ตด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่บอกโรคได้

ตด เมื่อไหร่ไม่ต้องอาย แต่ต้องสังเกต

คำเดียวสั้น ๆ ตด แค่คิดถึงก็เหม็นแล้ว แถมน่าอายมากเลย โดยเฉพาะตดมีเสียงในที่สาธารณะ แต่ตดเหม็น ๆ เนี่ยละที่บอกโรคได้ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังเผชิญภาวะอะไรอยู่ หรือกำลังมีโรคอะไรหรือเปล่าที่ต้องกังวล หลังจากนี้ถ้าเผลอตดเมื่อไหร่ ก็อย่าลืมสังเกตกันด้วยนะคะ 

ตด คืออะไร

การผายลม หรือตด เป็นกระบวนการระบายลมในลำไส้ของร่างกาย ซึ่งลมที่ระบายออกมานี้มาจากการที่เรากลืนลมระหว่างที่อ้าปากพูด หรือลมที่กลืนเข้าไปพร้อมการกลืนอาหาร กลืนน้ำลาย

นอกจากนั้นแล้ว ลมที่ลำไส้ระบายออกมาก็อาจเป็นแก๊สที่เกิดจากการย่อยอาหาร สำหรับอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมากคือ

  • น้ำอัดลม
  • อาหารที่มีแป้ง, คาร์โบไฮเดรตสูง
  • พืช ตระกูลถั่ว

นอกจากนั้นพฤติกรรมการทานอาหารที่ทำให้มีแก๊สเยอะ ก็คือ การกินอาหารเร็วเกินไป

ตด บ่อย สุขภาพเสียไหม?

หลายคนกังวลเรื่องจำนวนการตดต่อวันที่ มากหรือน้อยเกินไป อาจเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพได้ ซึ่งที่จริงแล้วจำนวนครั้งขึ้นอยู่กับอาหารที่ทาน และการขับถ่าย หากไม่มีอาการแน่นท้องต่อให้ตดบ่อย ก็ถือว่าเป็นปกตินะคะ โดยแพทย์แนะนำว่าเฉลี่ยแล้วคนเราจะตดประมาณ 10-20 ครั้งต่อวัน

หากว่าสังเกตแล้วช่วงนี้มีอาการแน่นท้อง อืดท้อง และยังตดน้อยกว่าปกติ สงสัยได้ว่าอาจกำลังเป็น โรคลำไส้อุดตัน

นอกจากนั้นแล้ว หากมีกลิ่นหรือเสียงที่ดูผิดปกติจากทุกที หรือมีอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดเช่น เบาหวาน โรคตับ หรือโรคลำไส้อักเสบ

ตด

กลิ่นตดบอกภาวะร่างกาย

  • ไร้กลิ่น อาจเกิดจากการที่ทานโปรตีนน้อย
  • มีกลิ่น ทานโปรตีนหรือผักที่มีกลิ่นแรง
  • กลิ่นแรง หากมีกลิ่นรุนแรงกว่าปกติที่เคยมีมา อาจเกิดการติดเชื้อในแบคทีเรีย หรือมีอุจจาระค้างในลำไส้เป็นเวลานาน

ตดบอกโรค

นอกจากที่กล่าวถึงมาแล้ว ลักษณะการตด หรืออาการร่วมก็ช่วยบอกได้เช่นกันว่าสุขภาพเป็นเช่นไร

ตดมีเสียง

เสียงของตดเกิดขึ้นจากลมในลำไส้ใหญ่ที่เคลื่อนผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ซึ่งหากมีลมอยู่มากทำให้ต้องมีการเบ่งรวมเข้ากล้ามเนื้อหูรูดบีบตัวแน่น ก็จะทำให้เกิดเสียงตดที่ดังตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นปกติทั่วไป

ตดเยอะ แต่ท้องผูก

หากเกิดอาการแบบนี้ แปลว่าคุณได้รับไฟเบอร์มากเกินไปแล้ว จนทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และอุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ได้ยาก จนกลายเป็นอาการท้องผูก 

ทางแก้ : ดื่มน้ำให้มากขึ้น ลดอาหารที่อุดมด้วยไฟเบอร์ลงสักนิด ซึ่งจากการวิจัยของ WHO พบว่า คนเราควรได้รับไฟเบอร์วันละ 25-29 กรัม  

ตดทั้งวัน ทั้งคืน

อาการนี้บ่งบอกว่าคุณดื่มเครื่องดื่มอัดก๊าซมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลม โซดา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แน่นอนว่าการแก้คือลดปริมาณเครื่องดื่มเหล่านี้ลง แต่ถ้าลดแล้วยังมีอาการอยู่อีก ก็อาจจะต้องไปปรึกษาคุณหมอหน่อยแล้ว 

ตดเหม็น ระดับ 10

ที่เขาว่าเหม็นระดับขมคอ มันมีอยู่จริง ซึ่งถ้าใครเหม็นระดับนั้นสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากอาหารที่ทาน โดยอาหารที่สร้างกลิ่นได้ทรมานทั้งหมู่บ้านคือ อาหารที่มีกำมะถันสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่ว พืชตระกูลกะหล่ำ กระเทียม หัวหอม เป็นต้น 

 แต่ถ้าลดปริมาณอาหารที่มีกำมะถันแล้ว แต่กลิ่นไม่ลด ก็ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นโรคลำไส้อักเสบ หรือลำไส้แปรปรวนได้ 

ตดเหม็น มาพร้อมปัญหาระบบทางเดินอาหาร

ถ้ามีอาการทั้งตดเหม็น และปวดท้องไปด้วยหลังการทานอะไรสักอย่าง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า คุณแพ้อาหารชนิดนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างถ้าแพ้แลคโตสในนม ร่างกายจะไม่ดูดซึม และเมื่อมาถึงลำไส้เล็ก ก็จะปล่อยแบคทีเรียออกมาทำลาย ทำให้เกิดกลิ่นตดเหม็นๆ นั่นเอง 

ทางแก้ : ลด หรือเลี่ยงการกินอาหารนั้น ๆ ซึ่งจะต้องสังเกตให้ดีว่า ก่อนหน้าที่จะมีอาการเราทานอาหารอะไร เพื่อที่ครั้งหน้าจะได้เลี่ยงได้นั้นเอง

ตดเหม็น และบ่อยกว่าเดิม  

ข้อนี้เป็นในกรณีของคุณผู้หญิงทั้งหลาย  เพราะมีเหตุผลมาจากประจำเดือนนั่นเอง ในช่วงนี้ร่างกายจะสร้าง พรอสตาแกลนดิน ซึ่งช่วยในการขับเยื่อบุมดลูก ซึ่งถ้ามีเยอะเกินไปจะทำให้อวัยวะภายในหดตัว รวมถึงลำไส้ด้วย และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองลำไส้ก็มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรีย เมื่อภาวะทั้งสองอย่างมารวมกัน จึงเกิดกลิ่นตดที่รุนแรง และบ่อยขึ้น 

ทางแก้ : งดอาหารที่ย่อยยาก และอาหารแปรรูป ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน

ตดบ่อย ถ่ายท้องบ่อย 

อาการนี้เกิดขึ้นจากความเครียด ที่ทำให้พฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่นกินมื้อดึก กินอาหารที่ไม่ค่อยได้กิน รวมไปถึงเกิดอาการอึกๆ อักๆ จนเผลอกลืนลมเข้าไปเยอะ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารจนเกิดเป็นการถ่ายท้อง และการตดบ่อย 

ทางแก้ : หากอยากแก้อาการเหล่านี้ ก็ควรต้องแก้ด้วยการไม่เครียด

ตด ลดได้

แม้ตดเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ใครที่รู้สึกว่าชักจะตดมากเกินไปแล้ว ก็สามารถลดการตดได้ด้วยการปรับพฤติกรรม คือ

  1. ลดความเร็วในการทานอาหาร และดื่มน้ำ เพื่อที่จะได้ลดลมที่เข้าสู่ร่างกายให้น้อยลง ก็ทำให้ร่างกายไม่ต้องขับลมออก
  2. ลดอาหารที่มีไฟเบอร์ เพราะไฟเบอร์อาจะหนาแน่นจนอุดตันอยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดการหมักหมมในลำไส้ก็เป็นได้
  3. ลดพฤติกรรมที่ทำให้กลืนลมเข้าปาก เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มน้ำจากหลอด เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • Health
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลสมิติเวช
  • โรงพยาบาลเชียงใหม่

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แก้กรดไหลย้อน ด้วยอาหารอร่อย ลดการใช้ยา

5 วิธี ทำได้ง่าย ๆ ลดกินอาหารแปรรูป ก่อนเกิดโรคร้าย

กินยานอนหลับ มีผลเสียระยะยาว จริงหรอ ?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.