยะเวลานาน โดยอาการแพ้นั้นแสดงออกที่ไตจึงเกิดปัญหาไตอักเสบหรือไตวายเฉียบพลัน ถ้าพบว่ามีการอักเสบของไตมาก ย่อมมีผลกระทบกับหน้าที่การทำงานของไตเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และไตบวมน้ำทั้ง 2 ข้าง และการติดเชื้อในกระแสเลือด

ผลเสียของไตวายเฉียบพลันจะคล้ายกับไตวายเรื้อรัง แต่จะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่า หากปัสสาวะออกน้อยอาจทำให้น้ำท่วมปอดได้ และหากพบภาวะเกลือแร่ผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมสูง เลือดเป็นกรด จะเกิดเป็นภาวะไตวายเฉียบพลันที่รุนแรงได้

สิ่งที่บ่งชี้ว่าคุณอาจกำลังเป็นไตวายเฉียบพลัน คือ มีการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ปัสสาวะน้อยลงอย่างผิดปกติ มีอาการเหนื่อย หายใจผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที

ไตวายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามสาเหตุและระยะเวลาที่เกิด และไม่ว่าจะเป็นภาวะไตวายชนิดใด การเกิดอาการแทรกซ้อนล้วนมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้!!

ชนิดที่ 1: ไตวายเฉียบพลัน

คือ การที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือ 1-2 วัน หากได้รับการล้างไตและรักษาอย่างทันท่วงที ไตจะสามารถกลับมาฟื้นเป็นปกติได้ แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไตวายซ้ำได้ และไตจะค่อยๆ เสื่อมลงจนกลายเป็นไตวายเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย “ไตวายเฉียบพลัน”

– ภาวะแทรกซ้อนไม่รุนแรง เช่น ภาวะฟอตเฟสในเลือดสูง, ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง หรือภาวะซีดเนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดีเท่าที่ควร

– ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้, ภาวะเลือดเป็นกรดที่ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ, ภาวะติดเชื้อง่ายและรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไตถูกทำลายถาวรจากการรักษาล่าช้าและอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังในที่สุด

ชนิดที่ 2: ไตวายเรื้อรัง

เป็นภาวะที่ไตถูกทำลายต่อเนื่องมาแล้วหลายเดือนหรือหลายปี ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดไตวายเรื้อรังที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย “ไตวายเรื้อรัง”

นอกจากอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกันกับไตวายเฉียบพลันแล้ว ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ ปอดอักเสบ, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, ปลายประสาทอักเสบ, ภาวะต่อพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป, ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้ , ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกระดูกอ่อน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย รวมไปถึงภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยเพศชาย

เทคนิคการดูแลตัวเองสำหรับคนที่ไตยังไม่ผิดปกติ และยังไม่มีโรคเรื้อรังต่างๆ สามารถทำได้ดังนี้

-ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6-8 แก้วออกกำลังกายสม่ำเสมอ

-หลีกเลี่ยงสารเคมี ยา ยาสมุนไพร และยาบำรุงต่างๆ ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์

-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

-ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

สำหรับผู้ป่วย การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสมุนไพรโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และควรตรวจสุขภาพประจำปี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการที่น่าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถทำให้หายกลับมาเป็นปกติได้

ข้อมูลประกอบจาก: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ป่วยโรคไต ไม่ใช่แค่เลี่ยงเค็ม ยังมีอีกหลายแร่ธาตุที่ควรหลีก

5 ข้อง่ายๆ ดูแลไต ให้แข็งแรง ป้องกันโรคไต

การป้องกันโรคไต แบบง่ายๆ ลดเสี่ยงไตวาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.