การป้องกันโรคไต แบบง่ายๆ ลดเสี่ยงไตวาย

การป้องกันโรคไต แบบง่ายๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากไตวาย

การป้องกัน โรคไต ไม่ใช่แค่ลดกินเค็ม แต่ยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยบทความนี้ เรามีข้อมูลดีๆ จากสมาคมพยาบาลโรคไต มาบอกต่อ

ผู้ที่เสี่ยงไตวาย แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตอยู่แล้ว กลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคซ่อนอยู่แต่ไม่รู้ตัว บางท่านรู้สึกว่าตนมีสุขภาพแข็งแรง ในขณะที่บางท่านกินยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้เป็นประจำ

ในกลุ่มแรก ต้องมาพบแพทย์เป็นประจำ เป้าหมายของการรักษาที่แพทย์แจ้งให้ท่านทราบมีความสำคัญอย่างยิ่ง  สำหรับท่านที่มีความดันโลหิตสูง จะต้องดูแลตนเองให้ระดับความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวาน ท่านจะต้องคุมระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าอยู่ในระดับ 90-130 มก.%  การดูแลตนเองและใช้ยาให้ได้ผลตามเป้าที่แพทย์และพยาบาลแนะนำจะมีผลช่วยป้องกันการเกิดโรคไตวายได้

ในกลุ่มที่ 2 ท่านที่รู้สึกว่า ตนเองสุขภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล  บางท่านเป็นนักกีฬา  เหล่านี้ไม่ได้รับประกันว่าท่านจะไม่เป็นโรคไต   แม้ท่านจะไม่มีอาการใดๆเลยก็ตาม ท่านก็อาจจะมีโรคไตซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วก็เป็นได้  ทางที่ดีท่านลองพิจารณาคำแนะนำดังต่อไปนี้ ได้แก่

1. ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

ซึ่งจะรวมการตรวจสุขภาพไตขั้นต้น 3 ประการได้แก่ วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดหาระดับ “ครีอะตินีน”  ผลการตรวจจะบอกได้ขั้นต้นว่าท่านมีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่  ถ้ามีความผิดปกติแม้เล็กน้อยก็ตาม แพทย์ก็จะแนะนำให้ท่านรับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อวินิจฉัย

2. สนใจสุขภาพตนเอง

รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอเพียง  ถ้าท่านมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อโรคไต ท่านควรจะหลีกเลี่ยง ซึ่งที่สำคัญๆ ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงสุรา ออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง เป็นต้น

3. ถ้าร่างกายท่านแสดงสัญญาณอันตรายบอกโรคไตอันใดอันหนึ่ง ดังนี้

สัญญาณอันตรายบอกโรคไต 6 ประการ
• ปัสสาวะขัด
• ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ
• ปัสสาวะบ่อย
• บวมหน้า บวมเท้า
• ปวดหลัง ปวดเอว
• ความดันโลหิตสูง

ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ ซึ่งอาจพบว่า ท่านไม่มีโรคใดๆเลยก็ได้ หรือบางท่านอาจมีความผิดปกติของไตเล็กน้อย การรักษาก็แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เพียงพอ  ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ ถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่ทำอะไร ก็อาจเกิดโรคไตเรื้อรังได้

การป้องกันโรคไต

4. ระวังอย่าให้เกิดท้องเสีย

โดยกินเฉพาะอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ถ้าเกิดท้องเสียท่านจะต้องได้รับน้ำทดแทนอย่างพอเพียง   ถ้าท่านมีโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว การที่เกิดท้องเสียจนทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงและเกิดไตวายเฉียบพลันได้ และบ่อยครั้งไตที่วายแล้วไม่ฟื้นกลับอีกเลย

5. หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเองเป็นประจำ

ปัจจุบันการแพทย์ยุคใหม่ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง การซื้อยาง่ายๆรักษาตนเอง อาทิ โรคหวัด ปวดหัว ท่านซื้อยากินเองได้ แต่ต้องทราบว่า กิน 1 ชุดแล้วไม่หาย ท่านต้องไปพบแพทย์ เพราะโรคที่ท่านคิดว่าตนเองเป็น อาจจะมีสาเหตุอื่นๆ ที่แพทย์ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่พบว่า ท่านที่เป็นโรคเรื้อรังบางโรคที่ไม่น่าจะเป็นโรคไต อาทิ โรคผิวหนัง โรคปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน  ท่านที่ซื้อยากินเอง กินยาที่ไม่ทราบสรรพคุณ เชื่อตามคำโฆษณา เมื่อกินเข้าไปมากๆ แล้ว ทำให้เกิดไตอักเสบ จนเป็นไตวายเรื้อรัง  สุดท้ายโรคที่มีอยู่ก็ไม่หาย แถมเกิดโรคไตวายเพิ่ม

6. การกินยาซ้ำซ้อน

มียาหลายอย่างที่แพทย์จ่ายให้ผู้ป่วย ได้แก่ โรคปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ  ยาที่จ่ายอาจมียากลุ่มหนึ่งที่ท่านควรจะรู้จัก ได้แก่ “ยาเอ็นเสด” ซึ่งเป็นยาลดอักเสบฤทธิ์แรงมาก กินแล้วอาการปวดมักจะทุเลาลง แต่การทุเลาจะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ หลังหมดฤทธิ์ยา ผู้ป่วยจะกลับมาปวดได้อีก โดยทั่วไป แพทย์จะพยายามแก้ไขต้นเหตุอยู่แล้ว ท่านที่เป็นผู้ป่วยโรคปวดต่างๆ ท่านควรจะถามแพทย์ว่า ยาที่ท่านได้มี “ยาเอ็นเสด” หรือไม่ และถ้ามีท่านต้องทำตัวอย่างไร  ท่านที่ไปหาแพทย์หลายคลินิก บางครั้งท่านอาจจะได้รับยาแก้ปวดคล้ายๆ กัน แต่คนละยี่ห้อ และถ้ากินเข้าไปพร้อมกันจะมีผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพไต ซึ่งหลักอันหนึ่งที่แพทย์มักจะต้องเตือนท่าน คือยาเก่าอย่าเก็บไว้ ยกเว้นแต่ได้นำไปให้แพทย์ตรวจดูและบอกว่ากินต่อไปได้เท่านั้น

7. หลีกเลี่ยงยาเสพติดต่างๆ โดยเฉพาะต้องงดการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและทำให้ไตเสื่อมเร็ว

8. อย่าหลงคำโฆษณา

ในท้องตลาดมีการขายสารอาหารต่างๆมากมายเพื่อบำรุงร่างกาย อาหารเสริมเหล่านี้ ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้จัดเป็นอาหาร ไม่ใช่ยา ดังนั้น สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก่อนซื้อ ในส่วนอาหารเสริมเหล่านี้ อย. ได้รับรองแล้วว่าท่านสามารถซื้อกินได้โดยไม่เกิดโทษ แต่ทางที่ดีก่อนท่านจะซื้อ ท่านควรจะอ่านฉลากอาหารที่แนบไว้ด้วยว่า อาหารเสริมมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังประการใดบ้าง ต้องระวังในผู้ที่โรคบางโรคหรือไม่ อาหารเสริมบางอย่างมีเกลือผสมอยู่มาก ทำให้เกิดโทษได้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูง

ที่มา : รศ. นพ. ทวี ศิริวงศ์

บทความอื่นที่น่าสนใจ

แจก 3 สูตร กินดื่มต้านโรคไต เมนูปรับลดโซเดียม

ดูแลไต ให้ดี ได้สุขภาพดี ไม่ต้องเสียสตางค์ฟอกไต

เช็กซิ อาการไตอ่อนแอ พร้อมวิธีดูแลตามหลักแพทย์จีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.