สูตรชาแก้ปัญหาดวงตา

4 สูตรชาแก้ปัญหาดวงตา คนติดจอ

4 สูตรชาแก้ปัญหาดวงตา คนติดจอ

สูตรชาแก้ปัญหาดวงตา

ไม่ต้องบอก…ก็รู้ว่า คนทุกวันนี้มีปัญหาสายตาเพิ่มมากขึ้นเพียงใด เพราะการใช้ชีวิตและทำงานที่ต้องอุทิศเวลาอยู่กับหน้าจอ ทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนั้นบั่นทอนสุขภาพดวงตา

โดยภาวะผิดปกติของดวงตาในทางการแพทย์แผนจีนนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานของตับเป็นหลัก ซึ่งจะแบ่งกว้าง ๆ เป็นแบบแกร่งและแบบพร่อง

แบบแกร่ง คือ ลมปราณตับอุดกลั้น ทำให้เกิดความร้อนสะสมในตับ เมื่อความร้อนสะสมมาก ๆ เข้าจะกลายเป็นไฟ ทะยานขึ้นไปแสดงอาการที่ดวงตา และจะแสดงเป็นอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น ตาแห้ง คันตา เคืองตา ตาแฉะ มีขี้ตา บางรายที่มีอาการเยอะ ๆ จะเกิดการอักเสบและมีหนองที่เราเรียกว่า ตากุ้งยิง ตาแดง

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความร้อนสะสมที่ตับและส่งผลต่อดวงตาก็มาจากอารมณ์ ความคิด ความเครียด อย่างที่คนมักพูดกันว่า โกรธจนตาเขียวปั้ด โมโหจนตาแดง อิจฉาตาร้อน ก็เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ส่งผลต่ออวัยวะตับแล้วไปแสดงออกที่ดวงตาทั้งสิ้น

ส่วนแบบพร่อง คือ เลือดน้อย อวัยวะตับและไตอ่อนแอ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงที่ดวงตาไม่พอ จะทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว สายตาผิดปกติ น้ำตาไหล ตาลาย มึนหัว รวมถึงอาจเกิดโรคต้อได้ด้วย

คราวนี้มาพูดถึงวิธีป้องกันและรักษากันค่ะ หมอขอแนะนำเรื่องการดื่มชา ชาที่ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพดวงตามีอยู่หลายชนิด แต่ที่เป็นพระเอก หมอขอยกให้ “เก๊กฮวย” แก้ปัญหาดวงตาคนติดจอ

  1. เก๊กฮวย ที่พบเห็นกันตามท้องตลาด แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ เก๊กฮวยขาว (Bai Ju Hua) เก๊กฮวยเหลือง (Huang Ju Hua) และเก๊กฮวยป่า (Ye Ju Hua) แต่ละชนิดมีลักษณะและสรรพคุณต่างกัน ซึ่งชนิดที่เป็นตัวหลักสำหรับเรื่องสายตาคือ เก๊กฮวยขาว เพราะมีฤทธิ์ในการช่วยระบายความร้อนออกจากตับได้ดี จึงช่วยในเรื่องของการแก้ปัญหาสายตาโดยเฉพาะเก๊กฮวยเหลืองเป็นพระรอง คือ มีฤทธิ์ช่วยขับความร้อนออกจากปอดสำหรับผู้ที่เป็นหวัด และยังช่วยแก้อาการร้อนใน
    ส่วนเก๊กฮวยป่า จะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับเก๊กฮวยเหลือง แต่มีฤทธิ์ในการระบายความร้อนที่มีพิษสะสม ช่วยลดพิษไข้ ลดการอักเสบ
    วิธีชง ใช้ดอกเก๊กฮวยแห้ง 5 – 9 กรัม ใส่ลงในกาชา เทน้ำร้อนลงไปลวกแล้วเทน้ำทิ้งจากนั้นเติมน้ำร้อนประมาณ 250 ซีซี ลงไป ทิ้งไว้ 2 นาที รินน้ำชาดื่ม จิบแทนน้ำได้ตลอดทั้งวัน ในกรณีที่ต้องการเติมน้ำร้อนเพิ่ม ไม่ควรดื่มน้ำชาจนหมดกา แต่ควรเหลือน้ำชาไว้ 1 ใน 3 ของกาชา แล้วจึงเทน้ำร้อนลงไป เพื่อคงกลิ่นและความเข้มข้นของน้ำชาไว้สำหรับชาเก๊กฮวยเป็นยาเดี่ยว แต่ถ้าเราเพิ่มชาชนิดอื่นลงไปด้วย ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงและรักษามากยิ่งขึ้น
  2. ตำรับเก๊กฮวยและเก๋ากี้ เก๋ากี้ (Gou Qi Zi) หรือที่เรารู้จักกันในนามโกจิเบอร์รี่ เป็นยารสหวาน มีฤทธิ์เป็นกลาง โดยสามารถนำมาชงเป็นชารวมกับเก๊กฮวยได้
    วิธีชง ใช้ดอกเก๊กฮวยและเก๋ากี้ในอัตราส่วน 1:1 โดยการใส่ชาแห้งลงในกาชา เทน้ำร้อนลงไปลวกหนึ่งครั้งแล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นเทน้ำร้อนลงไปอีกครั้ง ทิ้งไว้ 2 นาที จิบได้ตลอดทั้งวัน และสามารถกินเก๋ากี้ได้ทั้งน้ำและเนื้อด้วย เก๋ากี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเข้าไปปรับระบบตับและระบบไต
  3. ตำรับเก๊กฮวยและดอกสายน้ำผึ้ง ดอกสายน้ำผึ้ง (Jin Yin Hua) หรือในภาษาจีน แต้จิ๋วเรียกว่า กิมหงึ่งฮวย มีฤทธิ์เย็น รสหวาน มีลักษณะเกสรคล้ายตัวหนอนสีขาว สามารถใช้ดอกสายน้ำผึ้งเดี่ยว ๆ ชงเป็นชาแก้สิวอักเสบได้
    วิธีชง ใช้ดอกเก๊กฮวยและดอกสายน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 ทำเช่นเดียวกับวิธีชงชาชนิดอื่น ๆ คือ ใส่ชาแห้งลงในกาชาเทน้ำร้อนลงไปแล้วเททิ้ง หลังจากนั้นจึงเทน้ำร้อนลงไปอีกครั้ง แช่ทิ้งไว้ 2 นาที จึงจิบน้ำชาได้ ชาตำรับเก๊กฮวยและดอกสายน้ำผึ้ง ช่วยแก้อาการตาแดง ตากุ้งยิง ที่เกิดการอักเสบ เป็นฝีหนอง
  4. ตำรับฉี่จวี๋ตี้หวงหวาน (Qi Ju Di Huang Wan) เป็นตำรับยาซึ่งประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ตัวยาหลักที่สามารถนำมาชงเป็นชาช่วยบำรุงดวงตา ได้แก่ เก๊กฮวย เก๋ากี้ สูตี้หวง และซานจูหยู ชนิดละ 5 กรัม
    วิธีชง นำชาทุกชนิดในตำรับอย่างละ 5 กรัมใส่ลงในถุงชา จากนั้นนำไปต้มกับน้ำ 250 ซีซี รอให้น้ำเดือด ปิดไฟ นำน้ำชาที่ได้เทใส่กาชา จิบจนเหลือ 1/3 จึงเติมน้ำร้อนลงไปใหม่ ตำรับนี้ ใช้รักษาอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงตับไม่พอหยินพร่อง

สูตี้หวงที่เป็นชาตัวหนึ่งในตำรับนี้ เมื่อต้มกับน้ำแล้วจะทำให้น้ำชากลายเป็นสีดำ ซึ่งไม่แนะนำให้ใส่เกินกว่า 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จะดื่มชาตำรับนี้ควรให้แพทย์จีนเป็นผู้วินิจฉัยก่อนซื้อมาดื่มเองจะดีที่สุด

ได้ตำรับชาที่สามารถนำไปชงดื่มกันได้เองแล้ว แต่หมอก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านพักสายตาเป็นระยะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ซึ่งจะช่วยให้ดวงตาของเราคงความแข็งแรงตลอดไป

เรื่อง แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้

เทคโนโลยีน่าทึ่ง แก้ไข ปัญหาสายตาผิดปกติ ของคนยุคนี้

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือโรคซีวีเอส ชีวิต “ติดจอ” ยิ่งติดนาน ยิ่งป่วย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.