โลกใบนี้ต้องการอาหารที่ปลอดภัย

โลกใบนี้ต้องการอาหารที่ปลอดภัย

ไม่เพียงเป็นมิตรต่อร่างกายผู้รับประทานแล้ว ความต้องการอาหารที่ดีและปลอดภัยช่วยขับเคลื่อนกลไกหลายอย่าง ตั้งแต่ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจผลิตพืชผลอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน มีคุณภาพตามวิถีธรรมชาติ ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง มีรายได้ สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย ชวนให้คนรุ่นใหม่อยากกลับบ้านไปสานต่อ

การทานอาหารที่ดีจึงไม่ใช่แค่เพียงเราได้อะไร แต่ไปไกลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกฝ่าย

“ศาลานา” (SALANA) ก่อตั้งขึ้นช่วงปลาย พ.ศ. 2561 มีจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความมุ่งมั่นของกลุ่มคนที่เคยผลักดันส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรวิถีธรรมชาติ ภายใต้มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เป็นหนึ่งในความหวังของการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ก้าวหน้าต่อไป

แม้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นี้มีอายุเพียง 2 ปี แต่ได้ลงมือทำไปหลายเรื่อง ทั้งออกตระเวนลงพื้นที่ พบปะพูดคุย ส่งเสริมพัฒนาทักษะของเกษตรกร สร้างโรงสีและห้องปฏิบัติการในจังหวัดนครปฐม เพื่อวิจัยข้าวอินทรีย์อย่างละเอียด และรับผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพดีที่ปลอดสารเคมี ดูแลตามวิถีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เข้าสู่ท้องตลาด พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภค

ล่าสุด “ศาลานา”เพิ่งคิดค้นนวัตกรรม ‘ตู้ขัดข้าวอินทรีย์อัตโนมัติ’ เครื่องแรกที่จดสิทธิบัตรในประเทศไทย ให้คนได้สัมผัสประสบการณ์สั่งซื้อข้าวรูปแบบใหม่ โดยตั้งตู้แรกไว้ภายใน Gourmet Market ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน

ทั้งหมดนี้ เพื่อเป้าหมายปลายทางคือการสร้างความยั่งยืนของชีวิต มาลองสำรวจศาลาแห่งนี้ไปด้วยกัน

วิสาหกิจเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

การเป็นธุรกิจจะทำให้เกิดกระบวนการพึ่งพาตัวเอง เกิดรายได้ที่สามารถนำกลับมาลงทุนเพื่อสังคม ส่วนการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ เพราะต้องการทำให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเลยว่า ธุรกิจนี้มีขึ้นเพื่อเกษตรกร ไม่เอาเปรียบและจะทำเพื่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม

salana

เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกฝ่ายอย่างที่มุ่งหมาย ก่อนจดทะเบียน จะจัดทำเวิร์กช็อประดมความคิด และพูดคุยเก็บข้อมูลกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงผลกำไร อย่างครบถ้วน

ปรับแผนจนเห็นว่ามีโอกาสเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การตอกเสาเข็มของศาลาแห่งนี้จึงเกิดขึ้น โดยยังคงส่วนงานส่งเสริมพืชผลต่างๆ ที่เคยทำไว้ และเปิดตลาดชุมชนอย่างตลาดบ้านรังนกในจังหวัดนครปฐมคอยรองรับผลผลิตเหล่านั้น

ส่วนผลิตภัณฑ์หลักที่ทางศาลานาเลือกหยิบยกขึ้นมาพัฒนาในช่วงแรก ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือข้าว หนึ่งในอาหารหลักคู่คนไทย ด้วยความง่ายในเชิงการขนส่ง การเก็บรักษา และศักยภาพในการพัฒนาต่อ

Smart Farmers

เสาหลักสำคัญของศาลานาคือเกษตรกร ที่เป็นมากกว่าเกษตรกร หรือเรียกกันว่า Smart Farmer

“เราไม่ได้มองเกษตรกรเป็นแค่ผู้ผลิต แต่มองว่าวันหนึ่ง พวกเขาต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน” หากเกษตรกรเข้าใจและดำเนินการทางธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ย่อมบริหารจัดการชีวิตได้อย่างยั่งยืนและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการรับซื้อข้าวเปลือกของศาลานาจากเกษตรกร จึงผ่านการออกแบบให้แฝงขั้นตอนการคัดสรรที่เข้มข้น เพื่อยกระดับศักยภาพของแต่ละกลุ่มออกมา โดยทีมงานจะคอยทำงานคู่ขนานผ่านการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

“เราเริ่มจากการคุยกับผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นคนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าพื้นที่เขาเป็นอย่างไร มีความตั้งใจแบบไหน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรายได้ แต่เป็นสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่ยั่งยืน จากนั้นคุยกับสมาชิกว่าเงื่อนไขการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร” ในส่วนเงื่อนไขนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มาก แต่มีแก่นสำคัญอยู่ 3 ประการ

หนึ่ง พวกเขาต้องปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ หรือถ้ายังไม่ปลูก ก็ต้องมีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนได้

salana2

สอง ต้องยอมรับการลงพื้นที่ตรวจรับรองแปลงโดยทีมงานศาลานา ซึ่งเงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนดร่วมกัน

สาม ต้องยอมรับการตรวจสอบคุณภาพข้าว ดูว่าเป็นไปตามมาตรฐานและมีสิ่งเจือปนหรือไม่
หากผ่านข้อตกลงครบถ้วน ศาลานาจะออกใบรับรอง SALANA PGS (Participatory Guarantee System) ในทุกรอบการผลิต เพื่อเป็นเครื่องยืนยันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้อุ่นใจต่อทุกฝ่าย เพราะถ้าวันหนึ่งเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เขาควรจัดการระบบเหล่านี้กับสมาชิกตัวเองได้

salana3

ส่วนทางศาลานา นอกจากมอบบททดสอบที่ท้าทายแล้ว พวกเขาไม่ได้นิ่งเฉย แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่น่ารัก ใช้หลักการค้าที่เป็นธรรม ตกลงซื้อขายและจ่ายเงินซื้อข้าวเปลือกล่วงหน้า เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่เกษตรกร และเป็นหลักประกันว่าผลผลิตจะมีตลาดรองรับแน่นอน

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ง่าย ไม่สบาย เห็นผลช้ากว่าการปลูกระบบเคมี ระหว่างทางก็มีกลุ่มคนไม่น้อยที่ขอม้วนเสื่อร่ำลา

ส่วนใครทำได้ไหว พร้อมไปต่อ ศาลานาจะอยู่เคียงข้างผ่านการส่งเสริมรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น พาไปอบรม สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรกลุ่มนี้อยู่ 8 พื้นที่ ในจังหวัดลำปาง พิจิตร นครสวรรค์ นครปฐม ยโสธร ลำปาง สุพรรณบุรี และสุรินทร์

ข้าวถึงใจผู้บริโภค

เมื่อได้รับข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบที่ดีจากต้นทางแล้ว ศาลานามีอีก 2 ภารกิจสำคัญที่ต้องทำ

เรื่องแรกคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งศาลานาจัดตั้งโรงสี และห้องปฏิบัติการของตัวเอง ไว้รับทดสอบและวิเคราะห์สารต่างๆ ในวัตถุดิบ
ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากห้องแห่งนี้คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอม 5 สายพันธุ์ ที่เกิดจากการผสมข้าวทั้งสองกับข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมราตรี ในสัดส่วนที่ลงตัวและรสชาติกลมกล่อม

salana

salana

ศาลานาคิดเสมอว่า ทำอย่างไรถึงจะสนับสนุนภาคีของเราได้ทั้งหมด บางแหล่งมีข้าวที่ดี แต่คนยังไม่รู้จักหรือไม่รู้ว่าจะเอาไปทำเป็นเมนูอะไร ทีมงานเลยคัดสรรข้าวหอมจากพื้นที่ต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกัน กลายเป็นข้าวห้าสายพันธุ์ นุ่ม หอม อร่อย แถมได้สนับสนุนเกษตรกรหลายพื้นที่ อุดมไปด้วยสารช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและลดภาวะเสี่ยงจากโรคหลอดเลือด

สอง เมื่อผลิตภัณฑ์ดีแล้ว การสื่อสารจำเป็นต้องเฉียบแหลมและเข้าถึงใจผู้บริโภคตามไปด้วย คำกล่าวที่ว่า อาหารปลอดภัยเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอให้คนรู้สึกว่าต้องหยิบข้าวนี้ขึ้นมา เราต้องทำสิ่งอื่นๆ เช่นทำคอนเทนต์ควบคู่ไปด้วย ให้คนรู้ว่าข้าวมาจากไหน คุณไม่ได้ซื้อแค่ข้าวนะ แต่ได้ช่วยเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมไปด้วย รวมถึงต้องสื่อสารด้วยว่า ประโยชน์ที่คุณจะได้รับคืออะไร ซึ่งข้อมูลมาจากแล็บของศาลานา เช่น ข้าวสีแดงมีสารโปรแอนโทไซยานิดินสูงมาก ต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก

 salana

สุดท้ายคือต้องอร่อยบ้าง ถ้ากินเข้าไปแล้วต้องคายก็คงไม่ตอบโจทย์ เรารู้ว่าข้าวกล้องที่ไม่ได้ถูกขัดมีประโยชน์สูงจริง แต่อาจไม่เป็นมิตรกับการกินสักเท่าไร ที่ศาลานาเราจึงขัดข้าวเล็กน้อย ไม่เกินสามสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ชั้นฟิล์มที่หุ้มข้าวอยู่ข้างนอกหลุดออก ทำให้เป็นมิตรต่อการกินแต่ยังคงโภชนาการที่ดี หากลองเข้าเว็บไซต์หรือหยิบแผ่นพับของศาลานาขึ้นมาดู จะเห็นภาพกราฟิกน่ารักๆ ประกอบข้อมูลที่ครบครัน ชวนให้สั่งซื้อออนไลน์หรือเดินไปจับจ่ายข้าวหอมมาประกอบอาหารตอนนี้เลยเสียจริง

ประสบการณ์ซื้อข้าวใหม่

อีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารและจำหน่ายใหม่ที่ศาลานาพัฒนาขึ้นมาในปีนี้คือ ตู้ขัดข้าวอินทรีย์อัตโนมัติ

เบื้องหลังนวัตกรรมนี้มาจากแนวคิดที่ว่า “เรารู้สึกว่าข้าวต้องพูดด้วยตัวเองได้” เป็นเหตุให้ศาลานาสร้างตู้ขัดข้าวนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้ออย่างเป็นมิตร ไม่น่าเบื่อ แถมได้สื่อสารเรื่องราวของข้าวไปในตัว

เมื่อเรากดหน้าจอสั่งซื้อข้าว ตู้จะให้หยิบถุงกระดาษที่มีให้บริการหรือภาชนะอื่นตามสะดวกวางไว้ตรงช่องรับข้าว หลังจากนั้นดำเนินการจ่ายเงิน ซึ่งรองรับทั้งเหรียญ ธนบัตร และการชำระผ่านช่องทางออนไลน์ คล้ายตู้กดเครื่องดื่มทั่วไป

แต่ที่พิเศษคือ เมื่อมีคำสั่งซื้อ ตู้จะนำข้าวที่ผ่านการกะเทาะแล้ว ภายในไซโลที่มีระบบดูดอากาศคอยรักษาคุณภาพข้าวไว้ มาขัดแบบสดๆ ในเวลาประมาณ 2 นาที ก่อนลำเลียงออกมาเป็นข้าวอินทรีย์อุ่นๆ สดใหม่ พร้อมหุงรับประทาน

ปัจจุบัน ตู้ขัดข้าวนี้เปิดรับคำสั่งซื้อเพียงข้าวหอมอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ปริมาณ 250 กรัม ในราคา 30 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้คนซื้อไปทดลองทาก่อน ถ้าถูกปากถูกใจ อาจค่อยขยับมาซื้อถุงขนาด 1 กิโลกรัม และหากผลตอบรับของตู้นี้ดี ในอนาคตทางศาลานาอาจมีการเพิ่มจำนวนตู้และขยายผลในรูปแบบอื่นต่อไป

ข้าวต่อไป

2 ปีอาจเป็นเวลาไม่นาน แต่ศาลานาเริ่มเห็นการออกดอกออกผลของเมล็ดพันธุ์ที่พวกเขาดูแลอย่างทะนุถนอมไว้แล้ว

เพราะเริ่มมีเกษตรกรหลายกลุ่มเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองแล้ว ทางศาลานาจะคอยช่วยแนะนำว่าเครื่องมือต่างๆ ทำงานอย่างไร ราคาเท่าไร แนะนำให้ลงพื้นที่ไปดูกลุ่มอื่นเพื่อพัฒนาต่อไป

แต่ถึงจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ทางศาลานารู้ดีว่าลำพังการขายข้าวอย่างเดียวคงอาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดระยะยาว ศาลานาจึงจำเป็นต้องทำสิ่งอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนานวัตกรรมอย่างตู้ขัดข้าว

และเร่งพัฒนาโมเดลการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ในแบบที่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพวกเขาตั้งหมุดหมายว่าจะสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

“เราเชื่อว่าลำพังแค่ศาลานาไม่สามารถขยับแล้วเปลี่ยนได้หมด ถ้าโมเดลนี้สำเร็จและถูกส่งต่อไปยังคนที่พร้อมช่วยเหลือ เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยคงไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

ที่ผ่านมา เกษตรกรเจ็บช้ำมาเยอะพอแล้วกับโครงการต่างๆ ที่อ้างว่าเข้าไปช่วยเหลือ แต่ปล่อยปละละเลยกลางคัน หากโมเดลนี้เป็นไปได้ด้วยดี พวกเขาจะยืนหยัดอยู่ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภาพรวมประเทศไปข้างหน้า

salana

เส้นทางสู่ความยั่งยืน

ด้วยระบบการดำเนินงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำกำไรทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์กลับไปลงทุนในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสังคม โดยไม่มีปันผลใด คนที่ศาลานาต่างเลือกทำเพราะใจรักและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ตามแนวคิด Power of Sharing ที่องค์กรยึดถือ

นอกจากอุดมการณ์จะยึดเหนี่ยวพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน คือความพยายามสร้างคนขององค์กร

“ที่ศาลานา ทุกคนอาจไม่ได้เป็นมืออาชีพในสิ่งที่ต้องทำไปเสียทั้งหมด แต่ทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และเติบโตอยู่เสมอ ทุกคนที่องค์กรเลือกมาแล้ว ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริหารงานให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรง

“เพราะศาลานาเชื่อว่า ธุรกิจจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ ต่อเมื่อผู้คนมีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน”

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.