การดูแลผู้สูงอายุ

7 WONDER TIPS การดูแลผู้สูงอายุ ให้กายใจสดชื่น

7 WONDER TIPS การดูแลผู้สูงอายุ ให้กายใจสดชื่น ในยุคที่ทั่วโลก เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แม้แต่ นิตยาสาร Forbes ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจหันมาให้ความสำคัญ

ภาพเหมือน, ผู้สูงอายุ, ผู้ใหญ่

แนะนำวิธี การดูแลผู้สูงอายุ ให้สดชื่นทั้งกายใจ ห่างไกลโรคซึมเศร้าและอัลไซเมอร์ไว้ ดังนี้

  1. มอบหมายหน้าที่ สร้างคุณค่า อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องนั่งจมเก้าอี้ แต่ควรสนับสนุนให้ท่านทำงานตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน ทำความสะอาดบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือทำงานอดิเรก เช่น ทำงานฝีมือ ถ้าเป็นงานที่สร้างรายได้ แม้เพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางการเงิน และสุขภาพจิตดีขึ้นตามไปด้วย หากสมาชิกในบ้านเข้าใจและร่วมกันดูแลผู้สูงอายุ ท่านเหล่านั้นย่อมมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงสดชื่นสมวัย
    ได้แน่นอน
  2. ทำกิจกรรมร่วมกัน แนะนำให้จัดสรรเวลา อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ไปปิกนิก ออกไปเดินเล่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี และทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย
  3. สนับสนุนกิจกรรมกลุ่ม การได้ออกไปพบปะสังสรรค์กับคนต่างวัย และคนวัยเดียวกันเป็นประจำ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเชื่อมโยงตนเองกับสังคมรอบข้าง หากเป็นกลุ่มที่ทำงานสร้างสรรค์ เช่น เป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล เป็นครูอาสาสอนหนังสือให้เด็ก ๆ ใน
    ชุมชน จะเป็นการสร้างความภูมิใจให้ผู้สูงอายุ
  4. งดใช้คำพูดรุนแรง บางครั้งผู้สูงอายุอาจมีความเข้าใจ หรือความต้องการเฉพาะ เช่น
    ไม่ต้องการกินอาหารรสอ่อน แต่อยากกินอาหารรสจัดตามใจชอบ จำเป็นต้องอธิบาย ด้วยเหตุผล และต่อรองซ้ำ ๆ แต่ถ้าไม่ได้ผลให้ผ่อนผัน ใช้วิธีประนีประนอม อย่าใช้คำพูดรุนแรง ซึ่งจะทำให้ท่านน้อยใจ
  5. กอดเพิ่มพลัง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีหรือร้าย ให้เพิ่มการแสดงออกทางกาย ด้วยการกอดหรือจับมือ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมั่นใจว่าเราจะอยู่เคียงข้างพวกท่านเสมอ
  6. พาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุไปพบแพทย์โดยลำพัง เพราะท่านอาจให้ข้อมูลกับแพทย์ไม่ครบถ้วน ในกรณีที่แพทย์มีคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม เช่น ออกกำลังกาย งดอาหารบางประเภท หรือกินยาให้ครบ ต้องจดให้ละเอียด ท่านจะให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น
  7. ร่วมกิจกรรมทางศาสนา มีงานวิจัยระบุชัดเจนว่า ผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำมีความสุขมากขึ้น สุขภาพกายก็ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมทางศาสนา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจิตใจที่ปลอดโปร่งและสงบ ย่อมเอื้อให้ร่างกายแข็งแรงและฟื้นฟูจากโรค
    ต่าง ๆ ได้ดีกว่านั่นเอง

เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

พาคุณย่าคุณยายที่บ้านไปช็อปปิ้งกันเถอะ เพราะการหิ้วถุงข้าวของที่มีน้ำหนักขณะช็อปปิ้งนั้น จะยิ่งช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการหกล้มด้วยความที่ร่างกายเสื่อมสภาพลงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ การบริการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NHS) จึงออกคู่มือแนะนำการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับทุกคน

ทั้งผู้สูงอายุและหนุ่มสาว โดยฝึกกิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยกน้ำหนัก หรืองานบ้าน เช่น ทำสวน ดูดฝุ่น รวมทั้งหิ้วถุงใส่ข้าวของขณะช็อปปิ้ง เพื่อป้องกันความเสื่อมของกล้ามเนื้อและร่างกายโดยรวม ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ เช่น การหกล้มในผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะกระดูกสะโพกแตก และส่งผลให้รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องเสียงบประมาณไปกับการรักษาอาการบาดเจ็บเหล่านี้ ทั้งที่ป้องกันได้

อายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แสดงถึงค่าผกผันความเปราะบางของร่างกายนะคะ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่า หากกล้ามเนื้อแข็งแรง สุขภาพร่างกายด้านอื่น ๆ ก็จะแข็งแรงไปด้วย

3 เทคนิค แช่เท้าลดปวดเมื่อย

เมื่อเดินหรือยืนนานเกินไป ปัญหาที่ตามมาเสมอ คือ อาการปวดเมื่อยเท้า ซึ่งทรมานไม่น้อยเลยนะคะ วันนี้จึงนำ 3 เทคนิคแช่เท้า ลดความปวดเมื่อยจากหนังสือ 1001 ตำรับยาใกล้ตัว โดยสำนักพิมพ์รีดเดอร์ส ไดเจสท์มาฝากกัน เผื่อคุณจะนำไปทดลองทำเพื่อเยียวยาอาการ
ปวดที่เกิดขึ้น เริ่มกันเลยนะคะ

  1. แช่น้ำเย็นสลับน้ำร้อน เตรียมน้ำเย้นและน้ำอุ่น (ค่อนข้างร้อน) ใส่อ่างเล็ก ๆ พอแช่เท้าได้ จากนั้นนั่งเก้าอี้ในท่าที่สบาย แล้วเริ่มแช่เท้าด้วยน้ำเย็น 5 นาที จากนั้นเปลี่ยนมาแช่น้ำอุ่นอีก 5 นาที ทำซ้ำอีกรอบ การแช่น้ำเย็นสลับน้ำร้อนนี้จะช่วยให้หลอดเลือดบริเวณเท้าขยายสลับกับหดตัว คล้ายการนวดเท้า
  2. แช่ด้วยน้ำชาสะระแหน่ นำชาสะระแหน่มาชงแก่ ๆ แล้วเติมลงในน้ำร้อน ทิ้งไว้
    จนอุ่น จากนั้นแช่เท้า 10 – 15 นาที
  3. แช่ด้วยน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย นำน้ำอุ่นใส่กะละมังขนาดเล็กพอจะแช่เท้าได้ จากนั้นหยดน้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันโรสแมรี่ อย่างละ 4 หยด คนจนเข้ากัน แล้วแช่เท้านาน 10 – 15 นาที หรือจนกว่าจะรู้สึกสบาย
แช่เท้า, สมุนไพร, ปัญญาชน, สปา, เทาสปา

ทั้ง 3 วิธีการนี้ ช่วยส่งเสริมให้เลือดบริเวณเท้าไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี หากมีเทคนิคดูแลสุขภาพที่น่าสนใจอีก สัญญาว่าจะนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง ติดตามนะคะ

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 460 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 ธันวาคม 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

ใครรู้บ้าง? ทำไม แสงแดด ถึงจำเป็นมากกับผู้สูงอายุ

5 วิธีสยบ ปวดข้อ อาการยอดฮิตผู้สูงอายุ

การรักษา โรคภูมิคุ้มกัน ภูมิแพ้ และ แพ้ภูมิ ในผู้สูงอายุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.